Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Mission To The Moon
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
28 ส.ค. 2023 เวลา 05:30 • ความคิดเห็น
ค้นหา Self-Worth ในตนเอง เพราะคุณค่าของเรา อยู่ที่ตัวเราเป็นคนให้
เราผูกติด “คุณค่า” ของตัวเองไว้กับอะไร?
บางคนอาจรู้สึกตนเองไร้ค่า เพราะโดนคนที่รักดูถูก
บางคนอาจรู้สึกตนเองไร้ประโยชน์ เพราะโดนหัวหน้าตำหนิ
บางคนอาจรู้สึกไร้ความสามารถ เพราะไม่เคยประสบความสำเร็จอย่างหวัง
บางคนอาจด้อยค่าตนเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะชีวิตของเราไม่ดีเท่าคนอื่น
เมื่อลองทบทวนความรู้สึกของตนเองดู เราเคยสังเกตเห็นบ้างหรือเปล่า? หลายครั้งเวลาที่เรารู้สึกไร้ค่ามักมาจากต้นเหตุเดิมๆ อาจเป็นทั้งคะแนนสอบ ผลการแข่งขัน ยอดเงินในบัญชี ยอดกดไลก์ คอมเมนต์สบประมาทจากคนแปลกหน้า คำพูดทิ่มแทงใจของคนรู้จัก และแม้กระทั่งสายตาของคนรอบข้าง
พอจะสังเกตเห็นแล้วหรือยัง? ว่าต้นเหตุเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่ง “ภายนอก”
เรามักจะเผลอใช้ต้นเหตุเดิมๆ ที่มาจาก “ภายนอก” เหล่านี้ วัดคุณค่า “ภายใน” ของตัวเองโดยที่เราไม่รู้ตัว ทั้งที่เราต่างรู้ว่าการวัดคุณค่าของตนเองด้วยสายตาคนอื่น ช่างเป็นเรื่องที่ไม่น่าทำเสียเลย แต่สมองกลับด้อยค่าตัวเราเองอยู่ทุกครั้งที่เราโดนคำวิจารณ์
เราอาจสงสัยว่าแท้จริงแล้ว “คุณค่า” ที่ใครต่างก็คอยพูดถึงนั้นหมายความว่าอะไร? และวัดจากอะไรกันแน่? คำตอบของคำถามนี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน เพราะหากเทียบกับสิ่งของ คุณค่าคงขึ้นอยู่กับผู้ซื้อและผู้ครอบครอง ทำให้บางครั้งเพชรก็อาจมีค่าเท่ากับก้อนหิน
แต่เราควรมอบให้คนอื่นเป็นคนกำหนดคุณค่าของเราเหมือนกับสิ่งของหรือเปล่า? ถ้าหัวหน้าคิดว่าเราทำงานไม่ได้เรื่อง เราจะต้องอดหลับอดนอนทำงานล่วงเวลา “เพื่อเปลี่ยนความคิด” ของเขาเลยหรือเปล่า? เพราะถึงแม้ว่าวันหนึ่งหัวหน้าจะเปลี่ยนมายอมรับเราแล้ว แต่ถ้าเราทำพลาดอีกครั้ง หัวหน้าก็อาจจะเปลี่ยนความคิดที่มีต่อเรา “อีกครั้ง” อยู่ดี
คุณค่าในตัวเอง (Self-Worth) จึงไม่ควรผูกกับคนอื่นหรือสิ่งนอกกาย
สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (The American Psychological Association) อธิบายว่า ความรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง (Self-Worth) ที่ไม่ผูกกับเงื่อนไขใด คือความรู้สึกว่าตนเอง “คู่ควร” กับการมีชีวิตอยู่ คู่ควรที่จะอยู่ในสังคมนี้ คู่ควรในความรักและความสัมพันธ์นี้
ดร. โรมานอฟ (Sabrina Romanoff) นักจิตวิทยาคลินิกที่จบการศึกษาจาก Harvard Medical School เธอยกตัวอย่าง 4 คำถามที่จะช่วยตอบเราว่า เรารู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองมากขนาดไหน?
1. เราชอบ เคารพ และให้คุณค่าตัวเองอย่างไร?
2. เราจะเลือกคำไหนอธิบายความเป็นตัวเราให้คนแปลกหน้าฟัง?
3. เวลาที่จมอยู่กับความคิดของตนเอง เรามักคิดกับตัวเองในแง่บวก แง่ลบ หรือก้ำกึ่งทั้งสองอย่าง?
4. เราเชื่อว่าเรามีค่าพอสำหรับความรัก ความเคารพ และความเห็นใจที่คนอื่นมีให้หรือเปล่า?
คนที่รู้สึกถึงคุณค่าในตนเองสูง มีแนวโน้มที่จะมีทั้งความมั่นใจ (Self-Confidence) ความภาคภูมิใจในตนเอง (Self-Esteem) และสามารถรับมือกับความคิดแย่ๆ อย่างการสงสัยในตนเอง (Self-Doubt) ได้ดี เพราะการรู้สึกถึงคุณค่าในตนเองจะทำให้เราเคารพทั้งความสมบูรณ์แบบ ความซับซ้อนและความบกพร่องของตัวเราเอง
ทำอย่างไรเราจึงจะ “รู้สึก” ถึงคุณค่าในตนเอง?
“จงเห็นคุณค่าในตนเอง” เป็นคำพูดสั้นๆ ที่ดูเรียบง่าย แต่ความเป็นจริง หากการเห็นคุณค่าในตนเองเป็นเรื่องที่ง่ายดายและรวดเร็วเพียงชั่วข้ามคืนขนาดนั้น ทุกวันนี้เราคงไม่ต้องมานั่งกังวลว่าคนอื่นจะใช้สายตาแบบไหนตัดสินเรา
หนทางการรู้สึกถึงคุณค่าในตนเองเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทั้งความพยายามและระยะเวลาถึงจะก่อเป็นรูปร่าง แต่ถ้าก้าวแรกของเราเริ่มจากการเชื่ออย่างสนิทใจว่า “คุณค่าของเราอยู่ที่ตัวเรา” แล้ว ก้าวต่อไปอีก 5 ข้อข้างล่างนี้ก็จะง่ายขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน
1. ให้อภัยตัวเอง
เราอาจจมปลักอยู่กับความรู้สึกไร้คุณค่า เพราะเรายังคงโกรธและผิดหวังกับความผิดพลาดในอดีต เราอาจเคยทำเรื่องเสียหน้าแล้วทำให้คนอื่นเดือดร้อน อาจเคยพูดจาที่ทำร้ายจิตใจคนอื่น จนตอนนี้ก็ยังรู้สึกผิดไม่หาย และอาจเคยได้รับคำวิจารณ์รุนแรงจากคนที่นับถือ จนตัวเรายังเก็บคำพูดของเขากลับมาด่าทอตัวเองซ้ำๆ
วิธีให้อภัยตนเองเพื่อปลดปล่อยตัวเราออกจากการโทษตนเองและคนอื่นคือ เราต้องนึกย้อนถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เรายังฝังใจอีกครั้ง รับรู้ว่าตอนนั้นรู้สึกอย่างไรบ้าง และยอมรับความรู้สึกทั้งหมดที่เราเคยเผชิญ เช่น ในตอนนั้นเราบริหารงานผิดพลาดไปจนทำให้ลูกค้าเสียเวลา หัวหน้าของเราจึงไม่พอใจและต่อว่าเราอย่างหนัก เรารู้สึกเสียใจ รู้สึกอับอาย และรู้สึกโกรธที่หัวหน้าใช้คำพูดรุนแรง
หลังจากนั้น ให้เราลองทบทวนว่า เราได้ “เรียนรู้” จากเหตุการณ์นั้นอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้นซ้ำอีก สุดท้ายให้เราบอกตัวเองด้วยน้ำเสียงที่จริงใจและเมตตาว่า “ฉันให้อภัยเธอแล้วนะ”
2. ยอมรับความคิดและตัวตนที่แท้จริงของเรา
เราอยู่ในสังคมที่มีเสรีภาพทั้งทางความคิดและคำพูด เราอาจเคยได้รับแต่ข้อความที่วิจารณ์ทั้งเสื้อผ้า ทรงผม หน้าตา รูปร่าง ทัศนคติ และตัวตนทั้งหมดของเรา จนเราเกิดสงสัยว่าตนเอง “ไม่ดี” อย่างที่เขาว่าหรือเปล่า?
เหรียญมักมีสองด้านเสมอ บางทีคนที่วิจารณ์อาจจะทั้งพูดถูกและพูดผิด ทว่าคนที่สามารถ “เลือก” ว่า ตัวตนไหนควรเปลี่ยนหรือไม่ควรเปลี่ยนคือ “ตัวเราเอง”
หากตัวตนที่แท้จริงของเราไม่ใช่ตัวตนที่มีเจตนาทำร้ายใครและไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เราก็ไม่ได้ทำผิดอะไรหากอยากเป็นตัวของตัวเองดูบ้าง
3. ให้กำลังใจตนเองตลอดเวลา
ชีวิตของเราไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดเวลา เราต้องเจอกับเรื่องทุกข์ใจและอุปสรรคอีกมากมาย สิ่งที่เราต้องการที่สุดบางครั้งอาจไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหา แต่เป็นใครสักคนที่คอยให้กำลังใจและปลอบโยนเรา
แต่หากเราพึ่งพาพลังบวกจากคนอื่นเพียงอย่างเดียว เราอาจลำบากเมื่อสถานการณ์บีบให้เราต้องใช้ชีวิตตามลำพัง ดังนั้นในบางเวลาตัวเราเองก็ต้องคอยให้กำลังใจและปลอบโยนตัวเราเองเช่นกัน
ครั้งต่อไปที่เรากำลังเผชิญกับความเจ็บปวด ฝึกโอบรับความรู้สึกเหล่านั้น และปลอบโยนใจของเราด้วยตัวเราเอง ให้วางมือไว้บนอก กอดตัวเอง และพูดจาใจดีกับตนเองดูบ้าง เช่น “ฉันเข้าใจเธอนะ” “ฉันเห็นว่าตอนนี้เธอรู้สึกอย่างไร” “ฉันจะเป็นกำลังใจให้เธอเสมอ”
4. ดูแลพัฒนาตนเองทั้งร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา
การดูแลตนเองด้วยการรักษาสุขภาพ ดูแลเรื่องความงาม หมั่นพัฒนาตนเองและทำกิจกรรมที่ชอบ จะช่วยส่งเสริมให้เรารู้สึกดีกับตนเองและรู้สึกว่าเรามีคุณค่า
งานวิจัยยังพบว่า กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับร่างกายนั้น สัมพันธ์กับความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง โดยเฉพาะการออกกำลังกาย เพราะทำให้เราต้องท้าทายตนเองตลอดเวลา ทั้งการยกน้ำหนักเพิ่มขึ้น ออกกำลังนานขึ้น หรือแม้แต่การตื่นขึ้นมาออกกำลังกายก็ยังสามารถช่วยเรียกความมั่นใจในตนเองได้ ไม่เพียงเท่านั้น สุขภาพกายที่ดียังส่งเสริมสุขภาพจิตให้ดีได้ด้วย
5. รักษาความสัมพันธ์ที่ดีไว้แน่นๆ
ความรู้สึกไร้ค่ามักทำให้เราปลีกตัวเองออกจากคนอื่น เพราะเรามักคิดว่าตัวเราแปลกแยก ไม่คู่ควรกับความรักและความเอาใจใส่จากคนอื่น เราจึงพยายามกีดกันตัวเองออกจากทุกความสัมพันธ์ และยิ่งทำให้เรารู้สึกไร้ค่ามากยิ่งขึ้นไปอีก
การต่อสู้กับความรู้สึกไร้ค่าบางทีอาจต้องการแรงสนับสนุน เพราะในทุกครั้งที่เราเจอกับปัญหาแล้วหันกลับมามองข้างหลัง เราจะยังเห็นคนที่คอยรักและคอยให้กำลังใจยืนอยู่ข้างๆ สิ่งนี้จะช่วยเตือนสติเราได้ว่า อุปสรรคที่เราเผชิญอยู่ไม่ได้ทำให้เรามีคุณค่าน้อยลงเลย
ในเวลาที่แม้แต่เรายังไม่เห็นคุณค่าของตนเอง พวกเขากลับมองเห็นคุณค่าในตัวเรา เราจึงควรรักษาคนที่รักเราและเรารักเขาอย่างไร้เงื่อนไขเช่นนี้เอาไว้ให้ดี
หนทางแห่งการรู้สึกถึงคุณค่าในตนเอง อาจทำให้เราต้องเผชิญกับความเจ็บปวดที่พยายามหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด เราอาจค้นพบตัวตนที่แท้จริงของเราที่ไม่พิเศษอย่างที่เคยคาดหวัง เราอาจต้องหวนกลับไปรู้สึกแย่กับเรื่องในอดีตอีกหลายครั้ง จนกว่าเราจะให้อภัยตนเองได้ เราอาจต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวเพียงลำพัง เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองมีคุณค่าพอที่จะยืนเคียงข้างคนอื่น
แต่ความพยายามเพื่อตามหาและบ่มเพาะคุณค่าของตนเอง ไม่ใช่ความพยายามที่เสียเปล่า วันที่เราเริ่มรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า จะเป็นวันที่เรารู้สึกเป็นอิสระจากสิ่งภายนอก และรับรู้ถึงความสุขที่เกิดจากคุณค่าภายในของเราเอง
อ้างอิง
- How to cultivate a sense of unconditional self-worth : Adia Gooden PHD -
https://bit.ly/3OrOaNt
- How to Improve Your Self-Worth and Why It's Important : Sanjana Gupta -
https://bit.ly/3OHQKA6
- Self-Worth: How to Build Self-Worth : MasterClass -
https://bit.ly/3KvOZDP
#selfdevelopment
#selfworth
#selflove
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
พัฒนาตัวเอง
จิตวิทยา
missiontothemoon
18 บันทึก
20
16
18
20
16
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย