29 ส.ค. 2023 เวลา 08:47 • หนังสือ

#การตัดเค้กที่ทำนายว่าใครจะกลายเป็นอาชญากร

หนังสือเขียนโดยอดีตนักจิตแพทย์เด็กที่ผันตัวมาเป็นเจ้าหน้าที่นิติจิตวิทยาในสถานพินิจ เริ่มทำงานโดยการตรวจสภาพจิตใจของเด็กที่ขึ้นชื่อว่า ’ดื้อและก้าวร้าวที่สุด’ของสถานพินิจ สิ่งที่พบกลับเป็นเด็กชายตัวผอม ที่มีคำตอบโต้เพียงแค่ ’ครับ’ กับ ’ไม่ใช่ครับ’ ด้วยความที่ไม่ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมและไม่คืบหน้า จึงลองทำแบบทดสอบตรวจสภาพจิตโดยการวาดรูปตามแบบ แต่ภาพที่ได้กลับบิดเบี้ยวและไม่เป็นไปตามแบบ อาจแปลได้ว่า ’เขาอาจจะมองโลกบิดเบี้ยวไปซะหมด’
เด็กในสถานพินิจบางคนที่ทำความผิดมาซ้ำๆมีภาพลักษณ์ต่างจากที่คาดคิดไว้มาก บางคนเป็นมิตรและขี้อ้อน แต่สิ่งที่พวกเขามีเหมือนๆกันเลยคือ ทักษะการมองเห็น ทักษะการฟัง และทักษะการจินตนาการต่ำมาก
- การบวกลบเลขง่ายๆไม่ได้
- การวาดรูปตามลายเส้นง่ายๆไม่ได้
- แม้แต่พูดทวนประโยคสั้นๆก็ทำไม่ได้
สิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เรียนไม่ดีแล้ว ยังทำให้เกิดการรับสารและเข้าใจแบบผิดๆ มองสถานการณ์รอบตัวไม่ออกจนทำให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่นและกลายเป็นกระทำความผิดในที่สุด
ฮุคหลักของหนังสือเล่มนี้คงจะเป็นชื่อของหนังสือ
’เหล่าอาชญากรเด็กที่ตัดเค้กไม่ได้’
เรื่องที่น่าตกใจของผู้เขียนในขณะทำงานบำบัดเยาวชน คงจะเป็นการที่เด็กเหล่านี้ ’ตัดเค้กไม่ได้’
เขาลงมือวาดรูปวงกลมลงในกระดาษ ก่อนจะบอกเด็กชายว่า "ตรงนี้มีเค้กอยู่ก้อนนึง ถ้าแบ่งกิน3คนเท่าๆกันควรจะตัดเค้กยังไง" เด็กชายทำการขีดแบ่งครึ่งก้อนวงกลมทันที หลังจากนั้นก็จะนิ่งอึ้ง งงว่าอีกส่วนนึงจะทำอย่างไรดี พวกเขาลองกันอยู่หลายครั้ง แต่ผลลัพธ์ก็ได้ดังเดิม
"ผมตกใจมาก ทำไมโจทย์ง่ายๆแค่นี้ถึงทำไม่ได้ แค่ตัดให้เป็นโลโก้รถเบนซ์ก็ได้แล้วแท้ๆ"
เราจะเห็นวิธีตัดเค้กแบบนี้ได้บ้างจากหมู่เด็กชั้นประถมหรือเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ทำให้นึกภาพออกเลยว่าเด็กเหล่านี้จะต้องเผชิญกับชีวิตที่ล้มเหลวมามากเพียงไหน และการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมคงเป็นเรื่องลำบากมาก
สิ่งสำคัญคือ ’ปัญหาพวกนี้ไม่เคยถูกมองเห็นและไม่มีคนหยิบยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ’ จนสุดท้ายประพฤติตัวไม่เหมาะสมและต้องมาอยู่ในสถานพินิจที่ก็ไม่มีใครเข้าใจพวกเขาเหมือนกัน
นอกจากนี้หนังสือจะนำเราไปสำรวจพฤติกรรมส่วนใหญ่ของอาชญากรเด็ก นำเสนอประเด็นสำคัญๆเช่น การที่พวกเขาไม่อาจสำนึกผิดได้, ฆาตกรที่บอกว่าตัวเองใจดี, ความรู้สึกอยากลองฆ่าคน, เลือกทำอนาจารเฉพาะกับเด็กเล็กๆ, ความผิดทางเพศที่ทำไปเพราะระบายความเครียด
เวลาที่เด็กเริ่มมีปัญหา ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะพาไปโรงพยาบาลเพื่อทำแบบทดสอบด้านสติปัญญาหรือที่เรียกว่าแบบทดสอบIQ โดยไม่ได้มีการตรวจวัดทักษะความสามารถด้านอื่นๆที่มีความสำคัญด้วย กล่าวได้ว่าหากเด็กคนนี้สอบวัดระดับIQแล้วต่ำกว่า70 สามารถบอกได้ว่ามีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กคนนี้จะได้รับการเข้าใจและการดูแลเป็นพิเศษ แต่ในขณะที่เด็กไอคิวเฉลี่ยสูงกว่า70 จะถือว่าไม่มีปัญหาด้านสติปัญญา และถูกมองว่าก็แค่เด็กคนนี้เป็น ’เด็กขี้เกียจ’ หรือ ’เป็นที่นิสัยและครอบครัวเลี้ยงมาไม่ดี’
รายงานส่วนใหญ่ของเด็กที่ถูกส่งตัวมาสถานพินิจ จะมีจุดร่วมคล้ายๆกัน เช่นไม่ถนัดเรื่องความสัมพันธ์, ควบคุมอารมณ์ไม่ได้, Self Respect ต่ำ ส่วนสิ่งที่จะทำให้เด็กเหล่านั้นมีความรู้สึกอยากพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองคือ ’การรู้ว่าตัวเราเป็นคนแบบไหน’ มนุษย์จะอยากแก้ไขข้อบกพร่องของตัวเองก็ต้องรู้สึกได้ก่อนว่า เราทำอะไรไม่ดีลงไปบ้าง, ทำไมเราถึงเป็นคนแบบนี้กัน
เมื่อเริ่มคิดได้ว่าอยากเป็นตัวเองที่ดีขึ้น จะทำให้มนุษย์เกิดแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดความคิดอยากขโมยของอย่างนึง และมีบางอย่างทำให้คิดได้ว่าการขโมยของเป็นสิ่งที่ผิด เราจะรู้สึกไม่พอใจตัวเองและจะเป็นจุดที่ทำให้หยุดความคิดอยากขโมยได้อัตโนมัติ
แล้วสิ่งใดที่จะทำให้มนุษย์หันมามองพฤติกรรมของตัวเอง??
ก็เช่นการถูกจับตามอง หรือมองเห็นตัวเองในกระจก ถ้าทฤษฎีนี้ถูกต้อง ก็แค่ส่งสัญญาณให้เด็กรู้ว่า ’ครูจับตาดูเธออยู่’ หรือให้เด็กทำงานร่วมกันโดยต่างฝ่ายต่างจับตามองกัน เด็กจะเกิดความตระหนักในตัวเอง และเมื่อได้รับการอบรมดูแลอย่างใกล้ชิดและมีแบบอย่างที่ดีแล้วก็จะเริ่มประเมินตัวเองดีขึ้น
สุดท้ายผู้เขียนได้แนะนำวิธีฝึกกระตุ้นการรู้คิด Cognitive Training ไว้ด้วยในบางส่วน การฝึกกระตุ้นการรู้คิดมุ่งพัฒนาไปที่ 5 องค์ประกอบหลัก ความจำ การรับรู้ ความตั้งใจจดจ่อ ภาษา และการให้เหตุผลการตัดสินใจ ส่วนใหญ่แล้วจะใช้วิธีที่พูดง่ายๆคือเกมฝึกสมองและสมาธิที่ใช้กระดาษกับดินสอหรือการปรบมือ ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมแบบลงลึกคงต้องตามไปอ่านใน Kogutore Miru Kiku Sozo Suru Tame No Ninchi Kino Kyoka - หนังสืออีกเล่มของคุณนักเขียน ที่จะอธิบายและแนะนำวิธีฝึกกระตุ้นการรู้คิดไว้อย่างละเอียด
จบแล้วเล่มนี้แนะนำเลยค่ะ ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️
เล่มนี้ให้ความรู้และความเข้าใจพฤติกรรมและแนวโน้มที่อาจทำให้เด็กคนนึงก่ออาชญากรรมขึ้นได้ว่าเรื่องมันเริ่มต้นจากจุดเล็กๆนี่เอง อาจจะมีเรื่องตรรกะและการอธิบายในด้านจิตวิทยาและแพทย์เอาไว้บ้าง แต่รวมๆเล่มนี้ทำให้เราคนอ่านเข้าถึงจิตใจและมุมมองของผู้มีข้อบกพร่องทางสติปัญญาได้เป็นอย่างดีค่ะ
ผู้เขียน : มิยางุจิ โคจิ
ผู้แปล : โยซุเกะ
สำนักพิมพ์ : วีเลิร์น
#หนังสือน่าอ่าน #แนะนำหนังสือ #รีวิวหนังสือ #หนังสือเล่มนั้นที่ร้านนี้
โฆษณา