4 ก.ย. 2023 เวลา 02:29 • ธุรกิจ

The Cheesecake Factory เชนร้านอาหาร 60,000 ล้าน

มีจุดเริ่มต้นมาจาก “สูตรชีสเค้กแจกฟรี” ในหนังสือพิมพ์
หลายครั้ง การเริ่มต้นสร้างธุรกิจใหญ่ ๆ ต้องเริ่มจากการวางแผนที่รอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแบรนดิง, การตลาด หรือการพัฒนาสินค้า
แต่บางครั้ง ธุรกิจใหญ่ก็เกิดจากการ “สังเกต” สิ่งเล็ก ๆ ใกล้ตัว ที่ไม่ได้ซับซ้อน เหมือนกับร้าน The Cheesecake Factory ที่มีจุดเริ่มต้นมาจาก “สูตรชีสเค้กแจกฟรี” บนคอลัมน์เล็ก ๆ ในหนังสือพิมพ์ ที่หลายคนมองข้าม
โดยปัจจุบัน The Cheesecake Factory กลายเป็นเชนร้านอาหารระดับโลก ที่มีมูลค่ามากถึง 60,000 ล้านบาท และมีสาขาทั้งในและนอกสหรัฐฯ
เรื่องราวของร้าน The Cheesecake Factory น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
The Cheesecake Factory คือเชนร้านอาหารสไตล์ Casual Dining จากประเทศสหรัฐฯ
ซึ่งร้านนี้ ถือเป็นร้าน Casual Dining ที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับต้น ๆ ในสหรัฐฯ และเป็นร้านโปรดของเซเลบริตีชื่อดังระดับโลกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น Blake Lively, Kris Jenner หรือ Drake
1
โดยจุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้ เกิดขึ้นจากคุณ Evelyn Overton หญิงสาวชาวอเมริกัน ที่ได้ค้นพบ “สูตรชีสเค้กแจกฟรี” บนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์
และนี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เพราะหลังจากที่เธอได้ทดลองทำ และปรับสูตรชีสเค้กนั้น จนกลายเป็นสูตรต้นฉบับของเธอเอง
ความพยายามของเธอก็ไม่สูญเปล่า..
เพราะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากคนรอบตัว ทำให้เธอตัดสินใจเปิดร้านเบเกอรีเล็ก ๆ ขึ้น ที่เมืองบ้านเกิด
แต่การเปิดร้านเบเกอรี ต้องทุ่มเทเวลาอย่างมาก จนคุณ Evelyn เริ่มรู้สึกว่า เธอมีเวลาให้กับลูก ๆ น้อยลง ทำให้สุดท้าย ก็ต้องล้มเลิกธุรกิจร้านเบเกอรีไป
หลังจากนั้น เมื่อลูก ๆ ของเธอเริ่มโตขึ้น คุณ Evelyn และสามี ก็ย้ายมาอยู่ที่เมือง Los Angeles
และตัดสินใจทำตามความฝันอีกครั้ง โดยการเปิดร้านเบเกอรี ในชื่อ “The Cheesecake Factory” ในปี 1972
1
ต้องบอกก่อนว่าในตอนนั้น The Cheesecake Factory ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในเมือง Los Angeles
ทำให้คุณ David ลูกชายของคุณ Evelyn ต้องมาช่วยดูแลธุรกิจอย่างเต็มตัว และเริ่มตั้งเป้าหมายธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น กว่าการเป็นแค่ร้านขายของหวานธรรมดา ๆ
จนกระทั่งปี 1978 คุณ David ก็ได้ขยับขยายธุรกิจร้าน The Cheesecake Factory ไปที่เมือง Beverly Hills โดยเปิดตัวร้านอาหารอย่างเต็มรูปแบบ ที่มีทั้งเมนูของหวาน และอาหารประเภทอื่น ๆ ด้วย
ต้องบอกว่า การเพิ่มเมนูอาหารของร้าน มีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นเรื่อย ๆ
จนปัจจุบัน The Cheesecake Factory มีทั้งเมนูของคาวและของหวานหลายสัญชาติ รวมกว่า 235 เมนู
ไม่ว่าจะเป็น เมนูของว่าง, อาหารจานหลัก, สลัด, สเต๊ก, เบอร์เกอร์ หรือ SKINNYLICIOUS® เมนูที่มีแคลอรีต่ำกว่า 590 แคลอรี
ซึ่ง “ความหลากหลายของเมนู” ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ ที่ทำให้ The Cheesecake Factory เป็นร้านโปรดของใครหลายคน
และแม้ใคร ๆ จะมองว่า การทำธุรกิจร้านอาหาร ควรจะเลือกทำเมนูให้น้อยที่สุด เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ ทั้งเรื่องสต็อก, การปรุงอาหาร หรือการควบคุมคุณภาพของอาหารแต่ละจาน
แต่ The Cheesecake Factory กลับไม่ได้คิดแบบนั้น
ซึ่งคุณ David เล่าว่า เหตุผลที่ต้องมีเมนูอาหารมากถึง 250 เมนู
ก็เพราะเขาอยากให้ลูกค้ารู้สึกว่า “ไม่มีเมนูไหนที่ The Cheesecake Factory ไม่มี”
1
ด้วยเหตุนี้ ร้าน The Cheesecake Factory จึงกลายเป็นร้านอาหารที่เหมาะสำหรับทุกโอกาส และเหมาะสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว, เพื่อน หรือคู่รัก
ปัจจุบัน The Cheesecake Factory อยู่ในเครือบริษัท The Cheesecake Factory, Inc. เจ้าของเชนร้านอาหารมากมาย อย่าง Grand Lux Cafe, North Italia, Flower Child และ RockSugar
โดยในปี 1992 The Cheesecake Factory ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ในชื่อ “CAKE” ซึ่งปัจจุบัน บริษัทมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาท
ซึ่งถ้าเทียบกับบริษัทในบ้านเรา The Cheesecake Factory จะมีมูลค่าบริษัทใกล้เคียงกับ CENTEL อาณาจักรโรงแรม ร้านอาหาร ของเครือเซ็นทรัลเลยทีเดียว
ปัจจุบัน ธุรกิจของร้าน The Cheesecake Factory ได้ขยายสาขาไปทั่วสหรัฐฯ รวมทั้งออกไปบุกตลาดต่างประเทศมากมาย โดยมีทั้งรูปแบบการลงทุนเองโดยบริษัทแม่ และการขยายสาขาโดยรูปแบบแฟรนไชส์
สำหรับในประเทศไทย ร้าน The Cheesecake Factory จะมาเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมนี้ ที่ห้างสรรพสินค้า centralwOrld
เรียกได้ว่า The Cheesecake Factory เป็นอีกหนึ่งธุรกิจ ที่เริ่มต้นมาจากการหาความรู้ใกล้ ๆ ตัว จาก “หนังสือพิมพ์” ของผู้ก่อตั้ง
 
ซึ่งคุณ Evelyn อาจจะไม่ได้คาดคิดเลยว่า วันหนึ่ง สูตรชีสเค้กที่แจกฟรีบนหนังสือพิมพ์ จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสที่ยิ่งใหญ่ จนสามารถสร้างเชนร้านอาหารระดับหมื่นล้านบาท และโด่งดังไปทั่วโลกได้..
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป (TANACHIRA) เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่นแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศได้แก่ Pandora (แพนดอร่า), Marimekko (มารีเมกโกะ), Cath Kidston (แคท คิดสตัน) และเจ้าของผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลผิวพรรณ สปาแบบองค์รวมรายแรกในไทยภายใต้แบรนด์ HARNN (หาญ), VUUDH (วุฒิ), HARNN Heritage Spa (หาญ เฮอริเทจสปา) และ SCape by HARNN (เอสเคป บาย หาญ) มีสาขาอยู่ทั่วประเทศและในภูมิภาคกว่า 165 สาขา ภายใต้แนวคิด “Bring the Best of the Brand to the Best of Thailand”
โฆษณา