26 ส.ค. 2023 เวลา 11:30 • ธุรกิจ

4ช่องต้องรู้ EP.36 : สี่ระดับการควบคุมงานของหัวหน้างาน

ในยุคของ AM [Automated Machinery] เครื่องจักรอัตโนมัติได้มาทำงานแทนคนงานที่ต้องทำงานซ้ำ ๆ ปริมาณงานมาก ๆ ต่อวัน อย่างมีคุณภาพสม่ำเสมอและไม่ต้องพักมาได้นานมากแล้ว
แต่ในยุค AI [Artificial Intelligence] ที่เครื่องจักรอัตโนมัติมี “มันสมอง” ติดมาด้วย มันจะเข้ามาทำงานแทนผู้บริหาร หรือหัวหน้างานในโรงงาน หรือแม้แต่ใน สำนักงาน ได้หรือไม่ เราต้องลุ้นกัน
สำหรับองค์กรที่ยังใช้หัวหน้าหรือผู้ควบคุมงานที่เป็นมนุษย์อยู่นั้น เราจะมีข้อแนะนำให้พวกเขา ทำหน้าที่ควบคุมงานอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร? ใน EP.36 นี้มีคำตอบครับ
.
🔎 แนวคิดในการกำหนด “ระดับการควบคุมงานที่เหมาะสม”
เราสามารถใช้ตารางสี่ช่อง มาจัดแบ่งระดับความเสี่ยงของงานออกเป็นสี่ระดับ เพื่อให้หัวหน้างานสามารถใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาในการทำหน้าที่ผู้ควบคุมงานอย่างมีประสิทธิภาพ ได้โดยผิดพลาดน้อยที่สุด
(1) แกนตั้ง: ระดับทักษะหรือระดับฝีมือของผู้ปฏิบัติงาน
(2) แกนนอน: ระดับความซับซ้อนของงานที่พวกเขาต้องทำ
ก็จะเกิดสี่สถานการณ์ของระดับความเสี่ยงของงาน ที่หัวหน้างานต้องจำแนกให้ออกและควบคุมงานอย่างเหมาะสม ดังนี้
.
.
🔎 สี่ระดับความเสี่ยงของงาน
🔹 [1]: “งานที่เสี่ยงผิดพลาดน้อย” [No Risk Job]
ได้แก่งานที่มีความซับซ้อนน้อยแต่ผู้ปฏิบัตงานมีทักษะสูงมาก งานแบบนี้ “เกือบไม่ต้องควบคุม” เพราะผู้ปฏิบัติงาน จะทำงานแบบมี Self-Quality Control อยู่แล้ว (หากหัวหน้าเข้าไปควบคุมมาก อาจกลายเป็นการสร้างความรำคาญให้แก่ผู้ปฏิบัติงานได้โดยใช่เหตุ)
🔹 [2]: “งานที่เสี่ยงผิดพลาดได้บ้าง” [Low Risk Job]
ได้แก่งานที่มีความซับซ้อนน้อยและผู้ปฏิบัติงานก็มีทักษะไม่มากนัก งานแบบนี้ “ควรควบคุมบ้าง” ตามบริบทของงาน ยกเว้น กรณีเป็นงานวิกฤติ [Critical Job] ที่ผิดครั้งเดียว แต่ส่งผลกระทบสูงมาก เช่น งานพิมพ์และส่งข้อความสั้น SMS [Short Message] ในบริษัท Telecom ซึ่งเป็นงานที่จัดว่าง่ายไม่ซับซ้อน แต่ถ้าพิมพ์ผิด มันส่งออกไปหนึ่งข้อความอาจส่งไปถึงล้านผู้รับ ถือว่าเป็นงานที่มีผลกระทบสูงมาก
แบบนี้ ต้องควบคุมคุณภาพให้ดีมาก ๆ ในระดับ ZD หรือ Zero Defects เลยก่อนทำการกดส่งออกไป เพราะ SMS ที่ส่งออกไปแล้วนั้น ไม่สามารถดูดคืนกลับมาได้ หรือ ทำการ Unsend แบบใน ไลน์ [LINE Application] อย่างในปัจจุบันนี้ ต้องใช้วิธีส่งข้อความฉบับแก้ไขตามออกไป ซึ่งความผิดพลาดนั้นมันได้เกิดแบบถาวรไปแล้ว
🔹 [3]: “งานที่เสี่ยงผิดพลาดปานกลาง” [Moderate Risk Job]
ได้แก่งานที่มีความซับซ้อนมากและผู้ปฏิบัติงานก็มีทักษะสูงมากเช่นกัน งานแบบนี้ “ต้องควบคุมอย่างเหมาะสม” ความเข้มงวดขึ้นกับลักษณะของกิจการ และ ช่วงเวลาหรือขั้นตอนการดำเนินงาน เพราะว่างานในแต่ละขั้นตอน อาจต้องใช้ระดับความเข้มในการควบคุมที่ไม่เท่ากัน หัวหน้างานที่มีประสบการณ์หรือผ่านการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ก็จะทำได้อย่างเหมาะสมและไม่พลาด
🔹 [4]: “งานที่เสี่ยงผิดพลาดสูง” [High Risk Job]
ได้แก่งานที่มีความซับซ้อนมากแต่ทว่าผู้ปฏิบัติงานมีทักษะน้อย งานแบบนี้ “ต้องควบคุมงานอย่างเข้มงวด” เพราะว่าบ่อยครั้งที่หัวหน้างาน “แทบจะต้องเข้าไปทำงานแทนลูกน้อง ในบางขั้นตอนกันเลยทีเดียว” บางท่านอาจถามว่า มีองค์กรใดที่จะปล่อยให้เกิดสถานการณ์แบบเคสนี้ขึ้นมาจริง ๆ หรือ ?
ขอตอบว่า เราอาจพบเจอได้ทั่วไปในทุกกิจการ ที่ใช้คนงานจำนวนมากและงานมีระดับความซับซ้อนของงานที่ต่างกันมาก เพราะบ่อยครั้ง ทีมผู้ชำนาญงาน อาจยกทีมลาออก และบริษัทก็ยังไม่มีการสร้าง successors เอาไว้เลย จำเป็นต้องสรรหาหรือโอนย้ายพนักงานเข้าใหม่ที่อาจมีระดับทักษะต่ำกว่าคนเดิมมาก มาทำงานแทนในทันที เพราะงานนั้นรอไม่ได้ จึงเกิดกรณีดังกล่าวนี้ขึ้น เป็นต้น
.
.
🔎 ข้อชวนคิด
ขอขยายคำว่า การควบคุมงาน ในทางปฏิบัติ เรามีมิติที่ต้องควบคุมงานอยู่ 2 มิติหรือเป้าหมายการควบคุม [Targets of Control] ได้แก่
(1) การควบคุมกระบวนการปฏิบัติงาน [Process Control] ที่หัวหน้างานต้องควบคุมดูแลทั้ง 5 Key Process Parameters [4M+1E] คือ Man, Machine, Materials, Methods & Environment
(2) การควบคุมที่ผลผลิต [Output or Product Control] จากกระบวนการ เรามักเรียกว่า “การควบคุมคุณภาพ” หรือ QC [Quality Control] ซึ่งหัวหน้างานในฝ่ายผลิตต้องดูแลอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีหน่วยงานควบคุมคุณภาพ [QA or QC Department] เข้ามาตรวจสอบคุณภาพอีกชั้นหนึ่งเสมอ
สี่ช่องต้องรู้ใน EP นี้ มุ่งเน้นที่ การทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการผลิต / กระบวนการดำเนินงาน ของหัวหน้างานในฝ่ายผลิตเป็นสำคัญ
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ องค์ความรู้เบื้องต้นในหลักสูตรฝึกอบรมระดับหัวหน้างาน [Supervisor Training Program] ส่วนเรื่องการทำหน้าที่ของพนักงาน QC ที่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ไม่ใช่เป้าหมายหลักที่เราพูดถึงกันใน EP นี้ครับ
แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไปนะครับ
โฆษณา