23 ส.ค. 2023 เวลา 03:20 • การศึกษา

กรณีที่ไม่ถือว่ามีการกระทำในทางอาญา

การเคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่อยู่ภายใต้บังคับของจิตใจจะถือว่าไม่มีการกระทำ
การเคลื่อนไหวร่างกายในขณะละเมอ หรือในขณะเป็นลมบ้าหมูไม่ถือว่าเป็นการกระทำเพราะผู้เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้คิดและตกลงใจที่จะเคลื่อนไหวร่างกาย แต่ถ้าผู้นั้นรู้ตัวอยู่แล้วว่าตนเองชอบนอนละเมอทำการรุนแรงต่าง ๆ อยู่เสมอแต่ยังขืนเอาปืนวางไว้ใกล้ตัวก่อนเข้านอน หากนอนแล้วละเมอเอาปืนนั้นยิงคนต้องถือว่ามีการกระทำ หรือในกรณีที่แพทย์ห้ามคนไข้ที่เป็นลมบ้าหมูขับรถแต่ยังขืนขับรถและเกิดเป็นลมบ้าหมูขณะขับรถจนจนชนคนตายก็ต้องถือว่ามีการกระทำเช่นกัน
ตัวอย่าง นาย A นอนละเมอ ลุกขึ้นไปหยิบมีดในห้องครัว แล้วเดินมาแทงนาย B ถึงแก่ความตาย
กรณีนี้ถึงแม้นาย A จะมีการเคลื่อนไหวร่างกายก็ตาม แต่นาย A กระทำไปโดยไม่รู้สำนึก ถือว่านาย A ไม่มีการกระทำ จึงไม่มีความรับผิดในทางอาญา ดังนั้นนาย A ไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นจนถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8743/2544 จำเลยปัญญาอ่อนถึงขนาดไม่อาจรู้ได้ว่าการตัดต้นไม้หวงห้ามเป็นผิดกฎหมาย กรณีจึงมิใช่จำเลยกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคหนึ่งเท่านั้น แต่ถึงขั้นที่ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยมิได้รู้สำนึกในการที่กระทำทั้งมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิด เพราะขาดเจตนาตามมาตรา 59
“เมื่อไม่มีการกระทำ จึงไม่ต้องรับผิดทางอาญา เมื่อไม่มีความรับผิดในทางอาญา ก็ไม่ต้องรับโทษในทางอาญา”
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม :
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา https://www.bsru.ac.th/
สาขาวิชานิติศาสตร์
ประวัติผู้เขียน :
โฆษณา