24 ส.ค. 2023 เวลา 06:16 • การเมือง

ฤดูย้ายทหารประจำปี เหตุการณ์สำคัญที่ไม่ควรจะสำคัญขนาดนี้

ปีนี้ผู้นำเหล่าทัพเกษียณกันยกแผง เลยต้องเลือกผู้บัญชาการเหล่าทัพใหม่หมด ประกอบกับสถานการณ์การเมืองและการเปลี่ยนแปลงขั้วรัฐบาล แม้ว่าจะเป็นการเริ่มต้นใหม่กับคน (เกือบ) เก่า แต่การจัดโผทหารเพื่อกระชับอำนาจและป้องกันอุบัติเหตุต้อนรับ #นายกคนที่30 ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญของว่าที่ขั้วไหมที่เป็นการรวมกันของเหลืองกับแดง
ซึ่งหลัง ๆ ผู้นำเหล่าทัพเราจะเป็นกันคนละปี ทำให้ต้องเปลี่ยนทุกปี เหมือนสมบัติผลัดกันชม แล้วพอใครขึ้นมาก็เปลี่ยนโยบาย เปลี่ยนการจัดการ เปลี่ยนวิธีการ เสร็จแล้วก็ทัวร์ทำความรู้จักกับหน่วยต่าง ๆ กับผู้นำเหล่าทัพในอาเซียน ซึ่งแค่นี้ก็หมดไปครึ่งปีแล้ว พอจบก็ต้องทัวร์อำลากันเลย
--------------------
กองทัพต่างชาติ ทูตหรือเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างชาติ และแม้แต่บริษัทต่างชาติหรือบริษัทไทย ก็บอกว่าช่วงหลังค่อนข้างยากในการประสานกับกองทัพไทยเพราะเปลี่ยนบ่อย ต้องทำความรู้จักกันใหม่ทุกปี ไม่สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง
1
และนโยบายก็ไม่ต่อเนื่อง หรือใครขึ้นมาก็สามารถเปลี่ยนได้เรื่อย ๆ เพราะคำว่าผู้บัญชาการคือมีสิทธิ์ในการสั่งเป็นสั่งตายอะไรก็ได้ตามใจ ไม่ต้องฟังใคร มีอำนาจในตัวแบบเบ็ดเสร็จ นโยบายเดิม แผนงานเดิมก็แก้ไขได้หมด กองทัพไทยเลยไม่ค่อยมียุทธศาสตร์และการพัฒนาที่มีความต่อเนื่องอะไรมากนัก เพราะใครขึ้นมาก็อยากสร้างตำนานส่วนตัว ถ้ารื้อของเก่าที่แย่ให้มีนดีก็พอว่า แต่บางทีไม่ใช่ มันคือการรื้อของเก่าที่ดีให้มันแย่ลง
แล้วจะเลือกใครขึ้นมา นอกจากความสามารถ ก็ต้องมาพิจารณาระบบอาวุโส ต้องดูว่าใครเป็นรุ่นไหน ใครอยู่มากี่ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราประชาชนฟังกี่ทีก็คิดว่ามันไม่ Make Sense ว่า อายุหรืออาวุโส มันมามีความสำคัญเหมือนความสามารถได้ยังไง
1
ยิ่งช่วงหลัง มีอภินิหารที่สูงกว่าความสามารถหรืออาวุโสอีก ก็ยิ่งไปกันใหญ่
--------------------
ประกอบกับกองทัพไทยเข้ามามีบทบาททางการเมืองอยู่ตลอดเวลาทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ (แต่ผู้สนับสนุนก็โทษว่าเพราะนักการเมืองไม่ดีเลยต้องมา ทั้งที่นักการเมืองจะดีไม่ดี ไม่ใช่หน้าที่ที่กองทัพจะมายุ่ง) การย้ายทหารประจำปีเลยเป็นอีเว้นท์ที่มีความสำคัญสูงของไทย และเป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่ากองทัพไทยยังวนเวียนอยู่กับเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง
จริง ๆ หลักการที่ว่าพลเรือนต้องอยู่เหนือทหารนั้น ไม่ว่าประเทศจะปกครองด้วยระบบอะไร จะประชาธิปไตย หรือสังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์ ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญทั้งนั้น สหรัฐอเมริกา ยุโรป รัสเซีย จีน ต่างยึดหลักการนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเรียกว่า Ensure the civilian control over the military แบบสหรัฐ หรือให้พรรคอยู่เหนือปืนไม่ใช่ปืนอยู่เหนือพรรคแบบจีน มันก็คือหลักการเดียวกันทั้งสิ้น
1
ดังนั้นหลักการสากลคือการเมืองต้องล้วงลูกทหารได้ มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นแหละที่ชอบพูดว่าไม่ควรให้การเมืองมาล้วงลูก ซึ่งก็ทำให้กองทัพกลายเป็นเอกเทศ จะทำอะไรก็ได้ตามใจอยู่หน่วยงานเดียวในประเทศไทย
ในจีนจะมี Central Military Commission ของพรรคคอมมิวนิสต์ทำหน้าที่บังคับบัญชาและแต่งตั้งผู้นำกองทัพทั้งหมด กองทัพจะทำอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องผ่านพรรคคอมมิวนิสต์ และจะมีโปลิตบูโรคอยสอดส่องว่าทหารคนไหนหรือหน่วยไหนไม่ปฏิบัติตามพรรคคอมมิวนิสต์
ในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีจะเสนอชื่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่จะรับตำแหน่ง ซึ่งผู้นั้นจะต้องเข้าให้การกับวุฒิสภาที่จะมีอำนาจรับรองหรือไม่รับรองให้เป็นในตำแหน่งนั้น ซึ่งผู้ได้รับการเสนอชื่อจะต้องเข้ารับการสัมภาษณ์และตอบคำถามต่าง ๆ โดยจะเป็นแบบนี้กับตำแหน่งใหญ่ ๆ แทบทุกตำแหน่งของรัฐบาล เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพ เพราะวุฒิสมาชิกของสหรัฐฯมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100%
--------------------
พูดถึงในต่างประเทศ หลายคนแทบจะไม่สนใจว่าใครจะขึ้นมา เพราะไม่ว่าใครขึ้นมาก็ต้องฟังนายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดี ฟังรัฐมนตรี ฟังยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ไม่มีผู้บัญชาการเหล่าทัพ มีแต่เสนาธิการเหล่าทัพ ซึ่งไม่มีอำนาจตัดสินใจเอง ทุกอย่างต้องเข้าคณะเสนาธิการร่วม ซึ่งก็ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจมากเท่ากับผู้นำรัฐบาล และระบบที่ดี ตัวบุคคลจะมีความสำคัญน้อย เพราะระบบทำงานได้ไม่ว่าจะจับใครเข้ามาใส่
ซึ่งไม่รู้ชาตินี้เราจะเห็นแบบนี้ในไทยไหม หรือเราต้องอยู่กับระบบล้าหลังแบบนี้กันต่อไป
โฆษณา