Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นักปรัชญานอกรีต - Freethinker
•
ติดตาม
25 ส.ค. 2023 เวลา 03:37 • ปรัชญา
[ด้านมืดของความศรัทธา เมื่อศาสนาเป็น "ภัยทางสังคม"]
" มันเป็นเรื่องง่ายเพียงใดที่คนเราจะใช้ศาสนาเป็นเหตุผลในการทำสิ่งชั่วร้าย และใช้เป็นข้ออ้างเพื่อที่จะไม่ทำความดี "
ริชาร์ด ฮัลโลเวย์ ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า "A Little History of Religion" หรือ "ศาสนา ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์ "
และเขายังได้เขียนสิ่งที่น่าสนใจไว้ด้วยว่า
" เมื่อศาสนาเข้าร่วมกับการทะเลาะเบาะแว้งหรือความรุนแรง มันเป็นการเติมพิษลงไปในส่วนผสม ซึ่งพิษนี้ไม่ปรากฏในข้อขัดแย้งอื่น ถ้าพวกเขาเชื่ออย่างปักใจว่าตนทำเพื่อสนองพระประสงค์ของพระเจ้า โอกาสที่พวกเขาจะปราณีและออมมือเมื่อมีความขัดแย้งย่อมมลายหายไป "
ศาสนาถือเป็นหนึ่งในพลังที่ขับเคลื่อนด้วย "ความศรัทธา" ทำให้เมื่อขึ้นชื่อว่า "ศาสนา" แล้วสิ่งนี้ย่อมมีอำนาจในตัวมันเอง เพราะเมื่อผู้คนมีความศรัทธาในศาสนาใดแล้วย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่สิ่งนั้นจะมีอิธิพลและผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อชีวิตของมนุษย์ แต่ทว่าบางครั้งไม่ได้เป็นผลดีเสมอไป
ความศรัทธาในศาสนาบางแง่มุมก็สามารถเกิดผลดีที่เป็น "คุณอนันต์" ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ แต่กลับกับความศรัทธาในศาสนาก็มีแง่มุมที่ "อันตราย" ที่สามารถสร้าง "โทษมหันต์" ได้เช่นเดียวกัน
ภัยของ "ความศรัทธา"
ถ้ามองศาสนาในมิติทางประวัติศาสตร์ต้องยอมรับว่าศาสนาได้สร้างบาดแผลที่เป็นความขัดแย้งและ "ความรุนแรง" มาโดยตลอด และจนถึงปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ก็ไม่เคยแยกขาดจากกัน ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างศาสนา ศาสนาเดียวกัน หรือระหว่างนิกายเองก็ตาม จนกระทั่งบางครั้งความขัดแย้งเหล่านั้นได้ลุกลามไปเป็นความรุนแรงในระดับมโหฬารหรือการก่อสงครามที่รบรากันเพราะเหตุทางศาสนา
.
การที่ "ศาสนากับความรุนแรง" นั้นเป็นของคู่กันส่วนหนึ่งก็เพราะด้วย "ความศรัทธา" อย่างยึดถือยึดมั่นแบบสุดโต่ง ที่สามารถทำให้ศาสนิกชนของศาสนาต่าง ๆ พร้อมที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อบอกว่าความคิดและความเชื่อในศาสนาของตนนั้นถูกต้องที่สุด แม้ว่าจะเกิดเหตุความรุนแรงหรือเสียเลือดเนื้อหรือแม้กระทั่ง "ต้องสละชีวิต" ก็ตาม
ความศรัทธาแบบยึดมั่นสุดโต่งนี้เป็นการมอมเมาจนมืดมัวทำให้ผู้คนบางกลุ่มลงมือปฏิบัติการบางอย่างที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรม ป่าเถื่อนและรุนแรง จนเกิดเป็นลัทธิความรุนแรงโดยการอ้างศาสนาเพื่อรองรับการกระทำอันป่าเถื่อนที่มวลมนุษยชาติต่างรับไม่ได้
.
ยกตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งร้ายแรงที่ส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์ล้มตายเป็นจำนวนมากในอดีตของข้อพิพิาทระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมในประเทศอินเดียกับปากีสถาน ซึ่งผลที่เกิดคือการเข่นฆ่าสังหารคนที่นับถือศาสนาที่แตกต่างจากพวกตน หรือการบังคับขู่เข็นให้ต้องเปลี่ยนศาสนาอย่างไร้ทางออกซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก
กับอีกหนึ่งของการก่อสงครามเพราะเหตุทางศาสนาที่เรารู้จักชื่อกันดีคือ "สงครามครูเสด" ที่เป็นสงครามที่เกดิขึ้นจากความขัดแย้งของศาสนาคริสต์และอิสลามในอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เพื่อหวังครอบครองนครเยรูซาเล็มซึ่งเชื่อว่าเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ ส่งผลให้เกิดการต่อสู้ยาวนานต่อเนื่องถึงสองศตวรรษ ซึ่งมีสงครามใหญ่ ๆ เกิดขึ้นถึง 9 ครั้งในมหาสงครามครั้งนี้
.
ความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เกิดความสูญเสียในหลายระดับจากหลายเหตุการณ์ด้วยกันคือการ "ก่อการร้าย" ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยและเป็นที่น่าสลดเป็นอย่างมาก ทั้งเหตุการณ์ลอบวางระเบิดพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่จำนวนมาก การกราดยิง และการก่อวินาศกรรมในหลายรูปแบบ จากที่มาของกลุ่มหัวรุนแรงโดยอ้างชื่อพระเจ้าของตนเพื่อความเห็นชอบในการลงมือ
และเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดเมื่อไม่นานมานี้ในประเทศปากีสถาน ที่ชาวมุสลิมหลายพันคนบุกเผาทำลายโบสถ์และบ้านเรือนในชุมชนชาวคริสต์ เพราะอ้างว่าไม่พอใจที่ชายชาวคริสต์ 2 คน ดูหมิ่นคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งมีรายงานว่าโบสถ์อย่างน้อย 4 แห่งถูกเผา และอาคารอีกหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับโบสถ์ได้รับความเสียหาย
ม็อบปากีสถาน บุกเผาโบสต์คริสต์ 8 แห่ง อ้างดูหมิ่นพระคัมภีร์อัลกุรอาน รูปภาพจาก https://www.thairath.co.th/news/foreign/2717893#google_vignette
เมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงได้มีศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้องจะทำให้ความรุนแรงนั้นมีลักษณะพิเศษ อันตราย และต่อรองไม่ได้ เป็นความรุนแรงที่สุดโต่งที่มีแต่ขาวกับดำ สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายและเป็นความรุนแรงที่ไม่มีการประนีประนอม
เรียกได้ว่าถ้าเป็นความขัดแย้งเรื่องศาสนาผู้คนยอมสละชีวิตและรบกันถึงตาย เพราะเมื่อความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นจาก "ความเชื่อทางศาสนา" มันย่อมไม่มีพื้นที่ตรงกลางในการต่อรอง และที่สำคัญคือมันพิสูจน์จนสิ้นสงสัยไม่ได้ว่าถูกผิดของแต่ละฝ่ายนั้นอยู่ตรงไหน จึงเป็นเรื่องที่ยากในการหาทางลงจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ปรากฏการณ์ความรุนแรงทางศาสนาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า ความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาได้กลายเป็น "พันธมิตรด้านมืด" ของความขัดแย้งและความรุนแรงมาตลอดประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการที่ศาสนาเป็นปัจจัยให้เกิด "ความชอบธรรมทางศีลธรรม" สำหรับผู้ปฏิบัติการความรุนแรงรวมถึงผู้ดำเนินกิจกรรมทางสังคมการเมืองที่ใช้ความรุนแรงในการจัดการฝ่ายตรงข้าม ความชอบธรรมทางศีลธรรมนี้สามารถทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีคำอธิบายทางศาสนารองรับ
.
เพราะโดยทั่วไปแล้วศาสนิกในศาสนาต่าง ๆ ย่อมมองว่าศาสนาหรือพระเจ้าของตนนั้นถูกต้องและเป็น "ความจริงสูงสุด" ยิ่งทำให้เชื่อว่าการปฏิบัติการความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรม โดยเชื่อว่าปฏิบัติการของพวกเขานั้นทำเพื่อศาสนาหรือพระเจ้า และยังทำให้เชื่อว่าการปฏิบัติการของเขาเป็นหนทางที่จะนำพาไปสู่สวรรค์ในศาสนาของตน
จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากความเชื่อทางศาสนาสร้างความคิดที่ว่า แม้จะต้องเสียเลือดเนื้อหรือสละชีวิตก็ตามแต่ก็จะได้รับรางวัลในโลกหน้าที่เป็นชีวิตนิรันดร์ คำถามคือถ้าเชื่อว่าชีวิตนี้เป็นเพียงสิ่งที่ชั่วคราวและมีโลกแห่งการตอบแทนที่เป็นนิรันดร์รออยู่โลกหน้า มันคุ้มหรือไม่ที่จะสละชีวิตที่เป็นเพียงสิ่งชั่วคราวไปสู่การตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ ถ้าความเชื่อเป็นเช่นนี้ต้องบอกว่ามันเป็นสิ่งที่คุ้มเสียจะไม่รู้จะคุ้มอย่างไร
.
อย่างไรก็ตามการกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าศาสนาเป็นสาเหตุในการเกิดขึ้นของความรุนแรง หรือความรุนแรงต้องเกิดขึ้นจากศาสนาเท่านั้น เพราะแน่นอนว่าการเกิดความรุนแรงย่อมมีองค์ประกอบต่าง ๆ อีกมากมาย เพียงแต่ปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันบอกแก่เราว่า ศาสนาสามารถสร้าง "ทรัพยากรด้านอุดมการณ์" ที่เกิดจากความศรัทธา และยังรวมถึงการกำหนดโลกทัศน์ของผู้คนในสังคม
และที่สำคัญคือศาสนาเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเชื่อ สัญลักษณ์ และเอกลักษณ์ที่สามารถทำให้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ชอบธรรมได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เกิดได้กับเพียงศาสนาใดศาสนาหนึ่งเพียงเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกศาสนา
.
เรามักได้ยินกันมาโดยตลอดว่า "ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี" คำถามคือศาสนาที่สอนให้ทุกคนเป็นคนดีแต่ทำไมกลับ "สร้างปัญหา" ความขัดแย้งให้แก่มวลมนุษยชาติได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ทั้งการอคติทางศาสนา การแบ่งแยกผู้คน และความอยุติธรรม จนนำไปสู่การเกิด "ความรุนแรง" ในหลายระดับ ตั้งแต่ในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงความรุนแรงในระดับ "ชาติ" หรือระหว่างชาติ จนบางครั้งทำให้เกิดการสิ้นชาติหรือแบ่งแยกชาติเลยก็ว่าได้
การอ้างว่าทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดีเป็นเรื่องน่าตั้งคำถาม เพราะเอาเข้าจริงแล้วปัญหาอยู่ที่ว่าแต่ละศาสนามันสอนเรื่องความดีไม่เหมือนกันหรือถึงขั้นสอนได้ขัดแย้งกัน และมีความเชื่อที่ไม่สอดคล้องและไม่ลงรอยกัน กลับเป็นว่าที่สอนให้เป็นคนดีนั้นกลายเป็น "ดีของฉัน" กับ "ดีของเธอ" นั้นไม่เหมือนกัน ทำให้พรมแดนของความเชื่อทางศาสนากลายเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนแบ่งแยกออกจากกัน
ไม่ว่าคำสอนของศาสนาจะดีเลิศเพียงใดแต่มันย่อมมีการแบ่ง "เขา" แบ่ง "เรา" เป็นรากฐานทางความเชื่อเสมอ สิ่งนี้สามารถก่อร่างสร้างตัวเป็น "อคติทางศาสนา" ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ทุกเมื่อ ทุกศาสนาสามารถเป็นเชื้อไฟแห่งความรุนแรงได้ทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ศาสนาพุทธที่อ้างกันว่าถูกสร้างขึ้นมาเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ
สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงทางศาสนาในพม่า
" อคติทางศาสนา "
กลุ่มสิทธิของชนกลุ่มน้อยระหว่างประเทศ (Minority Rights Group International) ได้รายงานในปี ค.ศ.2021 ว่า คนกลุ่มน้อยทางศาสนาต้องเผชิญกับทัศนคติของสังคมที่เป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มพวกตน และมีการเผชิญหน้าที่เป็นความรุนแรงระหว่างศาสนาที่เกิดการนองเลือด
รวมถึงรายงานจากศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ในปี ค.ศ.2019 ได้รายงานว่า แม้เหตุการณ์ก่อการรายจะลดลง แต่การแทรกแซงของรัฐต่อศาสนกิจรวมถึงการริดรอนและคุกคามต่อสวัสดิภาพและเสรีภาพของคนต่างศาสนาที่เป็นคนกลุ่มน้อย กลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงสุดตั้งแต่ได้มีการเริ่มสำรวจและเก็บข้อมูลมาในปี ค.ศ.2007
โดยปัจจัยผลักดันที่สำคัญประการหนึ่งคงไม่พ้น "อคติทางศาสนา" ที่พร้อมจะบ่อนทำลายขันติธรรมต่อความหลากหลายและสร้างความชอบธรรมให้กับการเลือกปฏิบัติ อคติทางศาสนานี้เป็นเสมือนเชื้อไฟที่คอบกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงทางศาสนา
ศาสนามีแนวโน้มที่จะกลายเป็นสาเหตุหลักของความรุนแรงในโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ และแน่นอนว่าสิ่งที่เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งคงหนีไม่พ้นการเปิดทางให้ "อคติทางศาสนา" ออกมาทำงานด้วยการแยก "เขา" แยก "เรา" ออกจากกัน
อคติทางศาสนาที่ว่านี้สามารถสร้างสำนึกที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งได้อย่างง่ายดาย และถือเป็นหนึ่งในชนวนเหตุที่สำคัญต่อความขัดแย้งในปัจจุบัน เพราะเมื่อคนศรัทธาในศาสนาและเชื่ออย่างปักใจว่า "ศาสนาของเราดีที่สุด จริงที่สุด ถูกต้องที่สุด" ย่อมส่งผลในการสร้างสำนึกในทางตรงกันข้ามว่าศาสนา "เขา" นั้นไม่ใช่ความจริง ไม่ถูกต้อง และไม่ใช่พวกเราหรือถึงขั้นเป็นศัตรู
.
การทำความเข้าใจความขัดแย้งที่มาจากอคติทางศาสนาจึงสำคัญมากต่อการทำความเข้าใจความขัดแย้งในปัจจุบัน หลายครั้งที่ศาสนาได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเราจะพบว่าศาสนาเข้าไปโดยถูกใช้เป็น "กรอบทางศีลธรรม" บางอย่าง เพื่อสร้างเรื่องเล่า สื่อสาร ระดมพล จัดตั้ง และใช้เป็นแกนกลางในการเกิดความขัดแย้งเหล่านั้น
อคติทางศาสนานี้ยังสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้มีอำนาจโดยการถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ นักสังคมศาสตร์บางคนมองว่าความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้นเพราะศาสนาแท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องของศาสนาอย่างโดดเดี่ยว หากแต่เป็นความขัดแย้งที่มีความสัมพันธ์กับริบททางสังคมการเมืองและวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง และถ้าเงื่อนไขของบริบทแวดล้อมเหมาะสม ศาสนาก็มีลักษณะบางอย่างในตัวมันเองที่นำไปสู่ความรุนแรงได้
การที่ผู้มีอำนาจสามารถใช้ศาสนาเป็นส่วนร่วมที่สำคัญอย่างหนึ่งในความขัดแย้งนั้น จุดประสงค์ก็เพื่อให้มีผู้คนเอาด้วยอย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะสิ่งเดียวที่สามารถสร้างความชอบธรรมให้แก่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดีคือ "ความศรัทธาในศาสนา" และเมื่อในสังคมต่างมีความศรัทธาแบบยึดมั่นถือมั่นแบบสุดโต่งสองขั้วมาชนกัน ความขัดแย้งจึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยากจนบางครั้งได้ลุกลามไปเป็นความรุนแรง
อคติทางศาสนายังทำให้เห็นด้วยว่า ศาสนาไม่เพียงแค่กำหนดอัตลักษณ์ของความเป็นเขาเป็นเราในระดับบุคคลแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังกำหนดไปจนถึง "อัตลักษณ์ของชาติ" สิ่งนี้ยังสามารถถูกนำไปใช้อธิบายด้วยว่า อะไรเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งใดเป็นภัย รวมถึงสิ่งใดควรถูกกำจัดอีกด้วย
การนำศาสนาผนวกเข้ากับอุดมการณ์ "ชาตินิยม"
เมื่อความรุนแรงทางศาสนาเป็นความรุนแรงที่อันตรายและสุดโต่ง เป็นความรุนแรงที่มีแต่ขาวกับดำ ความดีงามกับความชั่วร้าย ธรรมะกับอธรรม แต่เมื่อความรุนแรงทางศาสนาได้ผนวกเข้ากับ "ลัทธิเผ่าพันธ์ุชาตินิยม" (Ethno nationalism) ยิ่งเป็นเหมือนการเติมเชื้อไฟอย่างดีที่พร้อมจะยกระดับความรุนแรงไปอีกขั้น
ทำให้พวกจารีตนิยมศาสนาต่าง ๆ และอุดมการณ์ชาตินิยมพร้อมที่จะ "คลั่ง" โดยมองว่าเป็นปฏิบัติการณ์ที่ต่อสู้เพื่อ "ชาติ" และเป็นฝ่าย "ธรรมะ" ยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อที่จะกำจัดฝ่าย "อธรรม" และสิ่งที่เขามองว่าเป็นปัญหาของชาติ
.
การที่ศาสนาได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในหลายประเทศคำตอบหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจนคือ การที่ศาสนาพยายามเข้าไปเป็นพันธมิตรกับอำนาจรัฐและผนวกเข้ากับความเป็นชาตินิยมและชาติพันธุ์ โดยเฉพาะบริบทที่ขบานการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองอ้าง "ชาติ" ในการเคลื่อนไหว และนิยามอัตลักษณ์ของชาติด้วยคำอธิบายทางศาสนา
และเมื่อศาสนาพยายามที่จะเข้าไปเกี่ยวพันและแทรกแซงอำนาจรัฐหรือความเป็นชาติเมื่อไหร่ ผู้ที่นับถือศาสนาที่เป็นคนกลุ่มใหญ่มักอ้างอภิสิทธิ์ทางศาสนา เพื่อต้องการให้ศาสนาของตนมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าศาสนาอื่น ๆ ที่เป็นศาสนาของคนกลุ่มน้อยรวมถึงศาสนาที่คนส่วนใหญ่ไม่ชอบ
สำหรับกรณีของโลกเถรวาทที่พยายามหลอมรวมระหว่างอัตลักษณ์ทางศาสนาและความเป็นชาตินิยม ที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างกลุ่มชาวพุทธที่เป็นคนหมู่มากกับคนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอื่น ๆ ต่างเป็นลักษณะเด่นชัดของ "พุทธชาตินิยม" ที่มีประเทศพม่าและศรีลังกาเป็นตัวอย่างหลัก
ตัวอย่างของความขัดแย้งในพม่าและศรีลังกาช่วงหลังยุคอาณานิคมที่แต่ละกลุ่มการเมืองต่างแสวงหาอำนาจโดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ ในยุคนั้นศาสนาถือว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการต่อสู้กับอาณานิคมและการรวมชาติ โดยทั้งสองประเทศต่างมีความพยายามที่จะผลักดันให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งผลที่ตามมาคือการจบด้วยความรุนแรง
และเมื่อมองในสังคมไทยในประเด็นนี้ควรศึกษาประวัติศาสตร์ของพม่าและศรีลังกา เพราะบริบททางสังคมมีหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน อย่างการโยงศาสนาเข้ากับประวัติศาสตร์ความเป็นชาติ และการนำศาสนาผนวกเข้ากับอุดมการณ์ชาตินิยม
ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่พยายามให้สิทธิเสรีภาพกับศาสนาอื่น ๆ เท่ากับชาวพุทธที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่สิ่งเหล่านี้กลับทำให้ชาวพุทธกังวลและรู้สึกไม่พอใจจนออกมาเรียกร้องให้ผลักดันศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็ไม่สามารถผลักดันได้สำเร็จ
.
เมื่อพูดถึงความขัดแย้งในลักษณะนี้ ต้องยอมรับว่าในสังคมไทยก็มีกรณีความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและมุสลิมที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญอย่างการบุกฆ่าพระที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้คนเป็นอย่างมาก
ความรุนแรงในลักษณะนี้ทำให้สร้างความเกลียดชังในระดับความคิดและสำนึกของผู้คนระหว่างชาวพุทธและมุสลิมไม่มากก็น้อย ทั้งความขัดแย้งระหว่างความคิด อุดมการณ์ อคติทางศาสนา และเป็นความขัดแย้งในลักษณะของชาตินิยมศาสนาด้วยเช่นเดียวกัน
ซึ่งทางฝั่งของชาวมุสลิมเอง (ที่ปฏิบัติการ) ก็ใช้แนวคิดความเป็นชาตินิยมที่เชื่อว่าพื้นที่นี้เป็นของเชื้อชาติเขาและเป็นการปกครองแบบรัฐอิสลาม แต่ถูกประเทศไทยหรือสยามที่เป็นรัฐแบบพุทธเข้ามายึดครอง การต่อสู้ของพวกเขาจึงเป็นการต่อสู้โดยเอาแนวคิดแบบชาตินิยมศาสนา
เพราะฉะนั้นยิ่งความขัดแย้งศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับความเป็นชาตินิยมเมื่อไหร่ยิ่งเป็นเรื่องยากต่อการลดลาวาศอก ยากต่อการหาทางลง และถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ค่อนข้างจะแก้ไม่ได้ และยิ่งการจัดการของรัฐที่ไม่เป็นไปในแนวทางของการสร้างสันติภาพกลับกลายเป็นการเติมเชื่อไฟลงไปในความขัดแย้ง
.
โดยปกติแล้ว "ชาตินิยมศาสนา" นั้นเป็นแนวคิดที่ใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง "ศาสนา" และ "ลัทธิชาตินิยม" และยังรวมถึงอำนาจรัฐ ซึ่งจุดร่วมที่สำคัญประการหนึ่งของปรากฏการณ์ชาตินิยมศาสนาคือการใช้อคติทางชาติพันธุ์ และทำให้ศาสนากลายเป็นกลไกในการขับเคลื่อนปฏิบัติการทางสังคมการเมือง
ในกรณีของศรีลังกา พม่า และไทยอัตลักษณ์ทางชาติพันธ์ุของคนหมู่มากและความเป็นพุทธเถรวาทถูกนำมาใช้นิยามความเป็นชาติ ซึ่งมีผลให้ความเป็นคนกลุ่มน้อยทางศาสนาและชาติพันธุ์ต้องกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ต้องถูกควบคุมหรือต้องถูกกำจัด ถ้าความต่างนั้นถูกนิยามว่าเป็นภัยของชาติ
" รัฐ ศาสนา และความรุนแรง "
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การที่ศาสนาเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและความรุนแรงในหลายประเทศ คำตอบหนึ่งที่ค่อนข้างชัดก็คือ การที่ศาสนาพยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งและผูกโยงกับอำนาจรัฐ และพยายามเป็นพันธมิตรหรือเนื้อเดียวกันกับความเป็นชาตินิยมและชาติพันธุ์
ความขัดแย้งทางศาสนาโดยส่วนใหญ่แล้วเกิดจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่าง "รัฐ" และ "ศาสนา" ที่ผูกติดกัน ศาสนาแบบรัฐเช่นนี้จะสร้างความอยุติธรรมและสามารถเป็นศาสนาที่สนับสนุนและก่อให้เกิดการกดขี่และความรุนแรงได้
เมื่อมองในสังคมไทยต้องบอกว่าศาสนากับอำนาจรัฐของไทยยังคงผูกติดกันอย่างแน่นแฟ้น ศาสนาแบบรัฐยังคงเป็นพันธมิตรกับระบบอำนาจของรัฐที่เหนือเสรีภาพทางศาสนาของประชาชน ทั้งเป็นพันธมิตรกับระบบเผด็จการจารีต ระบบสังคมศักดินา เจ้าขุนมูลนายมาอย่างยาวนาน จนถึงปัจจุบันสังคมไทยก็ไม่ได้แยกศาสนาออกจากรัฐ
.
การที่ประเทศใดก็ตามใช้นโยบายความเป็นรัฐศาสนา รัฐกึ่งศาสนา หรือรัฐที่มีนโยบายศาสนาประจำชาติ แทนที่จะใช้นโยบาย รัฐโลกวิสัย (secular state) ที่เป็นรัฐที่ให้หลักประกันเสรีภาพและความเท่าเทียมทางศาสนาแก่ทุกความเชื่อในสังคม มักจะเกิดผลดังนี้
อย่างแรกคือ ทำให้รัฐกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างความขัดแย้ง และความอยุติธรรมระหว่างศาสนา หรือแม้แต่ในศาสนาเดียวกันเองก็ตาม ทั้งขัดแย้งในเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจทางศาสนา
ทำให้ทุกฝ่ายทุกสังกัดพยายามแอบอิงอำนาจรัฐเพื่อที่ให้ได้การรับรองและยกชูโดยรัฐ เพื่อให้ฝ่ายศาสนาของตนมีอำนาจและอภิสิทธิ์ทางศาสนารวมถึงการได้ประโยชน์ในหมู่ศาสนิกของศาสนานั้น ๆ
ศาสนาพยายามแอบอิงกับอำนาจรัฐเพื่อให้รัฐได้รับรองให้มีอภิสิทธิ์บางอย่างเหนือศาสนาอื่น ๆ ในสังคม โดยที่รัฐให้การสนับสนุนศาสนาเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะการอ้างอภิสิทธิ์ทางศาสนาของคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในสังคม เพื่อให้ศาสนาของตนเป็นฝ่ายที่ถูก มีความชอบธรรม และได้รับการปกป้องคุ้มครองดูแลจากรัฐ
ซึ่งแน่นอนว่าศาสนิกของศาสนานั้น ๆ ก็ย่อมชอบแบบนี้โดยอ้างอภิสิทธิ์ทางศาสนาของตนที่เป็นคนส่วนใหญ่อยู่เนือง ๆ ซึ่งบางทีอาจไม่ได้คิดอะไรเรื่องสารัตถะและแก่นแท้ที่เป็นความจริงของศาสนาเท่าไหร่นัก เพียงแค่ต้องการศาสนาให้ผูกพันธุ์กับอำนาจต่าง ๆ ในสังคมให้รัฐยกชูศาสนาตนให้มากที่สุด เพื่อให้ได้อยู่ในสังคมที่ชอบพร้อมความสบายใจกับอภิสิทธิ์ทางศาสนาเพียงเท่านั้น
.
การที่สังคมไม่แยกรัฐออกจากศาสนาทำให้เกิดปัญหาในหลายมิติ และยังทำให้ทุกศาสนาทุกสังกัดพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมเชิงอำนาจกับรัฐบ้าง ทั้งการอุปถัมภ์งบประมาณจากรัฐและองค์กรศาสนาของรัฐเพื่อต้องการมีอำนาจทางกฎหมาย ทำให้ศาสนาสังกัดอื่น ๆ พยายามจะมี พ.ร.บ. ของศาสนาของเขาด้วยเช่นเดียวกัน
ประเทศที่ไม่แยกศาสนาออกจากรัฐปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก รวมถึงอคติทางศาสนาไม่ว่าจะเป็นของศาสนาคนกลุ่มใหญ่และศาสนาอื่น ๆ ที่เป็นคนกลุ่มน้อยเองก็ตาม
.
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้รัฐไม่เป็นกลางสร้างความไม่ยุติธรรมกับศาสนาอื่น ๆ ที่รัฐไม่ได้มีการรับรองหรือยกชูไว้เป็นเศษ จึงกลายเป็นศาสนาหรือนิกายเถื่อนที่ไม่ได้มีการรับรอง ไม่ได้รับความชอบธรรมในศาสนาของตน รวมถึงไม่ได้รับการสนับสนุนเรื่องงบประมาณและอุปถัมภ์โดยรัฐ
ในสังคมไทยปัญหาในเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่ศาสนาอื่น ๆ ในสังคมเท่านั้นยังรวมถึงศาสนาพุทธบางนิกายด้วย อย่างเช่นนิกายสันติอโศกที่รัฐไม่รับรองความเป็นศาสนา จึงเป็นเสมือนพุทธเถื่อนโดยปริยาย
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ชัดว่าประเทศที่ศาสนาผูกกับอำนาจรัฐนั้นย่อมสร้างความไม่ยุติธรรมระหว่างศาสนาขึ้นมา และสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในหลายประเทศโดยตัวมันเอง
.
อีกทั้งการที่รัฐรับรองและยกชูศาสนาใดเป็นกรณีพิเศษยังเปิดช่องว่างให้คนในศาสนาฉวยโอกาส ใช้ศาสนาที่มีอำนาจรัฐเพื่อแสวงหาผลประโยชน์หรือทำชั่วได้โดยง่าย โดยเฉพาะการยกชูศาสนาเช่นนี้ยิ่งทำให้ผู้คนหลงเชื่อและโดนหลอกได้อย่างง่าย ๆ เพราะรัฐได้รับรอง สนับสนุน และอุปถัมภ์ศาสนานั้นเป็นพิเศษ
จะเห็นได้จากข่าวที่มีบุคคลหรือนักบวชทางศาสนามากมายที่ผู้คนหลงเชื่อ และได้นำศาสนามาหากินหรือฉวยโอกาสในการหลอกลวงและทำชั่ว
.
ศาสนาแบบรัฐเช่นนี้เป็นรัฐที่ไม่ให้เสรีภาพทางศาสนา หลักประกันความเท่าเทียมทางศาสนา รวมถึงเสรีภาพในการเลิกนับถือหรือวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาอีกด้วย การที่ศาสนาถูกสร้างให้เป็นศาสนาของรัฐจะทำให้ศาสนาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พุทธหรือไม่เป็นไปตามแบบแผนของรัฐกลายเป็นอื่นและแปลกแยกทันที สร้างความปฏิบักษ์ทั้งระหว่างศาสนาและภายในศาสนา หรือหนักไปกว่านั้นคือถูกมองเป็นขั้วตรงข้ามโดยอคติทางศาสนา
ซึ่งศาสนาแบบรัฐลักษณะนี้มักเป็นรูปแบบจำเพาะของศาสนาทางแถบเอเชียที่ไม่รู้ว่าตำแหน่งแห่งที่ของศาสนาควรอยู่ที่ใด ศาสนาจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยบของอำนาจรัฐ
ขณะที่ในโลกตะวันตกศาสนาถูกทำให้หมดอำนาจ ทั้งอำนาจทางการเมืองการปกครองและการบังคับให้ศรัทธา โดยเปลี่ยนจากรัฐคริสเตียนมาแทนที่ด้วยรัฐประชาธิปไตยแบบโลกวิสัย ที่ให้ "อาณาจักร" และ "ศาสนจักร" แยกขาดออกจากกัน ให้ศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจกและเอกชนไม่เกี่ยวกับรัฐ
รัฐไม่มีหน้าที่อุปถัมภ์หรือแทรกแซงศาสนา โดยยึดหลักการเสรีภาพทางศาสนาแบบโลกวิสัย ซึ่งการแยกศาสนาออกจากรัฐเช่นนี้ถือเป็นการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ศาสนาเสียใหม่ให้สอดคล้องกับโครงสร้างในระบอบประชาธิปไตย
.
คำถามคือในเมื่อรัฐในโลกสมัยใหม่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยได้แยกศาสนาออกจากอำนาจรัฐและปกครองด้วยรัฐโลกวิสัย แต่ทำไมสังคมไทยยังเอารัฐกับศาสนาผูกโยงและมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจกันอย่างแน่นแฟ้น ศาสนายังเป็นเนื้อเดียวกันกับระบอบอำนาจของรัฐที่อยู่เหนือเสรีภาพทางศาสนาของประชาชน
ศาสนาพุทธแบบไทย ๆ เช่นนี้เป็นเสมือนการพยายามแช่แข็งความเปลี่ยนแปลงไว้อย่างไม่สิ้นสุด ล็อกชาวพุทธไว้ไม่ให้ไปสู่อิสรภาพและเสรีภาพอย่างแท้จริง เพราะศาสนาพุทธจะถูกกำกับและแทรกแซงโดยรัฐ อุปถัมภ์ค้ำชูโดยรัฐ มีศาสนจักรของรัฐและศาสนจักรนี้ก็มีอำนาจทางกฎหมาย มีระบบการปกครองสงฆ์หรือมหาเถรสมาคม พระมียศมีตำแหน่งแห่งที่ กระหายความเลื่อมใส แต่พระห้ามเรียกร้องหรือแสดงออกทางการเมืองพร้อมทั้งถูกเพิกถอนสิทธิในการเลือกตั้ง
.
ศาสนาลักษณะนี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐได้โดยง่าย โดยเฉพาะรัฐแบบเผด็จการ รัฐรวมศูนย์ รัฐที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ให้ศาสนาหรือพระสนับสนุนอำนาจรัฐเท่านั้นคุณทำได้ แต่จะมาเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยไม่ได้ รัฐผูกขาดการตีความคำสอนและเคลมว่าปกป้องคำสอนที่ถูกต้อง
ศาสนาเช่นนี้ไม่ใช่ศาสนาที่ส่งเสริมเสรีภาพทางความคิด ทั้งในด้านปัจเจกและด้านที่สัมพันธ์กับสังคมการเมือง ไม่ใช่ศาสนาที่ส่งเสริมความดีสาธารณะในสังคมประชาธิปไตย ศาสนาเช่นนี้เป็นได้แค่เพียงกลไกของระบอบอำนาจรัฐที่ครอบงำและกดขี่เพียงเท่านั้น
ข้อมูลอ้างอิง
PPTV, (2566, 17 สิงหาคม), ม็อบปากีสถานบุกเผาโบสถ์คริสต์ แค้นหมิ่นคัมภีร์อัลกุรอาน,
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/203528
สุรพศ ทวีศักดิ์, (2563, 5 สิงหาคม), ศาสนา(ไม่)ช่วยพัฒนาจิตใจและศีลธรรม,
https://prachatai.com/journal/2020/08/88908
บ้านจอมยุทธ์, พันธมิตรด้านมืด,
https://www.baanjomyut.com/library_2/extension-4/society_and_culture/14.html
ประชาไท, (2562, 26 กรกฎาคม), ‘ศาสนากับความรุนแรง’ หรือจะเป็นสิ่งคู่กัน?,
https://prachatai.com/journal/2019/07/83593
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, (2566, 2 กุมภาพันธ์), ‘อคติทางศาสนา’ เมื่อศาสนาเข้าร่วมในความขัดแย้ง มนุษย์จะไม่ปรานีและออมมือ,
https://prachatai.com/journal/2023/02/102578
Tonkit, (2562, 2 พฤษภาคม), ความขัดแย้งทางศาสนา สาเหตุความรุนแรงและการสูญเสีย,
https://tonkit360.com/45436
ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์, (2558, 28 มิถุนายน), รัฐกับศาสนา,
http://sinchaichao.blogspot.com/2015/06/blog-post_60.html
ปรัชญา
ศาสนา
ประวัติศาสตร์
2 บันทึก
2
3
2
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย