28 ส.ค. 2023 เวลา 12:00 • ธุรกิจ

เรามักเห็นภาพข้อมือมหาเศรษฐี คนร่ำรวยต้องประดับไปด้วยนาฬิกาอย่าง Patek Phillipe

โดยเฉพาะเมื่อวีคที่ผ่านมามีภาพของท่านอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร นั่งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวพร้อมภาพ Patek Phillipe Ref. 6300 มูลค่า 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวพันล้านบาทไทย
Patek Phillipe คือหนึ่งในนาฬิกาของบริษัทสวิตซ์เก่าแก่กว่า 180 ปี และเกือบ 200 ปีในแวดวงธุรกิจ Patek Phillipe คือนาฬิกาทันสมัย มีความเป็นตัวเอง และเป็นหนึ่งในชื่อของแบรนด์นาฬิกาสุดหรูของโลก
จึงเป็นที่มาของบทความ Bnomics ในวันนี้กับ Patek Phillipe นาฬิกามูลค่าเกินร้อยล้านที่ครองใจเหล่ามหาเศรษฐีทั่วโลก
ก้าวแรก Patek Phillipe ต้องย้อนกลับไปปี 1836 เมื่อ Antoine Norbert de Patek อดีตทหารม้าและ François Czapek ช่างทำนาฬิกา
ทั้งคู่เป็นผู้อพยพชาวโปแลนด์และได้พบกันหลังรอดชีวิตจากการจราจลทางการเมืองและก่อตั้งบริษัทร่วมกันชื่อ Patek, Czapek & Cie ในปี 1839 แต่ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ด้วยปัญหามากมายทำให้ทั้งคู่แยกทางกันในปี 1845
ไม่นาน Patek ได้เจอพาร์ทเนอร์คนใหม่อย่าง Adrien Philippe ช่างนาฬิกาชาวฝรั่งเศส เขาตกลงเป็นหุ้นส่วนร่วมกันในปี 1851 ภายใต้ชื่อบริษัทใหม่ว่า Patek, Philippe and Cie
จุดที่ทำให้ Patek Phillippe ไม่เหมือนเดิมตลอดกาลเริ่มในปี 1851 ในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์และอุตสาหกรรมระดับโลก (The Great Exhibition) ณ ลอนดอน เป็นโอกาสดีที่จะได้โชว์สินค้าให้ทั่วโลกได้เห็นและเป็นก้าวแรกในการขยับขยายธุรกิจ
Patek Phillippe ไม่เพียงแต่แสดงสินค้า “นาฬิกาพกพา” นวัตกรรมใหม่ล่าสุดเท่านั้น หากแต่ได้ผลิตนาฬิกาพกพาขนาดเล็กให้แด่ “พระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษ” ด้วยนาฬิกากลไกแบบ Keyless Steam-winding System หรือ ระบบไขลานและตั้งเวลาของนาฬิกาด้วยเม็ดมะยมแทนกุญแจ สร้างความฮือฮาให้ทั่วโลกเป็นอย่างมาก
กล่าวได้ว่าหาก Phillipe เป็นมันสมองผู้คิดค้นพัฒนากลไกใหม่ ๆ ของนาฬิกา ในขณะที่ Patek ทำหน้าที่เป็นแขนขาเพื่อแสดงผลงานล้ำค่าให้ทั่วโลกได้เห็น
Patek เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อขยายแบรนด์ให้เติบโตและเป็นที่รู้จักในระดับโลก การไปเยือนครั้งนี้ทำให้เขารู้จักกับ Charles Lewis Tiffany และร่วมมือกับ Tiffany & Co.
ซึ่งปัจจุบัน Tiffany & Co. เป็นผู้ค้าปลีกรายเดียวในอเมริกาที่มีชื่อปรากฏบนหน้าปัด Patek Philippe
ไม่ได้มีแต่เพียงความหรูหราเท่านั้น แต่ Phillipe ให้ความสำคัญกับเทคนิคในการผลิตนาฬิกาเสมอ ในปี 1863 เขาได้ผลิตนาฬิกาพกเรือนแรกที่มีคุณสมบัติแบบ Tourbillon เพื่อต้านแรงโน้มถ่วง ช่วยให้เวลาแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการคิดค้นสปริงช่วยลดแรงตึงเมื่อไขลานจนสุดอีกด้วย
ถึงแม้ทั้งคู่จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่หัวใจสำคัญของแบรนด์ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกใหม่ ๆจนถึงปัจจุบัน
ซึ่ง Patek Philippe ได้จดสิทธิบัตรมากมายตลอดหลายปีที่ผ่าน ดังนี้
  • ปี 1881 - เครื่องควบคุมความแม่นยำ
  • ปี 1889 - กลไกปฏิทินถาวร
  • ปี 1902 – โครโนกราฟคู่เรือนแรก
  • ปี 1949 – สมดุลของไจโรแมกซ์
  • ปี 1953 – กลไกไขลานอัตโนมัติ ขนาด 12-600at
  • ปี 1959 – นาฬิกาบอกเขตเวลา
  • ปี 1977 – เครื่อง Caliber อัตโนมัติ 240 บางเฉียบ
  • ปี 1986 – ปฏิทินถาวรฆราวาสพร้อมวันที่ถอยหลัง
  • ปี 1996 – กลไกปฏิทินประจำปี
ในปี 1877 Antoine Patek เสียชีวิตลง Phillippe จึงพาลูกชายของเขา Emile Joseph เข้ามาดูแลธุรกิจของครอบครัว
จนกระทั่งปี 1894 Phillippe เสียชีวิต Joseph ลูกชายจึงทำงานอย่างหนักเพื่อรักษามรดกที่ทั้ง Patek และ Phillippe ผู้เป็นบิดาได้สร้างเอาไว้
เขาได้ร่วมงานกับ Henry Graves Jr. นายธนาคารชาวอเมริกันผู้หลงรักนาฬิกาแบรนด์นี้เขาอย่างจัง และได้ออกนาฬิการุ่นโด่งดังอย่าง Henry Graves Supercomplication ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในนาฬิกาที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมาด้วย 24 ฟังก์ชั่น 2 หน้าปัดและชิ้นส่วน 920 ชิ้น
ในปี 1932 Patek Phillippe ถูกซื้อโดยครอบครัว stern จากการเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในสงครามโลกครั้งที่ 1
โดยครอบครัว Stern ได้เปิดตัวคอลเลกชั่นใหม่ เช่น Calatrava, Ellipse, Nautilus, Aquanaut และ Twenty~4 และยังคงผลักดัน Patek Philippe ไปสู่จุดสูงสุดของมาตรฐานการผลิตนาฬิกา
ปัจจุบัน ครอบครัว Stern ยังเป็นเจ้าของแบรนด์นี้นับตั้งแต่ปี 1932 ปัจจุบัน Thierry Stern (ประธาน) Philippe Stern (ประธานกิตติมศักดิ์) และ Claude Peny (CEO)
ผู้เขียน: ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
โฆษณา