29 ส.ค. 2023 เวลา 16:30

5 วิธี ที่จะช่วยให้การคุยเล่น เป็นเรื่องง่าย

5 วิธี ที่จะช่วยให้การคุยเล่น เป็นเรื่องง่าย จากหนังสือ ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง
1. เทคนิครับลูก
ถ้าจะพูดถึงการพูดคุย จุดเริ่มต้นที่สำคัญก็คือ “การฟัง” นั่นเอง ถ้าเราตั้งใจฟังและเข้าใจคู่สนทนา ทั้งสิ่งที่เขาพูดหรืออาจจะไม่ได้พูดออกมา ก็จะเป็นผลดีกับการสนทนาต่อๆไป รู้ว่าจะตั้งคำถามต่อไปอย่างไรเพื่อให้บทสนทนาไปต่อได้ ช่วยให้การคุยเล่นออกมาราบรื่นมากขึ้น หลักการที่ในหนังสือพูดถึงก็คือ
  • การตั้งใจฟังแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม สิ่งที่ต้องฟัง ไม่ใช่แค่คำพูด แต่รวมถึงน้ำเสียง สายตา ท่าทางในขณะที่เขาพูดถึงเรื่องนั้นๆ
  • ปรุงแต่งสักนิด ถ้าเรานั่งฟังเฉยๆโดยไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้อะไรเลย ก็คงไม่ต่างกับการนั่งคุยกับต้นไม้หรือก้อนหิน ลองแสดงอารมณ์ออกมาบ้าง อาจจะรีแอคออกมาแบบเวอร์นิดๆก็ได้ (เวอร์ได้แต่ห้ามโกหกนะ)
2. เทคนิคส่งลูก
หัวใจหลักก็คือการตั้งคำถาม ที่จริงแล้วหากเราสามารถรับลูกได้ดี เราจะพอคาดเดาสถานการณ์ได้ว่าควรจะตั้งคำถามไปในทิศทางไหน เพื่อให้บทสนทนานั้นราบรื่น โดยคำถามที่ดีควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
  • ตอบง่าย ถ้าเราโยนคำถามที่ยากเกินไป จะสร้างภาระให้กับคู่สนทนาได้ บรรยากาศอาจดูไม่ผ่อนคลายเท่าที่ควร
  • ถามเรื่องที่อีกฝ่ายสนใจ หรือหากไม่รู้จริงๆ อาจลองโยนหินถามทาง ใช้คำถามทั่วๆไปดูก่อนก็ได้
  • คำถามที่ “แคบ” และมีความเฉพาะเจาะจง จะตอบได้ง่ายกว่า เช่น เปลี่ยนจากคำถามว่า ช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง เป็น ช่วงนี้เล่นเกมอะไรบ้าง
ยกตัวอย่างคำถามที่มีลักษณะสามข้อนี้ เช่น
  • วันนี้กินข้าวแล้วหรือยัง
  • ตัดผมมาหรอ
  • ชอบตัวละครไหนในการ์ตูนเรื่องนี้
  • เล่าเรื่องทัศนศึกษาสมัยเรียน ม.ปลายให้ฟังหน่อยสิ
3. เลี้ยงลูก
เทคนิคนี้เน้นการพูดของตัวเราเอง บางครั้งการพูดคุยที่มีผู้พูดอยู่เพียงคนเดียวอาจจะดูน่าเบื่อเกินไป หรืออาจมีบางจังหวะที่สถานการณ์บังคับให้เราต้องพูดเรื่องของตัวเองบ้าง แต่ถ้าคู่สนทนากำลังสนุกกับการพูด เราก็แค่ปล่อยให้เขาเลี้ยงลูกต่อไปก็ได้
4. คาแรกเตอร์
คาแรคเตอร์ หรือบุคลิกภาพ หรือก็คือตัวตนของเรานั่นเอง การค้นพบว่าตัวเองมีคาแรคเตอร์แบบไหน ยอมรับ และรู้ว่าจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไรนั้นส่งผลดีกับการพูดคุยมากๆ
และจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของการสนทนาได้ด้วย เช่นคนที่มีคาแรคเตอร์ดูเป็นเด็ก และดูเป็นผู้ใหญ่ บรรยากาศในการสนทนาก็จะแตกต่างกัน
ถึงอย่างไรก็ขอให้ค้นพบคาแรคเตอร์ที่เป็นตัวเองจริงๆ ไม่แนะนำให้สร้างหรือสวมบทบาทที่ไม่ใช่ตัวเอง
5. กลยุทธ์ตัวตลก
เทคนิคนี้อาจจะดูละเอียดอ่อนไปบ้างเล็กน้อย มันคือการหยิบเอาปมด้อยของตัวเองขึ้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ตัวอย่างง่ายๆที่พบเห็นได้บ่อยๆ เช่นคนที่ตัวเตี้ย คนอ้วนหรือคนหัวล้าน บางคนถูกล้อแล้วโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ในขณะที่บางคนกลับหัวเราะไปด้วยได้อย่างสนุกสนาน
จะเห็นได้ว่าประเด็นเดียวกัน แต่บรรยากาศในวงสนทนานั้นต่างกันชัดเจน
ตัวอย่างในหนังสือที่น่าประทับใจมากๆ คือรุ่นพี่ของผู้เขียนที่เป็นคนตาบอด แต่กลับเล่นมุกตลกเกี่ยวกับการมองไม่เห็นของตนเองแล้วเรียกเสียงหัวเราะในวงสนทนาได้ เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนปมด้อยมาเป็นจุดแข็งได้อย่างดี
การปล่อยให้ผู้คนมาหยอกล้อบ้างนั้น ช่วยให้บรรยากาศในวงสนทนาดีขึ้นได้มนุษย์เรามักจะรู้สึกสนิทสนมกับคนที่พูดจาเล่นหัวกันได้มากกว่าคนที่แตะต้องไม่ได้เลย
โฆษณา