28 ส.ค. 2023 เวลา 12:05 • ธุรกิจ

โมเดลธุรกิจ JPARK ทำที่จอดรถ จนจะ IPO เข้าตลาดหุ้นไทย

- ลานจอดรถสยามสแควร์
- ลานจอดรถศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
- ลานจอดรถในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ลานจอดรถในสนามบินขอนแก่น และสนามบินอุบลราชธานี
- อาคารจอดรถ สถานี MRT คลองบางไผ่
รู้ไหมว่าถ้าเราเอารถไปจอดในลานจอดเหล่านี้ เราจะเป็นลูกค้าของบริษัทชื่อว่า JPARK
2
ธุรกิจของ JPARK อธิบายง่าย ๆ คือการ บริหารที่จอดรถ
ปีที่แล้ว มีรายได้ 455 ล้านบาท กำไร 55 ล้านบาท
และตอนนี้กำลังจะ IPO เข้าตลาดหุ้นไทย
ธุรกิจที่จอดรถของ JPARK เขาทำอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
JPARK ชื่อเต็ม ๆ คือ บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งเมื่อปี 2541 โดย คุณสันติพล เจนวัฒนไพศาล
ในช่วงแรก JPARK ยังไม่ได้ทำธุรกิจที่จอดรถ
แต่บริษัททำธุรกิจให้บริการออกแบบ และศึกษาความเป็นไปได้ ทางวิศวกรรมในการลงทุน (Engineering Feasibility) ให้กับโครงการก่อสร้างสนามบินในพื้นที่ต่างจังหวัด ให้แก่กรมท่าอากาศยาน
ซึ่งต้องบอกว่า ปัจจุบันบริษัทไม่ได้ทำธุรกิจที่ว่านี้แล้ว
จุดเปลี่ยนสำคัญคือในปี 2545 คุณสันติพล เห็นโอกาสในธุรกิจการให้บริการที่จอดรถ
เพราะเห็นว่าในกรุงเทพมหานคร มีปริมาณคนใช้รถยนต์จำนวนมาก แต่พื้นที่จอดรถมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ
บวกกับการอำนวยความสะดวกในการจอดรถ โดยหลายที่ที่เปิดให้บริการอยู่ ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพที่ดีเพียงพอ
โดยบริษัทเลือกทำเลเปิดให้บริการที่จอดรถแห่งแรกที่ ตลาดสดสามย่าน บนถนนพญาไท
ซึ่งคุณสันติพล เข้าไปเจรจากับเจ้าของตลาด โดยเสนอตัวเข้ารับบริหารพื้นที่จอดรถให้แก่พ่อค้าแม่ค้า และผู้ที่มาใช้บริการในตลาด
โดยจะขอคิดค่าบริการที่จอดรถเป็นค่าตอบแทน ซึ่งเจ้าของตลาดก็ตอบตกลง
ซึ่งหลังจาก JPARK ได้เข้ามาบริหารพื้นที่ การจอดรถในพื้นที่ตรงนั้นก็เป็นระเบียบเรียบร้อย
ทำให้ได้รับความไว้วางใจ ในการที่จะเข้าไปบริหารพื้นที่จอดรถ ในสถานที่ต่าง ๆ ในเวลาต่อมา
1
คำถามคือ โมเดลธุรกิจของ JPARK ในวันนี้ เป็นแบบไหน ?
บริษัทบอกว่า มีรูปแบบธุรกิจ 3 แบบหลัก ๆ คือ
1. ธุรกิจให้บริการที่จอดรถ
JPARK จะทำการเช่าหรือสัมปทานพื้นที่จอดรถ ลานจอดรถ หรืออาคารจอดรถ แล้วเข้าไปบริหารพื้นที่ เพื่อจัดเก็บค่าจอดรถ แล้วจ่ายค่าเช่าหรือค่าสัมปทานให้กับเจ้าของพื้นที่
นอกจากนั้นในบางพื้นที่ JPARK จะร่วมลงทุนกับเจ้าของพื้นที่จอดรถ ลานจอดรถ หรืออาคารจอดรถ เพื่อจัดเก็บค่าจอดรถ โดยแบ่งรายได้ร่วมกัน (Revenue sharing)
2. ธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ
JPARK รับจ้างบริหารงานสถานที่จอดรถ โดยครอบคลุม ประเด็นสำคัญ เช่น
- ออกแบบ จัดการ และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร
- ออกแบบระบบการรักษาความปลอดภัย
- การจัดเก็บข้อมูล รวบรวมสถิติ และวิเคราะห์ข้อมูลการจอดรถ
- ทำระบบการจัดเก็บเงิน ป้องกันเงินรั่วไหล
- งานดูแลรักษาความสะอาดของสถานที่จอดรถ
1
3. ธุรกิจให้คำปรึกษาและรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ
ให้คำปรึกษาการลงทุน การจัดทำและบริหารพื้นที่จอดรถ เช่น
- การวางแผนและออกแบบจุดติดตั้งระบบ และอุปกรณ์เทคโนโลยี
- ควบคุมทางเข้า-ออก
- การวางแผนอัตรากำลัง และการรักษาความปลอดภัย
- วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้พื้นที่ และกำหนดอัตราค่าบริการ
- วิเคราะห์ต้นทุนการจัดสร้าง และการบริการ
ซึ่งปัจจุบัน JPARK มีลานจอดภายใต้การดูแลกว่า 60 ลานจอด จำนวนกว่า 25,000 ช่องจอด
ตัวอย่างพื้นที่จอดรถที่ JPARK ให้บริการ และรับจ้างบริการในตอนนี้ ก็อย่างเช่น
- ลานจอดรถสยามสแควร์
- ลานจอดรถศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
- ลานจอดรถในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ลานจอดรถในสนามบินขอนแก่น และสนามบินอุบลราชธานี
- อาคารจอดรถ สถานี MRT คลองบางไผ่
- ลานจอดรถโรงพยาบาลวชิรพยาบาล
- ลานจอดรถศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
- ลานจอดรถเสนานิคม
- ลานจอดรถประดิพัทธ์
- ลานจอดรถทองหล่อ 11
- ลานจอดรถหัวลำโพง
- ลานจอดรถเสาชิงช้า
โดยมีจุดสังเกตง่าย ๆ คือลานจอดที่ JPARK ดูแล จะมีกรวยสีฟ้าเขียนว่า J•PARK ตั้งอยู่ในพื้นที่
แล้ว JARK ทำรายได้มากแค่ไหน ?
เรามาดูผลประกอบการ 3 ปีล่าสุด ของ บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน)
ปี 2563 รายได้ 286 ล้านบาท กำไร 6 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 243 ล้านบาท กำไร -11 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 455 ล้านบาท กำไร 55 ล้านบาท
โดยสัดส่วนรายได้ปี 2565
- ธุรกิจให้บริการที่จอดรถ 61%
- ธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ 18%
- ธุรกิจให้คำปรึกษาและรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ 15%
- รายได้อื่น 6%
ซึ่งรายได้อื่น ก็อย่างเช่น JPARK มีการให้คนภายนอกมาเช่าพื้นที่บางส่วนในโซนลานจอด ไปเปิดเป็นกิจการร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ หรืออื่น ๆ
ทั้งหมดนี้ก็คือ โมเดลธุรกิจของ JPARK ที่ทำธุรกิจบริการลานจอดรถมาแล้วกว่า 20 ปี
มีรายได้กว่า 450 ล้านบาท
4
และที่น่าสนใจคือตอนนี้ JPARK ก็กำลังอยู่ในขั้นตอน
ยื่นจดทะเบียน เตรียม IPO เข้าตลาดหุ้น mai ในไทยด้วย..
โฆษณา