นิพพาน เป็นชื่อเรียกในภาษาอินเดียสมัยพุทธกาล ถ้าจะแปลให้คนไทยเราเข้าใจก็คือว่า "ดับลงแล้ว" "เย็นลงแล้ว" ในสมัยหนึ่งมีแม่ลูกคู่หนึ่งในอินเดีย กำลังรอใส่บาตรกับพระสงฆ์ แม่ก็ตักอาหารที่ร้อนๆใส่ภาชนะไว้ ในระหว่างรอพระแม่ก็ให้ลูกสาวนั่งเฝ้าอาหารไว้ แม่ก็ไปทำอย่างอื่นอยู่ใกล้ๆ แม่ก็เรียกมาถามลูกสาวว่า"อาหารนิพพานหรือยังลูก?" หมายถึงอาหารเย็นลงหรือยัง หรือความร้อนน้อยลงหรือหมดความร้อนหรือยัง ในความหมายนี้ที่ใช้ศัพท์นี้ในทางพระพุทธศาสนาได้มุ่งไปที่สภาวะความเดือดร้อนใจ ที่มีสาเหตุมาจากความคับแค้นใจ ความเดือดร้อนใจ สาเหตุความทุกข์ใจที่เกิดจากความโลภ สาเหตุความทุกข์ใจที่เกิดจากความโกรธ สาเหตุความทุกข์ใจที่เกิดจากการไม่รู้ไม่เข้าใจหรือเรียกว่าหลง สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นต้นเหตุของความทุกข์ทางใจเป็นส่วนใหญ่ เมื่อบุคคลได้สดับธรรมะที่พระพุทธเจ้าแสดงแล้วเกิดความแจ่มแจ้งทางจิตใจจนสามารถทำให้ความทุกข์หมดสิ้นไปจากใจ หรือเมื่อสดับธรรมะแล้วนำไปพิจารณาจนแจ้งแก่ใจจนหมดทุกข์ได้ หรือบำเพ็ญภาวนาทางจิตจนบรรลุถึงความพ้นจากทุกข์ได้ จนไม่เหลืออารมณ์มาก่อกวนจิตใจได้ทุกขณะจิต สามารถข้ามพ้นความโลภ ความโกรธ ความหลงได้สนิท คือไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจใดๆด้วยอำนาจแห่งธรรม มีความสุขใจอยู่ตลอดเวลา สภาวะนี้เรียกว่า"นิพพาน" นิพพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง จะมีสภาวะในจิตใจของผู้ใดบุคคลผู้นั้นก็ชื่อว่าเข้าถึงสภาวะ"นิพพาน"คือไม่มีทุกข์มารบกวนจิตใจได้ ส่วนสภาวะทางกายถึงจิตใจจะเข้านิพพานแต่ร่างกายยังต้องเจ็บป่วย หนาว ร้อน หิวกระหายตามธรรมชาติของธาตุ4 ต้องบำรุงไปกว่าจะหมดอายุขัยจนตายไป แล้วก็หมดสภาพทั้งทางกายและทางใจ ไม่กลับมาเกิดอีกและไม่ต้องมาเดือดเนื้อร้อนใจกับร่างกายนี้อีก ก็เข้าสู่นิพพานธาตุไป (ถ้าจะแสดงกันจริงๆรายละเอียดยังมีอีกเยอะ เอาคร่าวๆเพียงแค่นี้ก่อนนะครับ)