26 ส.ค. 2023 เวลา 05:21 • ข่าวรอบโลก

การกลับมามีอิทธิพลความมั่นคงในไทยของ #สหรัฐอเมริกา หลังตกขบวนไปนานจนถูก #จีน แซง

ที่ผ่านมาในสมัยรัฐบาลไบเดน สหรัฐอเมริกาเริ่มกลับมาให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศพันธมิตรเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งเราอาจจะเห็นได้จากกรณีการช่วยเหลือยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซีย สำหรับประเทศไทยนั้นแม้จะไม่ได้มีความขัดแย้งกับประเทศไหนถึงขั้นเกิดสงคราม และที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาทางการเมืองจากการเกิดรัฐประหารโดยกองทัพไทย และการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศของพลเอกประยุทธ์ ที่ทำให้ระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและประเทศประชาธิปไตยลดลง
ซึ่งเป็นโอกาสของจีนที่เข้ามาเพิ่มความสัมพันธ์กับไทย โดยเฉพาะด้านการทหารที่ความสัมพันธ์ก้าวหน้าไปมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการขายอาวุธของจีนให้กับไทยที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งจรวดต่อสู้อากาศยาน รถถัง ไปจนถึงเรือดำน้ำ รวมกันแล้วมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาท รวมถึงการฝึกร่วมระหว่างกองทัพไทยและจีนที่เริ่มเพิ่มระดับการฝึกมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าหลังจากรัฐประหารจบไป ก็เป็นยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งมีนโยบายลดการช่วยเหลือและสนับสนุนพันธมิตรต่างชาติ
ทำให้เราสามารถพูดได้ว่า เกือบสิบปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาตกขบวนในการสร้างอิทธิพลต่อไทยไปค่อนข้างมาก และเป็นโจทย์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องแก้หลายเรื่อง
ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกากลับมาหาไทยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการช่วยเหลือที่เราไม่ได้เห็นมานานกว่าสิบปีแล้วก็คือการช่วยเหลือด้านอาวุธ โดยส่วนมากไปตกอยู่กับกองทัพเรือไทย ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร จะเป็นเพราะสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีจุดที่อาจจะเกิดความขัดแย้งหลักอยู่ในทะเลเช่น ทะเลจีนใต้ หรือไม่ก็เป็นสิ่งที่น่าคิด
ความช่วยเหลือที่ผ่านมาก็มีเช่นที่เราเคยพูดคุยกันมาแล้วก็คือการปรับปรุงเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล Do-228 ซึ่งสหรัฐอเมริกาสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อให้กองทัพเรือไทยมีขีดความสามารถในการลาดตระเวนและตรวจการณ์ทางทะเลทั้งการกระทำผิดกฎหมายทางทะเล หรือการป้องกันเขตแดนทางทะเลต่าง ๆ
อากาศยานไร้นักบิน RQ-21 ก็เป็นอีกระบบอาวุธหนึ่งที่สหรัฐอเมริกามอบให้ โดยกองทัพเรือไทยนำไปประจำการในกองการบินทหารเรือในบทบาทของการตรวจการณ์ทางทะเลเช่นกัน
สหรัฐอเมริกายังให้ความช่วยเหลือในการจัดทำระบบควบคุมและบังคับบัญชาของกองทัพเรือไทย ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าสหรัฐอเมริกามีความเชี่ยวชาญด้านการจัดทำระบบควบคุมและบังคับบัญชามากที่สุดในโลก ซึ่งกองทัพเรือไทยเลือกระบบควบคุมและบังคับบัญชาของ Elbit เป็นระบบหลักและใช้งานมาระยะหนึ่งแล้ว รวมถึงต้องการใช้งาน Link-Y ของ Thales ซึ่งเป็นระบบ Datalink ที่เทียบเคียงได้กับ Link 11/22 แต่สามารถเพิ่มซอฟแวร์ Encryption ของตนเองได้ เป็น Datalink หลักของกองทัพเรือไทย
ความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาจะเน้นไปที่การช่วยให้กองทัพเรือไทยสามารถสร้างระบบ จัดการขั้นตอนและลำดับการสื่อสารและะบังคับบัญชาจาก Sensor ไปจนถึง Shooter ที่แตกต่างกันได้ โดยอ้างอิงหลักการทำงานและการปฏิบัติงานของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นหลักการของ NATO ด้วยเช่นกัน
จังหวะของการกลับเข้ามามีอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในกองทัพเรือไทย อาจจะได้รับการสนับสนุนทางอ้อมจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับกรณีเรือดำน้ำ S26T ของจีน ที่ต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์จาก MTU396 เป็น CHD620 ของจีน ทำให้มีบางกระแสในกองทัพเรือไทยตั้งข้อสงสัยต่อคุณภาพและขีดความสามารถของอาวุธของจีน
เราจะเห็นว่า แม้ว่าที่ผ่านมากองทัพเรือจะจัดหาระบบอาวุธจากจีนหลายรายการ เช่นจรวดต่อสู้อากาศยาน FK-3 เรือหลวงช้าง หรือแม้แต่เรือดำน้ำ S26T ซึ่งจีนประสบความสำเร็จในการสร้างอิทธิพลกับกองทัพเรือไทย แต่การใช้งานและการปฏิบัติงาน รวมถึงการควบคุมและบังคับบัญชานั้น ดูเหมือนสหรัฐอเมริกาจะประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้กองทัพเรือไทยทำงานและปฏิบัติงานตามมาตรฐาน NATO ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ทำ
1
ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์หรือความขัดแย้งที่กองทัพเรือไทยต้องออกปฏิบัติการหรือต้องปฏิบัติการร่วมกับกองทัพเรือสหรัฐฯ หรือชาติพันธมิตรสหรัฐฯ กองทัพเรือไทยก็สามารถใช้ระบบอาวุธที่ตนเองมีซึ่งค่อนข้างหลากหลายและไม่เป็นมาตรฐาน ในการปฏิบัติงานร่วมภายใต้หลักการและมาตรฐานของ NATO ได้
ซึ่งหมายถึง สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการสร้างอิทธิพลเหนือหัวใจหลักของการปฏิบัติการทางทหารของกองทัพเรือไทย ซึ่งก็คือระบบสื่อสารและระบบควบคุมและบังคับบัญชาของกองทัพเรือไทยนั่นเอง
แต่แน่นอนว่า การเลือกข้างใดข้างหนึ่งจะทำให้ข้างที่ไทยเลือกสามารถสนับสนุนไทยได้เต็มที่ ซึ่งมาพร้อมกับความเสี่ยงที่ไทยอาจจะเสียผลประโยชน์จากอีกข้างหนึ่ง ส่วนการไม่เลือกข้างใดและพยายามวางตัวเป็นกลางนั้น แม้จะทำให้ไทยสามารถได้รับผลประโยชน์จากทั้งสองฝ่ายได้ แต่ถ้าเกิดความขัดแย้งขึ้น การสนับสนุนไม่ว่าจากข้างไหนก็จะไม่เต็มที่นัก
ซึ่งไม่ว่าไทยจะดำเนินนโยบายแบบใด ก็เป็นโจทย์ที่รัฐบาลใหม่ของนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินนโยบายอย่างไรที่จะสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศไทย ท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่แต่ละขั้วอำนาจของโลกพยายามผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ อยู่ข้างตน และการไม่เลือกใครนันมีที่ยืนในสังคมโลกน้อยลงทุกที
โฆษณา