Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนเกิร์ล
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
30 ส.ค. 2023 เวลา 11:14 • ธุรกิจ
ทำไม แบรนด์เสื้อผ้าเวียดนาม กำลังฮิตในหลายประเทศ
กระแส “แบรนด์เสื้อผ้าเวียดนาม” กำลังเป็นไวรัลในกลุ่มสาว ๆ สายแฟชั่น ที่แม้แต่ไอดอล เซเลบริตี ทั้งในเอเชียและยุโรป ยังหันมาเลือกใส่แบรนด์จากเวียดนามออกงาน จนกลายเป็นไวรัลในหลายประเทศ
แล้วอะไรทำให้แบรนด์เสื้อผ้าจากเวียดนามเหล่านี้ ดังเป็นพลุแตก
ถึงขั้นต้องบินไปซื้อ มีคนรับหิ้ว ไปจนถึงเปิดร้านให้เช่าชุดจากแบรนด์เวียดนามโดยเฉพาะ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
เวียดนามแค่ปากซอย.. ไม่เกินจริงสำหรับสาว ๆ สายแฟชั่น
เพราะที่นั่นกำลังเป็นหมุดหมายให้คนรักแฟชั่น บินไปช็อปปิงเสื้อผ้ากันเป็นว่าเล่น
ไม่ว่าจะเป็น แบรนด์ Fanci Club, Mamavirus, L SEOUL, Huelley Rose, ONONMADE, tingoan, Vintage Gout และอีกสารพัดแบรนด์ ที่กลายเป็นไวรัลบนโซเชียลมีเดีย
1
ทำให้เวียดนาม ขึ้นแท่นประเทศที่น่าจับตาด้านแฟชั่นดิไซน์ ที่ไม่ใช่แค่ฐานการผลิตเสื้อผ้าให้แบรนด์ดังอย่างที่เราคุ้นเคย
แล้วอะไร ทำให้แบรนด์เสื้อผ้าจากเวียดนามฮิตขนาดนี้ ?
- การยอมรับจากเหล่าเซเลบริตี
พลังสำคัญที่ทำให้แบรนด์แฟชั่นจากเวียดนาม กลายเป็นกระแสที่ใคร ๆ ก็อยากตามรอย คือเหล่าไอดอลระดับโลกที่เลือกสวมใส่แบรนด์จากเวียดนามกันหลายประเทศ
8
ไม่ว่าจะเป็นสาว ๆ ไอดอลเกาหลีอย่างโรเซ่และจีซู จากวง BLACKPINK ที่สวมชุดจาก “Fanci Club” ในมิวสิกวิดีโอเพลง Pink Venom
หรือลิซ่า BLACKPINK ที่สวมชุดของแบรนด์นี้ ออกทัวร์คอนเสิร์ต "Born Pink World Tour"
แถมสายฝอ อย่าง Bella Hadid, Olivia Rodrigo, Hailey Bieber ก็เลือกสวมแบรนด์ “Fanci Club”
หรือแม้แต่ศิลปินไทยอย่าง โบกี้ไลอ้อน ก็เคยสวมใส่ชุดจากแบรนด์ “L Seoul” ขึ้นคอนเสิร์ตเช่นกัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความมีชื่อเสียงทำให้เซเลบริตีเหล่านี้ เป็นไม้แขวนเสื้อชั้นดี ที่ไม่ใช่แค่สวมใส่ชุดออกมาได้ดูสวย จนอยากใส่ตามแล้ว
2
แต่การที่พวกเธอสวมใส่ ยังสะท้อนว่าแบรนด์เหล่านี้ได้รับความไว้วางใจจากคนดัง ที่ปกติมักจะเลือกสวมใส่เสื้อผ้าแบรนด์หรู ออกงาน
1
สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น ก็คือกระแสในโซเชียลมีเดีย ทั้งอินฟลูเอนเซอร์และคนทั่วไป ที่ต่างรีวิวบอกต่อกันแบบปากต่อปาก ก็กระตุ้นให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “Bandwagon effect” หรือปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่ทำให้คนแห่ใช้ตาม เพราะไม่อยากตกเทรนด์
- ดิไซน์ และการตัดเย็บดี ในราคาที่จับต้องได้
แค่เทรนด์อย่างเดียวไม่พอที่จะดันให้เสื้อผ้าแฟชั่นเวียดนาม มาไกลขนาดนี้
แต่ปัจจัยที่ทำให้สาว ๆ ยอมจ่ายเงินซื้อชุดราคาหลักพันบาทอยู่เรื่อย ๆ ก็คือคุณภาพที่น่าพอใจ ทั้งในแง่ของการตัดเย็บ
รวมไปถึงดิไซน์ที่มีเอกลักษณ์ค่อนข้างชัดเจน คือดิไซน์ที่จัดจ้าน ซึ่งมีตั้งแต่ลุคหวาน ๆ แอบเซ็กซี่ ไปจนถึงลุคเปรี้ยวเข็ดฟัน หรือลูกเล่นเยอะ ชนิดที่มองปุ๊บ รู้ปั๊บเลยว่าเรากำลังสวมเสื้อผ้าแบรนด์เดียวกับเซเลบริตีอยู่
ในปัจจุบัน ดิไซน์ของเสื้อผ้าส่วนใหญ่ จะเน้นไปทาง “Balletcore” หนึ่งในเทรนด์แฟชั่น Y2K ยุคใหม่ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากนักบัลเลต์ โดยนำเอาองค์ประกอบของริบบิ้นหรือโบมาตกแต่งกับเสื้อผ้า
ซึ่งแบรนด์แฟชั่นเวียดนามหลายแบรนด์มีดิไซน์ที่สอดคล้องกับเทรนด์ดังกล่าว จึงเป็นผลทำให้ตอนนี้เวียดนามกลายเป็นแหล่งช็อปเสื้อผ้า Y2K ชั้นดีของสาว ๆ เลยก็ว่าได้
ที่สำคัญก็คือ “ราคา” ที่มีตั้งแต่หลักร้อย หลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่นบาท
ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่หลากหลาย เมื่อเทียบกับแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นลักษณะคล้ายกัน ในประเทศอื่น ๆ ที่จะมีราคาสูงกว่านี้
ทว่าที่ทำแบบนี้ได้ ก็เพราะเวียดนามมีทักษะและฐานโรงงานผลิตเสื้อผ้า สำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่นอยู่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการเป็นฐานรับจ้างผลิตสินค้าให้แบรนด์ดังระดับโลก มามากมาย
1
จึงกลายเป็นแต้มต่อของแบรนด์ท้องถิ่น ให้สามารถหาผู้ผลิตที่ชำนาญและเหมาะสมได้ไม่ยาก แถมยังส่งมอบสินค้าที่ราคาขายไม่สูงมาก ให้ผู้บริโภคได้ เนื่องจากควบคุมต้นทุนการผลิตได้ในระดับหนึ่ง
- นำเสนอ อย่างน่าสนใจ
แบรนด์เสื้อผ้าเวียดนามที่กำลังพูดถึง ณ ที่นี้ ล้วนเป็นแบรนด์ที่รุกมาร์เก็ตติงในโซเชียลมีเดีย ทำให้เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างอย่างรวดเร็ว
โดยวิธีการนำเสนอไม่ใช่แค่การขายแบบตรง ๆ เท่านั้น แต่ยังนำเสนอสตอรีแบรนด์ หรือชูตัวตนของดิไซเนอร์ ที่ทำให้เกิดการจดจำ
อย่างเช่น Fanci Club ที่มีจุดเด่นจากการดิไซน์เสื้อผ้าส่วนใหญ่ จากวัสดุ Deadstock และอัปไซเคิลวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว มาใช้กับเสื้อผ้า ซึ่งสอดคล้องไปกับเทรนด์ความยั่งยืน ที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมาก ๆ อีกด้วย
1
- การสนับสนุนอย่างจริงจัง จากรัฐบาลเวียดนาม
ฟากของรัฐบาลของเวียดนามเอง ก็ส่งเสริมธุรกิจภายในประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแคมเปญ "คนเวียดนาม ให้ความสำคัญกับการใช้สินค้าเวียดนาม"
เข้ามาช่วยกระตุ้นให้คนเวียดนาม เห็นถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์แบรนด์ท้องถิ่นมากขึ้น และโน้มน้าวให้เชื่อมั่นในสินค้า และภูมิใจที่จะใช้ จนมีส่วนช่วยให้ต่างประเทศมองเห็นได้ไม่ยาก
จากหลาย ๆ ปัจจัยที่สนับสนุนในตอนนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ตลาดเสื้อผ้าที่เป็นแบรนด์ของเวียดนาม ได้รับความนิยมในแวดวงแฟชั่นแบบสุด ๆ
โดย Statista คาดการณ์รายได้ในตลาดแฟชั่นของเวียดนามโดยรวม จะเติบโตสูงถึง 65,900 ล้านบาทภายในปี 2566 เลยทีเดียว
เรียกได้ว่าปรากฏการณ์นี้ อาจกำลังสลัดภาพจำของเวียดนาม จากฐานการผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นให้แบรนด์ใหญ่ เช่น ZARA, Uniqlo สู่ประเทศที่เต็มไปด้วยเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์ของตัวเอง ที่กำลังได้รับการยอมรับในระดับสากล จนเขย่าตลาดแฟชั่นโลก ให้ลืมภาพจำแบบเดิม ๆ และหันมามองแบรนด์จากเวียดนามใหม่อีกครั้ง
เรื่องนี้ก็น่าคิด
เดิมทีแฟชั่นไทยคาดหวังว่าจะไปถึงจุดนั้นในระดับโลก ที่ผ่านมาก็จะทำได้เพียงแค่บางแบรนด์ และเป็นกระแสสั้น ๆ
แต่พอมารู้ตัวอีกที
กลับกลายเป็นว่าคู่แข่งของเราอย่างเวียดนาม ได้ก้าวไปถึงจุดนั้น ก่อนประเทศไทย เรียบร้อยแล้ว..
References:
-
https://www.scmp.com/magazines/style/news-trends/article/3217025/meet-duy-tran-rising-vietnamese-designer-fanci-club-his-y2k-inspired-frocks-are-worn-celebs
-
https://bazaarvietnam.vn/local-brand-fanci/
-
https://www.statista.com/outlook/dmo/ecommerce/fashion/vietnam
-
https://metalmagazine.eu/en/post/interview/fanci-club
ธุรกิจ
เศรษฐกิจ
25 บันทึก
41
52
25
41
52
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย