28 ส.ค. 2023 เวลา 03:43 • ข่าวรอบโลก

ญี่ปุ่นทยอยปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงทะเลแล้ว ย้ำค่ารังสีผ่านมาตรฐานเข้มงวด

Tokyo Electric Power Company (TEPCO) เจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เปิดเผยว่า บริษัทได้เริ่มปล่อยน้ำที่ได้รับการบำบัดและเจือจาง ลงสู่ทะเลแล้ว โดยในรอบแรกจะปล่อยน้ำเป็นเวลา 17 วัน และจะใช้เวลารวมทั้งสิ้น 30 ปีในการปล่อยน้ำทั้งหมด
1
รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่า การปล่อยน้ำลงสู่ทะเลเป็นขั้นตอนที่จำเป็นสำหรับการรื้อถอนและปิดตัวโรงไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเมื่อปี 2011 โดยน้ำที่ปนเปื้อนจะได้รับการบำบัดก่อนปล่อยลงสู่ท้องทะเล จะต้องมีแร่ทริเทียมหลงเหลืออยู่ในระดับไม่เกิน 1 ใน 7 ของมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้สำหรับน้ำดื่ม
3
จากรายงานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) Rafael Mariano Grossi อธิบดีของทบวงฯ ยืนยันว่า การปล่อยน้ำที่ได้รับการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลนั้น ส่งผลกระทบในทางรังสีวิทยาต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมน้อยมาก โดยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีดังกล่าวได้รับการบำบัดแล้วด้วยระบบ Advanced Liquid Processing System (ALPS) ซึ่งเป็นระบบที่ทำการปั๊มและกรองนำแร่กัมมันตรังสีออกมา
3
ก่อนที่การปล่อยน้ำจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 24 ส.ค. 2023 ที่ผ่านมา ทางผู้บริหาร TEPCO ได้แถลงในช่วงเช้าว่า จากผลการวิเคราะห์ปริมาณทริเทียมที่พบในน้ำ พบว่าอยู่ระหว่าง 43-63 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ในขณะที่มาตรฐานของรัฐบาลกำหนดไว้ที่ 60,000 เบ็กเคอเรลต่อลิตร และ TEPCO เองได้มีการกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 1,500 เบ็กเคอเรลต่อลิตร
4
Robert H. Richmond ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางทะเล Kewalo แห่งมหาวิทยาลัยฮาวายออกมาให้ความเห็น ถึงรายงานแผนการปล่อยน้ำของทางญี่ปุ่นว่า เป็นรายงานที่ไม่รอบคอบและเร็วเกินไปที่จะสรุป และกังวลว่าการปล่อยน้ำปนเปื้อนที่บำบัดแล้ว ไม่เพียงพอที่จะลดผลกระทบต่อสัตว์น้ำใต้ท้องทะเล ในขณะที่แร่ทริเทียมเองจะตกค้างและสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหารทั้งพืช สัตว์ และแบคทีเรีย
3
ในขณะที่ Canadian Nuclear Safety Commission ชี้ว่า แร่ทริเทียมนั้นอ่อนกำลังเกินกว่าจะซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ แต่หากบริโภคแร่ทริเทียมเข้าไปในปริมาณสูงมากก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
1
แม้อัตราการคายรังสีออกมาจากต้นกำเนิดรังสีของน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจะอยู่ในระดับที่น้อยมากเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐาน แต่ก็มีบางประเทศที่ออกมาคัดค้านอย่างหนัก โดยเฉพาะจีนที่ประกาศว่าจะสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดจากญี่ปุ่น เพื่อปกป้องสุขภาพของผู้บริโภคชาวจีน เช่นเดียวกับฮ่องกง ที่มีคำสั่งออกมาในลักษณะเดียวกัน
1
ขณะที่ไต้หวันได้ออกแถลงการณ์ผ่านกระทรวงการต่างประเทศซึ่งระบุว่า กระทรวงฯ เคารพผู้เชี่ยวชาญในประเด็นทางด้านวิทยาศาสตร์ ไต้หวันขอให้ญี่ปุ่นปล่อยน้ำในทางที่เป็นไปตามมาตรฐานของนานาชาติ
ทางด้านฟิลิปปินส์ก็ออกมาแสดงออกถึงความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และรับทราบถึงการที่ผู้เชี่ยวชาญของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เข้ามาตรวจสอบความปลอดภัยแล้ว พร้อมกับยืนยันว่าจะคอยจับตาดูผลกระทบต่อทะเลในภูมิภาค โดยยึดจากมุมมองทางวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริง
สำหรับประเทศไทย สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทยออกมาระบุว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่กัมมันตภาพรังสีจะส่งผลกระทบต่อชายฝั่งทะเลของประเทศไทย แต่การตรวจสอบอาหารทะเลจากชายฝั่งของประเทศไทยจะยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจะต้องมีการตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น จะดำเนินการเพื่อประกันความปลอดภัยของผู้บริโภคไทยเช่นเดียวกัน
1
#สำนักข่าวทูเดย์
#MakeTomorrowTODAY
โฆษณา