1 ก.ย. 2023 เวลา 14:02 • สิ่งแวดล้อม

อยากช่วยแต่จน เมื่อปัญหา ‘โลกร้อน’ แก้ได้ด้วยเงิน

ผลสำรวจระบุ ประชาชนตระหนักดีว่า “ภาวะโลกร้อน” เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องแก้ไข แต่จะทำเฉพาะเรื่องที่ไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตมากจนเกิน พร้อมเผยสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมราคาสูงเกินไปจนไม่มีเงินที่จะซื้อ
ผลสำรวจระบุ ประชาชนตระหนักดีว่า “ภาวะโลกร้อน” เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องแก้ไข แต่จะทำเฉพาะเรื่องที่ไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตมากจนเกิน พร้อมเผยสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมราคาสูงเกินไปจนไม่มีเงินที่จะซื้อ
เป็นที่รู้กันดีทั่วโลกว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ใน “ภาวะโลกเดือด” (Global Boiling) หลังจาก ที่สหประชาชาติได้ประกาศว่า เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงสุดทำลายสถิติโลก และต่อจากนี้ไปการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติจะรุนแรงยิ่งขึ้น หมดยุคภาวะโลกร้อน เข้าสู่ยุคโลกเดือดโดยสมบูรณ์ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างไม่ลังเล และไม่รีรอที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภาวะโลกร้อน
ที่ผ่านมาประชาชนทั่วโลกต่างตื่นตระหนกกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ และให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ปฏิบัติมาตรการลดโลกร้อนกันอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ ทั้งลดการใช้พลาสติก ใช้จักรยานแทนรถยนต์ ประหยัดน้ำ คัดแยกขยะ ปลูกต้นไม้ ใช้เสื้อผ้ามือสอง บางคนยอมเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยการเลิกกินเนื้อสัตว์ แต่ดูเหมือนว่าไม่ได้ช่วยให้โลกดีขึ้นเท่าไหร่
แถมหลายมาตรการในยุคหลังเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตพวกเขามากเกินไป จนคนทั่วไปเริ่มสนับสนุนนโยบายเหล่านี้ลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ในไทยเท่านั้น แต่ผู้คนในหลายประเทศในยุโรปที่พัฒนาแล้ว และเอเชียก็เริ่มไม่สนใจแล้วเช่นกัน
📌 ค่าใช้จ่ายลดโลกร้อนแสนแพง
ชาวเอเชียและยุโรปต้องการช่วยลดโลกร้อนอย่างเต็มที่ แต่พอเห็นราคา “สินค้าอีโค” ถึงกับชะงัก และตัดสินใจไม่ซื้อ เพราะสินค้าเหล่านี้มีราคาสูงกว่าสินค้าปรกติมาก แค่สินค้าทั่วไปก็แทบจะไม่พอกับค่าแรงอยู่แล้ว
รายงานของ Alibaba บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน ระบุว่า 73% กลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคในยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย จำนวน 14,000 คน มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะร่วมรักษาโลกและใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ตลาดสินค้าอีโคในเอเชียมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 87% ชาวเอเชียมีแรงจูงใจและความสนใจในการค้นหาข้อมูลเพื่อสร้างการบริโภคที่ยั่งยืนมากขึ้นที่สุด โดยเฉพาะผู้บริโภคในฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย มีแนวโน้มพร้อมรับข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนมากกว่าประเทศอื่น ๆ
นอกจากนี้ ผู้บริโภคทุกกลุ่มล้วนตั้งคำถามว่าสินค้ารักษ์โลกที่วางขายอยู่ในปัจจุบัน เป็นสินค้าอีโคจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่การฟอกเขียว (Greenwashing) รวมถึงเชื่อว่าการที่บริษัทต่าง ๆ ผลิตสินค้าที่อ้างว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้บริษัทสามารถขายสินค้าในราคาแพงได้ ซึ่งประเทศที่ผู้บริโภคตั้งคำถามดังกล่าวมากที่สุดคือ ไทย (56%) ฝรั่งเศส (48%) และสิงคโปร์ (47%)
ด้วยแนวการตั้งคำถามเช่นนี้ ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกจนคิดไปว่าผลิตภัณฑ์รักษ์โลกมีราคาแพงเกินไป จนไม่สามารถปกป้องโลกได้ โดย 84% ของผู้บริโภคชาวไทย ระบุว่าสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศมีราคาแพงจนคนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ สินค้าหลายชิ้นแพงกว่าค่าแรงขั้นต่ำด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์สินค้ารักษ์โลกยังถือว่าเป็นภาวะโลกเดือด สินค้าจึงผลิตมาในจำนวนที่ไม่มากเท่ากับสินค้าทั่วไป ทำให้ต้นทุนในการผลิตจึงมีสินค้าราคาแพงกว่าสินค้าปรกติ
📌 ไม่สนับสนุนนโยบายลดโลกร้อนที่ทำให้ชีวิตวุ่นวาย
YouGov บริษัทสำรวจตลาดและวิเคราะห์ข้อมูลทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนใน 7 ประเทศที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในระดับรัฐ เช่น ห้ามใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ห้ามใช้รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงแนวคิดของแต่บุคคลที่มีต่อภาวะโลกร้อน ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี เดนมาร์ก สวีเดน สเปน และอิตาลี
ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ของผู้ตอบแบบสอบถามยินดีที่จะทำตามมาตรการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขามากนัก แต่ถ้าหากมากเกินขีดจำกัดของพวกเขาอาจจะไม่ทำตาม แต่พวกเขามีความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อมวลมนุษยชาติ
1
นอกจากนี้ 76-85% ของผู้ตอบแบบสอบถามในแต่ละประเทศเห็นว่าการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น หากทุกคนช่วยกัน แต่ผู้คนส่วนใหญ่กลับไม่อยากทำตามมาตรการของรัฐที่ยุ่งยากหรือส่งผลกระทบต่อชีวิตมากเกินไป เช่น เยอรมนีไม่สนับสนุนนการปลูกต้นไม้ของรัฐ ส่วนคนเดนมาร์กไม่อยากทำตามนโยบายห้ามใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว
ด้านคนอิตาลีไม่เห็นด้วยกับมาตรการเก็บภาษีการสะสมไมล์บิน สวนทางกับ 6 ประเทศที่เหลือที่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ ขณะที่ชาวอังกฤษไม่เห็นด้วยกับมาตรการให้ผู้คนบริโภคเนื้อสัตว์และนมวัวได้เพียง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ถ้าถามความเห็นส่วนตัวว่าจะยอมเลิกกินเนื้อและนมหรือไม่ ทุกประเทศต่างเห็นตรงกันว่าไม่มีแนวคิดจะเลิกกิน
รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้รัฐบาลยุโรปหลายประเทศออกกฎหมายเกี่ยวกับการใช้รถยนต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อสอบถามประชาชนใน 7 ประเทศ พบว่า พวกเขายังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า แต่เลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะ หรือไม่ก็เดิน หรือหันไปขี่จักรยานมากกว่า
พวกเขายังไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีน้ำมันและเชื้อเพลิงต่าง ๆ และกฎหมายห้ามการผลิตและจำหน่ายรถยนต์เบนซินและดีเซลโดยสิ้นเชิง เมื่อถามถึงเห็นด้วยหรือไม่ที่ให้ยกเลิกใช้รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล มีเพียงผู้ตอบแบบสอบถามจากสเปนและอิตาลีเท่านั้นที่เห็นด้วย
2
📌 ช่วยได้เท่าที่ช่วย
นอกจาก 2 สาเหตุหลักนี้แล้ว ประชาชนตาดำ ๆ หลายคนเริ่มรู้สึกว่าแม้พวกเขาจะพยายามทำตามาตรการที่ภาครัฐออกมา หรือหาวิธีลดโลกร้อนมากเพียงใด แต่ดูเหมือนจะไม่สามารถช่วยโลกให้ฟื้นกลับมาดีขึ้นได้เลย เพราะเพียงกำลังของพวกเขาไม่สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ภาครัฐและอุตสาหกรรมต่างหาก ที่ควรมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมมากกว่านี่
ยิ่งสหประชาชาติประกาศว่าตอนนี้เข้าสู่ภาวะโลกเดือดแล้ว ทำให้หลายคนยอมแพ้ ไม่สนใจว่าโลกจะเป็นอย่างไร ปล่อยไปตามยถากรรม หันมาสนใจปัญหาปากท้องของตนเองมากกว่า โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำ ที่แค่ทำงานหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็หมดวันแล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปสนใจปัญหาโลกร้อน
ถึงจะบอกว่า ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องของทุกคน แต่ว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คนธรรมดาปล่อยออกมา จะไม่เท่ากับการเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ทของมหาเศรษฐีในหนึ่งเที่ยวบิน หรือการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ ประชาชนจึงทำเท่าที่ทำได้ แบบที่ไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อนมากนัก ครั้นจะให้เปลี่ยนวิถีชีวิต หันไปใช้สินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า หรือหันมากินอาหารออร์แกนิก ก็ดูเป็นเรื่องเกินตัวไปมาก ไม่มี “เงิน” เพียงพอจะไปซื้อหาสิ่งเหล่านั้น
โฆษณา