23 ส.ค. 2023 เวลา 18:58 • การเมือง

full democracy?

เรามีประชาธิปไตยเต็มใบกันหรือยัง? เป็นคำถามที่ผุดขึ้นมา หลังจากเพิ่งได้นายกฯ คนใหม่มามาดๆ (22สค66)
แต่ก่อนที่จะบอกว่า “เรา” มีประชาธิปไตยเต็มใบกันหรือยังนั้น ต้องย้อนกลับไปดูที่สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ (ฉบับปัจจุบัน ปี พ.ศ.2560) ก่อนว่าเป็นอย่างไร และการมี (ว่าที่) รัฐบาลใหม่นั้น เป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญปัจจุบันหรือไม่?
รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้ชื่อว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้สืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2557 โดย คสช. ได้มอบหมายให้มือกฎหมายระดับหัวแถว (ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นผู้นำทีม) ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ และแม้ร่างฯ นี้จะผ่านการยอมรับจากประชามติของประชาชนแล้ว แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังถูกครหาว่าเป็นรัฐธรรมนูญของ คสช. เพราะเนื้อหาของร่างฯ นั้น เป็นไปในทางสืบทอดอำนาจให้กับคณะรัฐประหาร โดยมีประเด็นสำคัญในการสืบทอดฯ อย่างน้อย 4 ข้อ
  • 1.
    สามารถมีนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้ (นายกฯ คนนอก)
  • 2.
    สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการแต่งตั้ง และการสรรหาของ คสช. ทั้งหมด
  • 3.
    ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ มาจากการเห็นชอบของ ส.ว.
  • 4.
    แผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป ที่กำหนดกรอบระยะเวลามีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปี ซึ่งหากรัฐบาลไม่ทำตามจะมีบทลงโทษ คือ ให้ ครม. พ้นไปจากหน้าที่ และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดยมี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เป็นผู้ตรวจสอบ (ซึ่งเป็นบุคคลในแวดวงของ คสช.)
ร่างฯ ฉบับนี้ ถูกออกแบบบนฐานความไม่ไว้วางใจต่อประชาชน (คือระบบเลือกตั้งที่ไม่สะท้อนเจตนารมณ์หรือความต้องการของประชาชน โดยลดทอนอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลของประชาชน) รวมถึงการมองว่าประชาชนของประเทศส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมและไม่มีวิจารณญาณในการตัดสินใจทางการเมืองมากพอ และออกแบบบนฐานความไม่ไว้วางใจต่อพรรคการเมือง (คือพรรคการเมืองตั้งขึ้นได้ยาก แต่สามารถถูกยุบได้ง่าย)
หากเทียบสาระสำคัญกับรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมากที่สุด คือรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 นั่น จะมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ
  • เป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด
  • สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร) มาจากการเลือกตั้ง (จากแต่ละจังหวัด 76 คน ร่วมกับตัวแทนนักวิชาการอีก 23 คน)
  • กำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น สิทธิชุมชน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และเสรีภาพในทางวิชาการ ฯลฯ
  • วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง
  • กำเนิดขององค์กรอิสระ ทั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ที่มีไว้เพื่อตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมือง
  • เปลี่ยนระบบเลือกตั้งที่จะให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองมากกว่าตัวบุคคล ทำให้ระบบพรรคฯ มีความเข้มแข็ง รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น
  • นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งและสังกัดพรรคการเมือง
  • เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมของประชาชน
จะเห็นได้ว่า หลักใหญ่ของประชาธิปไตยนั้น ประชาชนจะเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุด แต่ขณะเดียวกันก็อยู่ในสถานะที่ถูกปกครอง โดยเป็นคนเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ ซึ่งการเลือกนั้นก็จะอยู่ที่ข้อตกลงร่วมกัน (รัฐธรรมนูญ) ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเลือกตั้งแล้วจะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบเสมอไป…
แต่หากใช้คำว่า "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" นั้น ก็อาจจะพอมีอยู่ แต่อาจจะเป็นไปได้ค่อนข้างยากสักหน่อย เพราะต้องเกิดจากรากฐานหลัก คือ ประชาชน ที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในสิทธิและหน้าที่ของตนอย่างค่อนข้างสมบูรณ์เช่นเดียวกัน…
ฉะนั้นประชาธิปไตยเต็มใบ ครึ่งใบหรือค่อนใบนั้น ไม่น่าจะมีอยู่จริง เป็นเพียงคำเปรียบเปรยเท่านั้นเอง…
โฆษณา