25 ส.ค. 2023 เวลา 08:49 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

เจ็ดปริศนาที่ซ่อนอยู่ภายใต้เปลือกน้ำแข็งขั้วโลกใต้ (ภาค2)

ความเดิมจากตอนที่แล้ว มาติดตามกันต่อกับเจ็ดปริศนาที่ซ่อนอยู่ภายใต้เปลือกน้ำแข็งขั้วโลกใต้ในตอนจบกันครับ
1. หลุมยักษ์
ในปี ค.ศ.2017 ได้มีการค้นพบหลุมยักษ์ในขั้วโลกใต้หรือแอนตาร์กติกา ใกล้กับแนวชายฝั่งทะเลเวดเดลล์ทางตอนใต้ ภายหลังหลุมแห่งนี้ได้ถูกเรียกว่าหลุมโพลินเนีย (Polynya) โดยลักษณะทั่วไป หลุมยักษ์แห่งนี้ไม่มีอะไรแปลกใหม่ เว้นเสียแต่ขนาดพื้นที่ของหลุมกว่า 78,000 ตารางกิโลเมตร จึงทำให้มันเป็นหลุมน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ถูกค้นพบมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1970
หลุมยักษ์โพลินเนีย เป็นพื้นที่น้ำที่ถูกล้อมรอบด้วยทะเลน้ำแข็ง เกิดจากบริเวณน้ำลึกที่มีอุณหภูมิที่อุ่นและเค็มกว่าบริเวณผิวน้ำ เมื่อกระแสน้ำในมหาสมุทรพัดพาน้ำที่อุ่นกว่าขึ้นมา จึงทำให้น้ำแข็งที่ก่อตัวละลาย
การเกิดขึ้นของหลุมยักษ์โพลินเนีย เป็นลักษณะที่แปลกประหลาดมาก และไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นของโลกแต่อย่างใด โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่า หลุมยักษ์โพลินเนีย อาจเกิดขึ้นจากความพยายามของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดที่อาศัยอยู่บนขั้วโลกใต้หรือแอนตาร์กติกา เพื่อเปิดช่องในกายหายใจจากด้านใน แต่ก็ยังไม่ใช่คำตอบชี้ชัดถึงปรากฏการณ์หลุมประหลาดยักษ์นี้
2. ภูเขาไฟเอเรบัส
แม้จะอยู่ในสภาพอากาศหนาวเย็น แต่ขั้วโลกใต้หรือแอนตาร์กติกายังเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟหลายลูก บนเกาะรอสส์มีภูเขาไฟ 4 ลูก แม้พวกมันจะมอดดับไปแล้ว เว้นเสียแต่ภูเขาไฟเอเรบัส ที่ตรวจพบการปะทุของภูเขาไฟเพิ่มขึ้นในรอบ 30 ปี ที่ผ่านมา
ภูเขาไฟเอเรบัสถูกขนานนามว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ โดยมีแมกมาเหลวและทะเลสาบลาวาโบราณที่เดือดมานานกว่า 1.3 ล้านปี มันเป็นภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ทางใต้สุดของโลก และเป็นภูเขาไฟที่สูงเป็นอันดับสองของทวีปแอนตาร์กติกา ที่มีความสูงถึง 3,800 เมตร
อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพแวดล้อมที่ทุรกันดาน ไม่ว่าจะเป็นทุ่งหิมะ แนวโขดหิน ธารน้ำแข็ง และสภาพอากาศที่เลวร้าย จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถเดินทางไปเยี่ยมชมภูเขาเอเรบัสได้บ่อยครั้งนัก ถึงแม้ว่าในปี ค.ศ.2013 จะมีนักวิทยาศาสตร์สามารถปีนขึ้นไปบนภูเขาไฟได้สำเร็จก็ตาม
3. มหาสมุทรใต้
มหาสมุทรใต้ได้รับเลือกให้เป็นมหาสมุทรลำดับที่ห้าของโลกในปี ค.ศ.2000 มันเป็นมหาสมุทรที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก ซึ่งล้อมรอบขั้วโลกใต้หรือแอนตาร์กติกา โดยมหาสมุทรใต้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการไหลเวียนของน้ำในมหาสมุทรทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนใต้ มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแอนแลนติก ด้วยความลึกสูงสุดราว 7,300 เมตร
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า มหาสมุทรใต้ทำการดูดซับก๊าซคาร์บอนถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ที่มนุษย์สร้างขึ้น นั่นเป็นตัวเลขที่น่าทึ่ง แม้ว่าตัวเลขอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่นักวิทยาศาสตร์กำลังค้นหาคำตอบว่ากระบวนการดูดซับก๊าซคาร์บอนนี้มีกระบวนการอย่างไร
4. หุบเขาทะเลทรายแม็คเมอร์โด
เมื่อพูดถึงทะเลทราย หลายคนมักจินตนาการภาพพื้นราบทะเลทรายที่ร้อนระอุ แต่ขั้วโลกใต้หรือแอนตาร์กติกากลับเป็นสถานที่ตั้งของทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีความแห้งและลมแรงอย่างไม่น่าเชื่อ และมีฝนตกเพียง 50 มม. ต่อปี ขณะที่พื้นที่กว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของทวีปถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง
และส่วนที่เหลือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ คือสถานที่ตั้งของหุบเขาแม็คเมอร์โด ดราย วัลเลย์ (McMurdo Dry Valleys) ที่มีลักษณะเป็นเนินทรายที่มีความสูง 70 เมตร และกว้าง 200 เมตร แม้ว่าเราไม่สามารถเดินเล่นบนเนินทรายแห่งนี้ได้ แต่มันคือสถานที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับงานวิจัย
หุบเขาแห่งนี้มีสภาพอากาศใกล้เคียงกับดาวอังคาร และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าภูมิภาคแถบนี้อาจกุมความลับของสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงอื่นได้ อย่างไรก็ตาม เนินทรายกำลังเคลื่อนที่ในอัตราที่น่าตกใจ คิดเฉลี่ยปีละ 1.5 เมตร ต่อปี
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสิ่งนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เมื่อบรรยากาศร้อนขึ้น น้ำแข็งก็ละลาย และเนินทรายก็เคลื่อนตัวออกไป ขณะนี้พวกเขากำลังทำงานอย่างรวดเร็วเพื่อไขปริศนาแห่งเนินทราย ก่อนที่พวกมันจะหายไปตลอดกาล
5. เชื้อราแอนตาร์กติก
นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดหลายชนิดทั่วแอนตาร์กติกา รวมไปถึงเชื้อราสายพันธุ์เฉพาะถิ่นอีกด้วย แม้ว่าเชื้อรามักเจริญรุ่งเรืองในบริเวณที่อบอุ่นหรือผืนป่า แต่เชื้อราในแอนตาร์กติกานี้สามารถมีชีวิตในสภาพที่เย็นจัดโดยการกัดกินกระท่อมไม้อายุหลายทศวรรษที่ถูกทิ้งร้างโดยนักสำรวจกลุ่มแรก ๆ
มีการค้นพบเชื้อราอีกประเภทหนึ่งที่กัดกินปิโตรเลียมที่รั่วไหลจากภาชนะบรรจุเชื้อเพลิงที่นักสำรวจทิ้งไว้ นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาสิ่งมีชีวิตที่น่าทึ่งเหล่านี้ เพื่อดูว่าเชื้อราสามารถนำมาใช้ในการทำความสะอาดคราบน้ำมันที่รั่วไหลออกไปทั่วโลกได้หรือไม่
6. อุกกาบาตโบราณ
แอนตาร์กติกาอุดมไปด้วยหลุมอุกกาบาต แม้อุกกาบาตอาจตกลงมาทั่วโลก แต่เราสามารถพบหลุมอุกกาบาตได้ง่ายกว่าในแอนตาร์กติกา เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นและแห้ง ซึ่งช่วยรักษะเศษอุกกาบาตเอาไว้ได้
อุกกาบาติสีเข้มยังมองเห็นได้ง่ายกว่าบนพื้นผิวสีขาวล้วนของน้ำแข็ง และพวกมันมีลักษณะที่แตกต่างจากก้อนหินที่พบได้บนพื้นผิวโลกโดยทั่วไป เนื่องจากมีก้อนหินเพียงไม่กี่ก้อนที่ก่อตัวขึ้นตามธรรมชาติบนแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกใต้หรือแอนตาร์กติกา
ในแอนตาร์กติกาตะวันออก คือแหล่งที่เราสามารถพบเศษซากอุกกาบาต เนื่องจากแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ยังคงอยู่ได้นานพอที่จะทำให้ชั้นบนสุดระเหยโดยแสงแดดและกระแสลมแรง สิ่งนี้เอง ที่เผยให้เห็นน้ำแข็งที่มีอายุมากกว่าและอุกกาบาตจำนวนมาก นักวิทยาศาสตร์เก็บตัวอย่างเศษซากอุกกาบาตจากนอกโลกได้มากกว่า 20,000 ชิ้น นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1976
ในปี ค.ศ.2013 ทีมนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นและเบลเยี่ยมค้นพบอุกกาบาตที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมาในแอนตาร์กติกาตะวันออกในรอบ 25 ปี โดยก้อนอุกกาบาตจากนอกโลกนี้มีน้ำหนักถึง 3 กิโลกรัมอย่างไม่น่าเชื่อ
ทีมนักวิทยาศาสตร์ใช้เวลากว่า 40 วัน ในการสำรวจเศษซากอุกกาบาตที่ถูกตรวจพบกว่า 425 ลูก คิดน้ำหนักรวมเป็น 75 กิโลกรัม รวมถึงชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อยเวสตา (Vesta) ที่เป็นวัตถุขนาดใหญ่ที่มีมวลมากที่สุดเป็นลำดับที่สองในแถบดาวเคราะห์น้อย
7. เอเลี่ยน, นาซี และอารยธรรมที่สาบสูญ
แอนตาร์กติกาคือสถานที่ ที่เต็มไปด้วยความลึกลับ อีกทั้งยังมีทฤษฎีสมคบคิดมากมายที่ผุดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของหัวกะโหลกรูปร่างแปลกประหลาด ปีรามิดรูปทรงแปลก ๆ ยานอวกาศจากนอกโลก หลายคนเชื่อว่าแอนตาร์กติกาเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตจากนอกโลก เพราะทุกปี มีรายงานการตรวจพบ UFO หลายสิบครั้ง ขณะเดียวกัน Google Earth ได้บันทึกกิจกรรมผิดปกติบางอย่าง ที่คาดว่าเป็นผลงานของมนุษย์ต่างดาว
นอกจากนี้ หลายคนยังเชื่ออีกว่า อารยธรรมแอตแลนติสน่าจะถูกซ่อนอยู่ใต้พื้นผิวน้ำแข็ง ที่ครั้งหนึ่งดินแดนบางส่วนของแอนตาร์กติกา ยังเป็นภูมิภาคเขตร้อนอบอุ่น ก่อนที่อารยธรรมแอตแลนติสถูกฝังด้วยน้ำแข็งหลังจากสิ้นสุดยุคน้ำแข็งเมื่อราวหนึ่งหมื่นปีก่อน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เองก็ยืนยันว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าครั้งหนึ่ง น่าจะเคยมีอารยธรรมของมนุษย์ตั้งอยู่ในทวีปแอนตาร์กติกาจริง แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าอารยธรรมแอตแลนติสตั้งเคยตั้งอยู่บนแอนตาร์กติกาจริง
นอกจากนี้ ยังมีทฤษฏีสมคบคิดที่ว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ พวกนาซีได้หนีตายหลังพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อมากบดานที่ขั้วโลกใต้
กล่าวกันว่าฮิตเลอร์ มีความหลงใหลในเรื่องไสยศาสตร์ และได้ส่งทีมสำรวจมาที่แอนตาร์กติกา แต่สถานีสำรวจของพวกเขาก็ถูกทิ้งร้างมานานกว่า 70 ปีแล้ว
แม้ว่าทฤษฏีเหล่านี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ แต่ก็ไม่มีใครสามารถหยุดให้ผู้คนคาดเดาว่ามีอะไรซ่อนอยู่ใต้ผืนน้ำแข็งของแอนตาร์กติกาได้จนถึงตอนนี้
ที่มา :
โฆษณา