25 ส.ค. 2023 เวลา 17:12

โฉมหน้าศักดินา

ลักษณะของระบบผลิตศักดินาโดยทั่วไป
ความหมายของคำว่าศักดินา
“ศักดินา” โดยรูปคำ แปลว่า “อำนาจในการครอบครองที่นา” และถ้าจะแปลขยายความออกให้แจ่มแจ้งแล้ว ศักดินาก็หมายถึง “อำนาจในการครอบครองที่ดิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำไร่และการทำนา อันเป็นอาชีพหลักของประชาชนในยุคนั้น” นั่นเอง
จากการแปลความหมายของศัพท์เช่นนี้ เราก็พอจะมองเห็นได้คร่าวๆแล้วว่า ระบบผลิตศักดินาเป็นระบบผลิตที่พัวพันอยู่กับ “ที่ดิน”
ตามหลักเศรษฐศาสตร์ “ที่ดิน” ถือว่าเป็นปัจจัยแห่งการผลิต (Means of Production) อย่างหนึ่ง พูดอย่างง่ายๆ ก็คือ ที่ดินเป็นเครื่องมืออันหนึ่งในการทำมาหากินของมนุษย์
ในสังคมของมนุษย์ก่อนสมัยทุนนิยม ซึ่งเครื่องจักรกลถือกำเนิดขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการทำมาหากินนั้น
เครื่องมือสำคัญในการหากินของมนุษย์ก็คือที่ดิน ทั้งนี้เพราะมนุษย์ยังชีพด้วยการเพาะปลูก ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า กสิกรรม เป็นหลัก ความผาสุกของมนุษย์ แต่ละคนจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู้กับข้อที่ว่า เขามีที่ดินมากหนือน้อยหรือไม่มีเลย
ผู้ที่มีที่ดินมาก ก็มีความผาสุกมาก ผู้ที่มีที่ดินน้อยก็มีความผาสุดน้อย ลดหลั่นลงมา และผู้ที่ไม่มีที่ดินเลย ก็ย่อมประสบกับความยากลำบากในการครองชีพ เพราะต้องเช่าที่ดินเขาทำมาหากิน เสียค่าเช่า เสียส่วนแบ่ง หรือไม่ก็ต้องเป็นคนงานในไร่นาของเจ้าของที่ดิน ซึ่งเรียกกันว่า “ทาสกสิกร” (Serf) ที่ไทยโบราณเรียกว่า “ไพร่” หรือ “เลก”
ถ้าจะเทียบกับระบบผลิตทุนนิยม ผู้ที่มีที่ดินมาก ก็เทียบได้กับนายทุนใหญ่ที่มีโรงงาน มีกิจการค้าในกำมือมากมาย พวกนี้ย่อมเสวยความผาสุกร่ำรวย เป็นพวก “มีบุญ” ผู้ที่มีที่ดินน้อย ก็เทียบได้กับนายทุนขนาดย่อมหรือนายทุนน้อย ซึ่งมีความผาสุกลดหลั่นลงมา พวกที่ไม่มีที่ดินเลย ก็เทียบได้กับพวกที่ไม่มีโรงงาน ไม่มีกิจการค้าใดๆ ต้องเป็นคนงานขายแรง ได้รับค่าจ้างพอประทังชีวิตไปชั่ววันหนึ่งๆ ตามวาสนาและเวรกรรมของสัตว์
นอกจากความผาสุกของมนุษย์จะขึ้นอยู่กับเครื่องมือในการทำมาหากิน หรือปัจจัยแห่งการผลิตแล้ว อำนาจของมนุษย์ก็ขึ้นอยู่กับขนาดและปริมาณของเครื่องมือในการทำมาหากินด้วยเช่นกัน
เจ้าของที่ดินใหญ่ มีไพร่ มีเลก หรือนัยหนึ่งผู้คนที่ทำงานภายใต้บังคับบัญชา ก็ย่อมมีอิทธิพลและอำนาจมากเป็นเงาตามตัว ทั้งนี้ก็เพราะเขากำเอาชะตาชีวิตของคนจำนวนมากไว้ในกำมือ คนที่ทำงานอยู่ภายใต้บารมีของเจ้าของ ที่ดินใหญ่ จะอด จะอิ่ม จะทุกข์ จะสุข ก็ขึ้นอยู่ที่ความพอใจของเจ้าของที่ดินเป็นเกณฑ์
ตามที่กล่าวมานี้ ศักดินาจึงมิได้มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า “อำนาจในการครอบครองที่ดิน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการทำมาหากิน” แต่อย่างเดียว หากโดยความเป็นจริงแล้วมันได้หมายรวมถึง “อำนาจและอิทธิพลของมนุษย์ที่มีมากหรือน้อยตามขนาดหรือปริมาณของที่ดิน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการทำมาหากิน” อีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าของที่ดินทั้งปวง ที่เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในสังคม ยังได้พยายามสั่งสอนอบรม พวกไพร่ พวกเลก ให้มองเห็นว่าตนเป็นผู้ประเสริฐ เป็นเจ้าของชีวิตตามประเพณีนิยมต่างๆของพวกตน เป็นต้นว่า กิริยามารยาท การพูดจา ฯลฯ ก็ดี การบันเทิงเริงใจของพวกตน ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง, บรรเลงดนตรี, ละคร, วรรณคดี ฯลฯ ก็ดี เป็นสิ่งที่ไพร่และเลกควรถือเป็นแบบฉบับ,
พวกไพร่ ควรยกย่องและทำตามอย่าง ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ชุบย้อมจิตใจของพวกไพร่ พวกเลก ให้นิยมชมชอบพวกตน และยอมรับในสถาบันของพวกตนตลอดไป โดยถือว่าเป็นของถูกต้องและเป็นธรรม
นั่นก็หมายถึงว่า ผู้ที่มีอำนาจในการครอบครองที่ดิน ย่อมมีอำนาจในการกำหนดรูปแบบชีวิต
ดังนั้น ศักดินา จึงนอกจากจะหมายถึง “อำนาจในการครอบครองที่ดิน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการทำมาหากิน” ซึ่งเป็นความหมายทางด้านเศรษฐกิจ และนอกจากจะหมายถึง “อำนาจและอิทธิพลของมนุษย์ที่มีมากหรือน้อยตามขนาดหรือปริมาณของที่ดินแล้ว มันยังคลุมไปถึง “อำนาจที่กำหนดรูปแบบของชีวิต ซึ่งขึ้นอยู่กับอำนาจในที่ดิน ซึ่งเป็นความหมายในด้านวัฒนธรรมอีกด้วย
อำนาจทางเศรษฐกิจ, อำนาจทางการเมือง และอำนาจทางวัฒนธรรม ที่ขึ้นอยู่และพัวพันกับที่ดินดังกล่าวนี้ คือความหมายอันสมบูรณ์แท้จริงของคำว่า “ศักดินา”
“ศักดินา” เป็นระบบของสังคมและระบบของสังคมนั้น ย่อมจักต้องประกอบด้วยด้านต่างๆ สามด้าน กล่าวคือ เศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรม อนึ่งการที่จะพิจารณาถึงลักษณะแห่งระบบสังคมนั้น จำเป็นต้องพิจารณาเจาะลงไปให้ถึง เครื่องมือในการทำมาหากินที่สำคัญ หรือปัจจัยการผลิตหลักของสังคมนั้นๆ แล้วหลังจากนั้น จึงพิจารณา ถึงผลสะท้อนของการถือกรรมสิทธิในปัจจัยแห่งการผลิตที่สะท้อนออกมาในทางเศรษฐกิจ, การเมือง และ วัฒนธรรมอีกทอดหนึ่ง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา