25 ส.ค. 2023 เวลา 10:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

คำถามเกี่ยวกับนโยบาย Digital Wallet

นโยบาย Digital Wallet เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก และนโยบายนี้ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลใหม่ตั้งใจจะใช้เป็นนโยบายหลักในการผลักดันเศรษฐกิจ
5
จนหลายคนเริ่มคิดอยู่ว่าถ้าได้รับเงินหมื่นจะเอาไปทำอะไรดี
ต้องยอมรับว่ารายละเอียดที่เรามีอาจจะยังไม่พอวิเคราะห์นโยบายได้ทั้งหมด และมีคำถามเกิดมากมายเต็มไปหมด อยากลองตั้งคำถามดูเผื่อจะช่วยกันคิดช่วยกันปรับปรุงนโยบายให้ดีขึ้นกัน
1
ตามข้อมูลที่เปิดเผยมาในช่วงที่ผ่านมา นโยบายนี้ตั้งใจจะแจกเงินให้กับคนไทยทุกคนที่อายุมากกว่า 16 ปี (จำนวนกว่า 55 ล้านคน) คนละหนึ่งหมื่นบาท (ต้นทุนโครงการก็น่าจะประมาณ 5.5 แสนล้านบาท) ให้สามารถจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ที่กำหนด (เช่น ภายในรัศมี 4 กม จากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน) ภายในระยะเวลาที่กำหนด (เช่น 6 เดือน) โดยจะแจกเงินในรูปแบบของ Digital Token โดยไม่สามารถขึ้นเป็นเงินสดได้
6
นัยยะคือเพื่อเร่งให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ และเร่ง Jump Start ให้เศรษฐกิจกลับมาหมุนได้อีกครั้ง
1
แต่ในขณะเดียวกันก็มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคำถามรายละเอียดทางเทคนิค เช่น ทำไมต้องใช้ระบบ BlockChain มันมีประโยชน์อะไรมากกว่าระบบเงินที่เรามีอยู่ เช่น แอพเป๋าตังค์ ที่สามารถกำหนดข้อจำกัดของตำแหน่งที่ใช้เงินได้อยู่แล้ว (เราเคยใช้ตอนเราเที่ยวด้วยกันแล้วนี่)
3
และทำให้เงินหายไปก็ได้ หรือทำไมจึงใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เคยทดสอบเสถียรภาพ ความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว ความเร็วในการทำธุรกรรม และต้นทุน ในสเกลขนาดนี้ หรือคำถามว่า เงินก้อนนี้จะนับเป็นปริมาณเงิน และจะทำให้แบงก์ชาติกลุ้มใจ ดูดสภาพคล่องคืนเพื่อลดผลกระทบต่อปริมาณเงินในระบบ หรือจะผิดกฎหมาย พรบ เงินตราหรือไม่
12
ผมจะลองยกคำถามที่ยังสงสัยอยู่อีกสามสี่ข้อ
1
  • หนึ่ง จะเอาเงินจากไหนมาใช้
ต้นทุนโครงการนี้มูลค่ากว่า 5.5 แสนล้านบาท คิดเป็นกว่า 3% ของ GDP และกว่า 16% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ยากมากที่เราจะตัดงบประมาณ หรือขึ้นภาษีมาจ่ายโครงการนี้ได้ทั้งหมด ยังไงก็ต้องมีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม
แต่ปัญหาคือ ตาม พรบ หนี้สาธารณะ กำหนดให้รัฐบาลกู้ได้แค่ 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี บวกอีก 80% ของรายจ่ายคืนต้นเงินกู้ ก็คือไม่เกินประมาณ 3.5% ของ GDP
6
ในขณะที่งบประมาณปีหน้าที่รัฐบาลที่แล้วอนุมัติก็มีการขาดดุล 3% ของ GDP แล้ว แปลว่ามีช่องว่างให้ขาดดุลเพิ่มได้แค่อีกนิดเดียว และถ้าจะตัดงบก็ติดว่าเรามีงบประจำสูงถึงเกือบ 80% ของวงเงินงบประมาณ จะตัดอะไรได้คงไม่มากนัก
ถ้าจะฝากธนาคารรัฐออกให้ไปก่อน ก็ติดอีกว่าตาม พรบ วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 28 กำหนดไว้ว่าการมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐ
4
โดยรัฐรับภาระจะชดเชยภายหลังนั้น ทำได้ไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งทุกวันนี้ตามรายงานความเสี่ยงการคลัง ยอดนี้ก็เกือบเต็ม 1 ล้านล้านบาทแล้ว ไม่น่าพอใช้แน่ๆ และหมายถึงว่าการช่วยเหลืออื่นๆที่ใช้แบงก์รัฐจะทำเพิ่มไม่ได้แล้ว และสุดท้ายก็เป็นภาระของรัฐอยู่ดี
5
และอาจจะมีคนถามว่า จะเริ่มใช้ได้เมื่อไร เพราะลำพังแค่ร่าง พรบ งบประมาณของปีงบประมาณหน้า ที่ควรจะเริ่มในเดือนตุลาคม ก็น่าจะล่าช้าไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคมแล้ว โครงการนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตั้งงบได้ทัน
4
หรือจะใช้ท่าไม้ตาย ออก พรก กู้เงิน แบบที่ทำตอนสมัยโควิด แต่รัฐบาลต้องพร้อมจะ defend ว่าการออก digital wallet เป็น “กรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้” และต้องเอาเข้าสภาเพื่อรับรองเป็นกฎหมายตามหลัง
หรือจะพยายามเล่นแร่แปรธาตุแล้วบอกว่า token นี้ไม่ใช่ภาระของรัฐ ไม่นับเป็นหนี้ของรัฐด้วย หรือใช้เงิน รัฐ back แค่บางส่วนของเงินที่แจก ก็คงพอทำได้ แต่ก็จะมีคำถามอื่นๆตามมาแน่ๆ
5
  • สอง “ราคา” ของ token เมื่อเงินของเราไม่เท่ากัน
แม้ว่าโครงการจะบอกว่านี่ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ และมีมูลค่าเท่ากับหนึ่งบาทตลอดเวลา แต่ “เงิน” สกุลเดียวกัน ที่ออกโดยผูัออกคนละคน หรืออยู่คนละรูปแบบ ก็มี “ราคา” ได้ (ทางวิชาการเรียกว่า ราคา par ของเงินคนละแบบ)
3
โดยเฉพาะถ้าไม่สามารถแลกกลับเป็น “เงิน” รูปแบบอื่น ได้ตลอดเวลา และไม่มีกลไกในการรับรองมูลค่าของ “เงิน” token นั้นจะรักษามูลค่าพื้นฐานได้อย่างไร
และ token นี้จะมีศักดิ์และสิทธิ์เท่าเทียบกับเงินบาทในรูปแบบธนบัตร หรือเงินฝากในธนาคารหรือไม่ มีกฎหมายอะไรที่รับรองให้ชำระหนี้ได้ และผู้รับปฏิเสธการชำระหนี้ของ token นี้ได้หรือไม่
2
ถ้า token มีสภาพเหมือนเงิน แต่มีข้อจำกัดในการใช้มากกว่าเงินสด และไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ในทันที หรือมีความไม่มั่นใจว่าจะใช้ได้หรือไม่ ผู้ขายอาจจะไม่ยอมรับหรือรับในอัตราที่ต่ำกว่าเงินบาท (เช่น ขายของ 100 บาทในราคา 200 token)
หรือ อาจจะมีคนยอม “ขาย” token ในราคาที่ต่ำกว่าหนึ่งบาทเพื่อรับเงินบาททันทีในวันนี้ ให้กับคนที่ตั้งโต๊ะรับซื้อ และสามารถรอไปแลกเงินบาทได้ในอนาคต
ซึ่งอาจจะเกิดธุรกิจรับซื้อ token หรือตลาดซื้อขาย token ได้เลย แต่แปลว่าคนที่ถือ token ต้องรับโอกาสที่จะขาดทุนได้ด้วย
3
นอกจากนี้ ถ้าจะให้ token ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ ระหว่างที่ขึ้นเงินสดยังไม่ได้ ร้านค้าและผู้ประกอบการต้องสามารถโอนเงินกลับมาให้ลูกจ้างเป็นค่าจ้างให้กลับมาใช้จ่ายได้อีก ซึ่งจะทำให้เส้นแบ่งระหว่างผู้จ่ายและผู้รับเบลอไปเรื่อยๆ แต่ลูกจ้าง หรือ supplier จะรับ token ไหม
4
  • สาม คนรับจะทำอะไรกับ token?
1
ด้วยข้อจำกัดที่ต้องใช้ในรัศมีที่จำกัด และไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ ปัญหาหนึ่งที่พอจะมองเห็นได้คือถ้าคนในชุมชุม รุมกันไปใช้ token นี้ที่ร้านค้าแห่งหนึ่งในชุมชน
แต่ร้านค้าแห่งนั้นจำเป็นไปต้องซื้อวัตถุดิบจาก supplier ที่อยู่ห่างไปกว่า 4 กม หรือนำเข้าสินค้ามาจากต่างประเทศ แปลว่าร้านนี้ขายของได้และได้รับ token มาเยอะมาก แต่อาจจะไม่สามารถนำ token ไปซื้อวัตถุดิบมาขายของต่อได้ หรือไม่ ขึ้นเป็นเงินสดก็ไม่ได้ เงินก็อาจจะไม่หมุนต่อ และมีความเสี่ยงที่ร้านค้านั้นอาจจะขาดสภาพคล่องได้ หรือเจ๊งเอาได้
6
นี่ยังไม่นับประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางพื้นที่ (เช่น คนบนดอยอาจจะไม่มีร้านค้าที่รับเงินนี้ได้ในรัศมีใกล้ๆ) กับการเข้าถึงเทคโนโลยีอีก หรือคนที่ไม่อยู่ในพื้นที่ทะเบียนบ้านอาจจะไม่คุ้มที่จะกลับไปใช้เงิน
3
  • สี่ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะคุ้มค่าต้นทุนหรือไม่
อีกคำถามสำคัญคือ ต้นทุนในการแจกเงินอาจจะเกิดขึ้นในทันที แต่นี่คือการใช้จ่ายเงินภาครัฐที่คุ้มค่าที่สุด ตรงจุด และเกิดผลกับเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมหรือไม่
อย่างที่เคยเล่าไปก่อนหน้านี้ว่า “การแจกเงิน” แบบเป็นการทั่วไป (ไม่ได้เฉพาะเจาะจงบางกลุ่ม) หรือที่ทางการเรียกว่า “เงินโอน” ภาครัฐ อาจจะมีผลต่อเศรษฐกิจ น้อยกว่าเงินที่ใส่ลงไปอีก (fiscal multiplier อาจจะน้อยกว่า 1x) ยากมากที่จะเกิดผลต่อเศรษฐกิจมหาศาลขนาด 5-6 เท่า จนสร้างรายได้ภาษีใหม่มาจนพอจ่ายต้นทุนโครงการแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุผลสามข้อใหญ่ๆ
1
1. แม้ผู้รับจะใช้เงินที่ได้รับไปทั้งหมด แต่อาจจะไม่ได้หมายความว่า เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่เท่ากับเงินที่ผู้รับใช้ไป ที่จะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีโครงการนี้ เช่น ถ้าปกติคนคนหนึ่งกินข้าวเดือนละหนึ่งหมื่นบาท พอได้รับเงินมาหนึ่งหมื่นบาท คนนั้นใช้เงินที่ได้รับมาจนหมด และใช้เงินเดือนนั้นเพิ่มเป็นหนึ่งหมื่นห้าพันบาท แต่ไม่ได้แปลว่าเกิด GDP ใหม่หนึ่งหมื่นบาทนะครับ แต่เกิด GDP ใหม่แค่ห้าพันเท่านั้น ผมเอาอีกห้าพันไปออม หรือไปใช้หนี้
6
2. การใช้จ่ายไม่ได้เกิดเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศเท่านั้น แต่อาจจะรั่วไหลไปเป็นการนำเข้าก็ได้ เช่น ถ้าคนรับเงินหนึ่งหมื่นบาทไปซื้อมือถือใหม่ GDP ในประเทศเกิดขึ้นน้อยมาก แม้ว่าจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็ตาม
1
3. อาจจะมีการยืม demand ในอนาคตมาใช้ เช่น ใช้เงินที่ได้รับตุนของที่ต้องใช้อยู่แล้ว สบู่ กระดาษทิชชู่ น้ำมันพืช ยาสีฟัน ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจจะพุ่งสูงขึ้นระหว่างมีโครงการ แต่ก็อาจจะ “จ่ายคืน” หลังโครงการจบ
สรุป แล้วผมว่าโครงการนี้น่าสนใจ แต่รายละเอียดโครงการนี้ยังมีน้อยไปหน่อย และอาจจะต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะประเมินผลกระทบจริงๆได้ และมีคำถามเกิดขึ้นค่อนข้างมาก
2
หรือจริงๆ แล้ว เราควรยอมรับไปเลยว่านี่คือการแจกเงิน เพราะจะแก้ปัญหาหลายอย่างที่ว่ามา แต่ต้องมีการตั้งงบประมาณอย่างโปร่งใส พิจารณาอย่างรอบคอบถึงต้นทุน ผลที่จะได้รับ และเปรียบเทียบกับทางเลือกในการใช้เงินด้านอื่นๆ และเลือกขนาดของโครงการตามความเหมาะสมภายใต้กรอบของกฎหมายเพื่อรักษาวินัยทางการคลัง
2
และเพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรีครับ
7
โฆษณา