25 ส.ค. 2023 เวลา 13:00 • ความคิดเห็น

ทำไมฝากเงินไว้กับ "ประกันสะสมทรัพย์" ถึงดีกว่า "เงินฝากประจำ"

💵"เงินฝากประจำ" คือการนำเงินก้อนหนึ่ง (เงินต้น) ไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ ในช่วงเวลาที่ตกลงกันไว้ (ระยะเวลาการฝาก) เช่น 3, 6, 12, 24 เดือน หรือมากกว่านั้น
โดยธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตราที่ประกาศไว้ โดยอาจมีการจ่ายทุก 6 เดือน 12 เดือน ตามข้อตกลง และธนาคารจะคืนเงินต้นทั้งหมดให้ เมื่อครบระยะเวลาการฝาก
📘ในส่วนของประกันชีวิตในรูปแบบสะสมทรัพย์ ("ประกันสะสมทรัพย์") ถือว่าเป็นประกันชีวิตรูปแบบหนึ่ง แต่มีระยะเวลาชำระเบี้ย และระยะเวลาสัญญา (ระยะเวลาคุ้มครอง) ที่สั้นกว่า เช่น ประกันสะสมทรัพย์ 10/5 ที่ชำระเบี้ยประกันเพียง 5 ปี และมีระยะเวลาสัญญาเพียง 10 ปี เหมาะสำหรับผู้ที่เน้นออมเงิน เพราะฉะนั้นทุนประกันของประกันประเภทนี้จะมี่ค่าเท่ากับ หรือมากกว่าเบี้ยประกันที่จ่ายในแต่ละปีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินคืนหลังสิ้นปีกรมธรรม์ใด ๆ และจ่ายเงินก้อนหนึ่งหลังครบระยะเวลาสัญญาให้ ตามอัตราที่บริษัทประกันนั้นได้ประกาศไว้
เพราะฉะนั้นถือได้ว่าทั้งเงินฝากประจำ และประกันสะสมทรัพย์ ล้วนแล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ปราศจากความเสี่ยง
✅ผลตอบแทนแน่นอน: ทั้งในรูปแบบดอกเบี้ย / เงินคืนหลังสิ้นปีกรมธรรม์
✅เงินต้นไม่สูญหาย / เงินก้อนหลังครบระยะเวลาสัญญาได้เท่ากับ หรือมากกว่าเบี้ยประกันที่จ่ายไว้ตลอดระยะเวลาสัญญา
📍สำหรับใครสงสัยว่าทุนประกันคืออะไร? ย้อนกลับไปอ่านได้ที่
คำศัพท์ทางการเงิน และการลงทุน
จากการที่ทั้งเงินฝากประจำ และประกันสะสมทรัพย์เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ปราศจากความเสี่ยงทั้งคู่ ปัจจัยต่อไปที่ควรนำมาเปรียบเทียบกันนั้น จึงเป็นเรื่องของ "ผลตอบแทนที่แท้จริง"
📈แต่ก่อนจะรู้ผลตอบแทนที่แท้จริงของทั้งเงินฝากประจำ และประกันสะสมทรัพย์ เราต้องมาทำความรู้จักคำศัพท์ทางการเงิน และการลงทุนสักเล็กน้อยกันก่อน
1️⃣ กระแสเงินสด (Cash Flow) = รายได้ทั้งหมด (เงินรับระหว่างปี, เงินคืนเมื่อครบกำหนด) - รายจ่ายทั้งหมด (เงินลงทุน) ในแต่ละปี
2️⃣ มูลค่าเงินตามเวลา (Time Value of Money [TVM]) คือมูลค่าของเงิน ณ เวลาที่แตกต่างกัน จะมีค่าที่ไม่เท่ากัน เช่น เงิน 5 บาทซื้อหมูปิ้งได้ 1 ไม้ เมื่อตอน 10 ปีที่แล้ว แต่ในปัจจุบันหมูปิ้ง 1 ไม้ ราคา 10-15 บาทแล้ว แสดงถึงเงิน 5 บาทในปัจจุบันมีมูลค่าที่ลดลง เมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
3️⃣ อัตราคิดลด (Discount Rate) คืออัตราที่ใช้ในการปรับลด (หรือเพิ่ม) มลูค่าของเงินเมื่ออยู่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยมีสูตรคำนวณง่าย ๆ คือ FV = PV*(1+Discount Rate)^n เมื่อ FV (Future Value) คือมูลค่าเงินในปีที่ n และ PV (Present Value) คือมูลค่าเงินในปัจจุบัน
เช่น หากเราคิดว่าราคาหมูปิ้ง 1 ไม้ เท่ากับ 10 บาทในปัจจุบัน จะเพิ่มขึ้น 3%/ปี ในอีก 10 ปีข้างหน้า เราต้องจ่ายเงิน 10*(1+3%)^10 หรือประมาณ 13 บาท เพื่อซื้อหมูปิ้ง 1 ไม้
4️⃣ อัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return [IRR]) คือ Discount Rate ค่าหนึ่งที่ทำให้กระแสเงินสดในอนาคตแต่ละปี ลดทอนมูลค่ากลับมาปัจจุบัน (ปีที่ 0) โดยเมื่อรวมกระแสเงินสดในอนาคตทุกปี ที่มูลค่าถูกลดทอนด้วย Discount Rate ค่านั้นแล้ว จะมีค่าเท่ากับเงินทุนก้อนแรก หรือ Net Present Value (NPV) เท่ากับ 0
เพื่อให้เข้าใจง่าย โพสต์นี้เราขอใช้คำว่า "ผลตอบแทนที่แท้จริง (IRR)" แทนคำว่าอัตราผลตอบแทนภายใน
ที่นี้สมมุติเรานำเงิน 100,000 บาท ไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินอะไรสักอย่างหนึ่ง และผลิตภัณฑ์นั้นสามารถสร้างรายได้ในปีที่ 1 และ 2 เป็นจำนวน 3,000 บาท รวมถึงคืนเงินทุนทั้งหมด 100,000 บาท กลับมาให้เราในปีที่ 2 จากความเข้าใจ 1️⃣-4️⃣ เราก็จะสามารถหา "ผลตอบแทนที่แท้จริง" ของผลิตภัณฑ์ทางการเงินนี้ มีค่าเท่ากับ 3%/ปี นั่นเอง
📍 การหา IRR ด้วยโปรแกรม Microsoft Excel สามารถศึกษาต่อได้ที่ YouTube
ผลตอบแทนที่แท้จริงของเงินฝากประจำ
กลับมาที่การหา "ผลตอบแทนที่แท้จริง" ของเงินฝากประจำกันต่อ...
💵ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจุบันธนาคารสีม่วงให้อัตราดอกเบี้ยของเงินฝากประจำ ระยะเวลาการฝาก 24 เดือน สูงที่สุด ในอัตราดอกเบี้ย 2%/ปี แต่แน่นอนดอกเบี้ยที่ได้รับในแต่ละปีนั้น จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นจำนวน 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ
🤔 ถ้าวันนี้เราทำการเปิดบัญชีเงินฝากประจำ ระยะเวลาการฝาก 24 เดือน กับธนาคารสีม่วงแห่งนี้ ด้วยจำนวนเงินต้น 100,000 บาท เราจะได้รับผลตอบแทนที่แท้จริงในอัตราเพียง 1.7%/ปี เป็นระยะเวลา 2 ปี เท่านั้น
เพราะฉะนั้นผลตอบแทนที่แท้จริงของเงินฝากประจำ จะมีค่าน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยตามที่ธนาคารประกาศไว้เสมอ เพราะดอกเบี้ยที่ได้รับในแต่ละปีจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% นั่นเอง
ผลตอบแทนที่แท้จริงของประกันสะสมทรัพย์
📘ในส่วนของประกันสะสมทรัพย์ 10/5 ที่มีระยะเวลาชำระเบี้ยประกัน 5 ปี ระยะเวลาของสัญญา 10 ปี โดยมีการจ่ายเงินคืนในอัตรา 5% ของทุนประกัน ณ สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 1-9 และ 250% ของทุนประกัน ณ สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 10
🤔 ถ้าวันนี้เราทำประกันสะสมทรัพย์ 10/5 นี้ โดยจ่ายเบี้ยประกัน 100,000 บาท/ปี เพื่อเป็นทุนประกันจำนวน 200,000 บาท เป็นระยะเวลา 5 ปี เราจะได้รับผลตอบแทนที่แท้จริงในอัตราสูงถึง 3.8%/ปี เป็นระยะเวลา 10 ปี เพราะเงินคืน ณ สิ้นปีกรมธรรม์ใด ๆ นั้นจะไม่ถูกหักภาษีเหมือนกับดอกเบี้ยรับจากเงินฝากประจำ อีกทั้งค่าเบี้ยประกันที่จ่ายในแต่ละปีนั้นสามาถนำมาลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวนอีกด้วย
🌟และยิ่งเรานำค่าเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษี ณ อัตราภาษีเงินได้ที่สูงขึ้นเท่าไร ผลตอบแทนที่แท้จริงก็จะเพิ่มตามไปด้วย
📍 เพราะฉะนั้นการนำเงินไปซื้อประกันสะสมทรัพย์ ดีกว่านำไปฝากอยู่ในบัญชีเงินฝากประจำ เนื่องด้วย
1️⃣ ได้รับผลตอบแทนที่แท้จริงมากกว่า
2️⃣ ได้รับความคุ้มครองชีวิต: เสียชีวิตได้รับเงินก้อนซึ่งเท่ากับ หรือมากกว่าทุนประกัน แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละแบบประกัน ในแต่ละบริษัทประกัน
🙋‍♂️อย่างไรก็ตาม เราแนะนำว่านอกจากจะพิจารณาผลตอบแทนที่แท้จริงของประกันสะสมทรัพย์แต่ละรูปแบบ ในแต่ละบริษัทประกันแล้ว สิ่งที่ควรพิจารณาควบคู่กันไปด้วยคือ
✅สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ครบตามระยะเวลาชำระเบี้ยที่กำหนด
✅สามารถรอรับเงินคืน ตอนสิ้นสุดระยะเวลาสัญญาได้ โดยไม่มีการขอยกเลิกประกัน (เวนคืนกรมธรรม์) ก่อนครบระยะเวลาของสัญญา เพราะนอกจากผลตอบแทนที่แท้จริงจะได้ต่ำกว่าที่คำนวณไว้ หรือถึงขั้นขาดทุน (เงินที่ได้รับจากการเวนคืนกรมธรรม์น้อยกว่าเบี้ยประกันทั้งหมดที่จ่ายไป) แล้วนั้น จะต้องจ่ายคืนภาษีเงินได้ย้อนหลังของทุก ๆ ปี ที่ได้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีไปแล้วอีกด้วย
📍 การลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินทุกประเภทล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นผู้ลงทุนควรรู้ถึง "ข้อจำกัด" และ "ความสามารถ" ทางการเงินของตัวเอง ควบคู่ไปกับศึกษาข้อมูลอื่น ๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน
ติดตาม Ensurance ศาสตร์แห่งประกัน ช่องทางอื่นได้ที่
LINE (Official Account) ID: @895cysne
Facebook:
References
- https://www.bot.or.th/th/statistics/interest-rate.html (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับบุคคลธรรมดา ของธนาคารพาณิชย์ ประจำวันที่ 11 สิงหาคม 2566)
- https://www.finnomena.com/z-admin/tax-deduction-2/ (ลดหย่อนภาษีปี 2566)
โฆษณา