24 ส.ค. 2023 เวลา 08:58 • การศึกษา
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ซิ่นตีนจกลี้ (พบที่เวียงหนองล่อง) (น้ำถ้วม?) แชร์ได้ครับ

"ซิ่นตีนจก" หรือ ซิ่นตีนจกรูปแบบลี้ (เป็นรูปแบบที่พบมากในพื้นที่ส่วนหนึ่งของอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน) ผ้าโบราณผืนนี้พบที่อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน
- ตัวซิ่นมีลักษณะเป็น "ลายต๋า" มีรูปแบบคล้ายคลึงกับซิ่นต๋าในพื้นที่วัฒนธรรมเชียงใหม่สายใต้ ตั้งแต่อำเภอสันป่าตอง จอมทอง แม่แจ่ม ฮอด ดอยเต่า
ตัวต๋าที่ปรากฏในผ้าโบราณผืนนี้จัดอยู่ในประเภท "ซิ่นต๋าแอ้ม" โดดเด่นด้วยการจัดวางกลุ่มลายริ้วแต่ละริ้ว ซึ่งจะจัดเรียงเส้นยืนให้สลับสีกัยโดยแทรกเส้นไกเข้าไปในลายริ้วนั้น (เส้นด้ายที่เกิดจากการปั่นไก หรือควบ,ตีเกลียวเส้นด้ายสองเส้นที่มีสีต่างกันเข้าด้วยกัน (ดำ-ขาว))
ตัวซิ่น หรือ "ซิ่นต๋า" ในรูปแบบ "ซิ่นต๋าแอ้ม" เป็นรูปแบบที่พบได้ทั่วในผ้าซิ่นตีนจกเชียงใหม่
การแทรกเส้นไกเข้าไปนี้เรียกกันทั่วไปว่า "แอ้มไก" ซึ่งหมายถึง การแทรกหรือเพิ่มเส้นไกเข้าไปในชุดลายริ้วเส้นยืนแต่ละริ้วนั่นเอง
- ตีนซิ่นมีลักษณะพิเศษ คือ การทอ "จก" ให้เกิดเป็นลวดลายขนาดใหญ่ โดยใช้วิธีการทดลายให้เพิ่มขึ้นจากเดิม กล่าวคือ ในห้องนก มีการทดลายเพิ่มเข้าไปให้ลายใหญ่ขึ้นกว่าปกติ
ส่วนของตีนจก ของซิ่นตีนจกลี้ ซิ่งมีความคล้ายคลึงกับซิ่นตีนจกน้ำท่วม ("น้ำถ้วม" สะกดตามตัวอักษรล้านนา) (ผู้คนในอดีตบริเวณส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่ใน อ.ฮอด อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ อพยพโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ อ.ลี้ จ.ลำพูน เพราะมีการสร้างเขื่อนภูมิพล (น้ำท่วมเพราะสร้างเขื่อน))
เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของลายซิ่นตีนจกลี้คือ ช่างทอจะทอลวดลายในห้องนกให้มีความต่อเนื่องกันไปต้องแต่ต้นจนจบ ลายประเภทนี้จะถูกทอให้เชื่อมต่อกันเป็นลายยาว ในวัฒนธรรมผ้าซิ่นตีกจกล้านนาโดยทั่วไปจะเรียกลายที่มีความต่อเนื่องนี้ว่า ลาย "คั๊วะ" เช่น คั๊วะดอกเอื้อง หรือลาย "เครือ" เช่น ลายเครือกาบป้าว เครือกาบหมาก
ส่วนของตีนจก ที่มีลวดลายประกอบบน-ล่าง (ลายขนาดเล็กที่ทอขนาดข้างลายขนาดใหญ่) เป็นลายต่อเนื่องกัน
ซึ่งจะมีลักษณะเป็นลายที่ต่อเนื่องกันตั้งแต่ต้นจนจบ เข้าใจว่าเป็นเทคนิคโบราญที่มักจะพบในซิ่นตีนจกเชียงแสนโบราณที่มีอายุ 128-250 ปี ที่นิยมทอตัวซิ่นและตีนซิ่นให้เป็นลายที่ต่อเนื่องกันตามแนวเส้นยืน หรือที่เรียกว่า "จกตวยเครือ" (จกตามเส้นเครือ)
ตีนจกใช้ฝ้ายย้อมสีเหลือง เป็นสีหลักหรือสีนำ
ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของซิ่นตีนจกผืนนี้คือ "การใช้สี" โดยใช้สีที่สดใส เน้น "สีเหลือง" เป็นสีนำหรือสีหลัก เช่นเดียวกับซิ่นตีนจกกลุ่มน้ำถ้วม (น้ำท่วม) จอมทอง และแม่แจ่ม อันเป็นขนบนิยมที่พบในวัฒนธรรมผ้าเชียงใหม่สายใต้
ทั้งหมดนี้นับเป็นสิ่งที่สามารถยืนยันได้ถึงการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมการทอผ้าของชาวเชียงใหม่-ลำพูน อันมีอาณาเขตพื้นที่ติดต่อเชื่อมโยงกันภายใต้มิติทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี
ด้านในของตีนจก มีการจัดระเบียบเส้นด้วยอย่างเรียบร้อย ด้วยเพราะขระทอจก จะหันด้านในนี้ขึ้นมาทำให้ช่างทอสามารถเก็บปมเชือกได้อย่างสะดวก
จากภาพเป็นหนึ่งในหลักฐานผ้าซิ่นตีนจกโบราณ อายุราว พ.ศ. 2450- พ.ศ. 2480 หรือ ประมาณ 100-80 ปี ที่พบในบริเวณอำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน (จากจำนวนที่พบทั้งหมด 3 ผืน) ซึ่งเป็นผ้าโบราณที่อยู่ในการดูแลรักษาของคุณปรีชาเกียรติ บุณยเกียรติ จังหวัดลำพูน
ผ้าซิ่นโบราณที่พบผืนนี้เป็นผ้าซิ่นตีนจก ที่มีการเย็บตะเข็บ 1 ตะเข็บ (ตะเข็บแนวดิ่ง) ทอด้วยเส้นฝ้าย ตามโครงสร้างผ้าซิ่นที่ประกอบด้วยหัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น
อาณาเขตพื้นที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีพื้นที่ทางทิสเหนือติดกับอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
ข้อมูลและรูปภาพ: อรรถพงษ์ ประดิษฐพงษ์
ผ้าโบราณ : คุณปรีชาเกียรติ บุณยเกียรติ จังหวัดลำพูน
ร่างแรก เขียนเมื่อ 5 ส.ค. 66
กราบขอบพระคุณผู้ใหญ่ใจดี : อ เผ่าทอง ทองเจือ, อ. นุสรา เตียงเกตุ
สามารถแชร์ข้อมูลและรูปภาพได้
แต่ขอสงวนสิทธิ์ในการคัดลอกข้อมูล และรูปภาพเพื่อไปใช้ในงานส่วนตัว ก่อนการได้รับอนุญาตทุกกรณีครับ
.
อ้างถึงสิทธิในลิขสิทธิ์เกิดขึ้นทันที นับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาโดยไม่ต้องจดทะเบียน หรือผ่านพิธีการใดๆ
โฆษณา