31 ส.ค. 2023 เวลา 13:00 • ธุรกิจ

ทายาท VS เถ้าแก่ จะทำงานร่วมกันได้อย่างไรไม่ให้ขัดแย้งกัน

ธุรกิจครอบครัว (Family Business) หรือบางคนอาจเรียกว่า “กงสี” เป็นธุรกิจที่ดำเนินกิจการกันโดยสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน และมีการสืบทอดธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น โดยปกติคนที่เป็นเถ้าแก่หรือผู้บริหารของธุรกิจ มักจะเป็นรุ่นคุณปู่ คุณตา หรือคุณพ่อ ในขณะที่ลูกหลานของครอบครัว มักจะเข้ามาฝึกงานหรือทำงานในตำแหน่งระดับรอง หรือเป็นผู้ช่วยของเถ้าแก่
แน่นอนว่า การทำงานระหว่างรุ่นที่แตกต่างกัน หรือ คนละ Gen ย่อมมีปัญหาขัดแย้ง ทะเลาะหรือไม่เข้าใจกัน มีความคิดเห็นแตกต่างกัน แม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ แต่ถ้าปล่อยให้ปัญหาลุกลามโดยไม่ยอมแก้ไข สุดท้ายอาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ใช่แค่กระทบเรื่องธุรกิจ แต่อาจกระทบถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวให้เลวร้ายลงมากกว่าที่คิด
โดยแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีคำแนะนำดังนี้
1) ยอมรับอคติ วางอัตตาของตัวเอง
การที่หลายครั้ง เราไม่เข้าใจความคิดผู้อื่น มองผู้อื่นที่ไม่ตรงความเป็นจริง เกิดการทะเลาะ จนบางครั้งเราก็ไม่เข้าใจกัน ทั้งหมดเป็นผลมาจาก “อคติ” รวมถึง “อัตตา” ที่เรายึดถือไว้
“อคติ” เป็นความลำเอียงทางความคิด ทำให้เรามองคนอื่นบิดเบี้ยวจากความเป็นจริง
“อัตตา” เป็นการยึดถือความเป็นตัวเรา โดยไม่เข้าไปมองในมุมผู้อื่น ทำให้ไม่เข้าใจผู้อื่น
สิ่งเหล่านี้ อาจจะสะสมมาจากประสบการณ์ในอดีต ซึ่งสามารถลดผลกระทบได้ โดยทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ในการทำงานกับคนในครอบครัวที่กระตุ้น “อัตตา” หรือ “อคติ” ของตัวเรา จนเราอาจโมโห ไม่พอใจ ให้ลองใช้สติ “หยุด” คิดพิจารณา ก่อนจะตอบสนองออกไป ให้มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เราได้ลองเข้าใจในมุมของเขาหรือยัง? เรามองเขาได้ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นหรือไม่? เมื่อถามคำถามเหล่านี้เสร็จ จะทำให้เราสามารถตอบสนองออกไปได้ดีขึ้น
2) เข้าใจความแตกต่างระหว่างวัย
ด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี รวมถึงปัจจัยสภาพแวดล้อมในแต่ละครอบครัว ล้วนส่งผลให้คนแต่ละวัย มีโอกาสคิด ทำ และตัดสินใจที่แตกต่างกันไปตาม Generation เช่น Gen X (คนที่เกิดพ.ศ. 2508-2522) ทำอะไรด้วยตัวคนเดียว ไม่พึ่งพาใคร ไม่บ้างานขนาดหนัก สนใจสมดุลชีวิต ขณะที่ คน Gen Y (คนที่เกิดพ.ศ. 2523-2543) คาดหวังผลตอบแทนสูงในการทำงาน ชอบคำชม ไม่อดทนต่องานที่ทำ ฯลฯ
เมื่อเข้าใจความแตกต่างกัน เวลาทำงานก็จะมีปัญหาน้อยลง เช่น คนที่เป็น Gen X ซึ่งมักจะทำตำแหน่งบริหารที่สูงกว่า ก็จะต้องสื่อสารให้ชัดเจนกับคน Gen Y ที่อาจจะอยู่ตำแหน่งต่ำกว่า ทั้งเรื่องบทบาท เป้าหมายในงานนั้น รวมถึงให้ฟีดแบคที่ให้คำชมพร้อมคำแนะนำ โดยไม่ใช่คำติเตียน
3) กำหนดบทบาท หน้าที่ให้ชัดเจน
ความลำบากใจของคนในครอบครัวที่ต้องทำธุรกิจหรือทำงานร่วมกัน คือ การไม่กำหนดบทบาท หน้าที่ให้ชัดเจน อาจด้วยความเกรงใจ คิดว่า เป็นคนในครอบครัว ควรจะยืดหยุ่นได้บ้าง แต่สิ่งนี้ย่อมทำให้เกิดปัญหาในการทำงาน
เช่น ความขัดแย้ง การทำงานล่าช้า มีการแข่งขัน มีบางคนเอาเปรียบไม่ยอมทำงาน เป็นต้น แต่ปัญหาเหล่านี้แก้ได้โดย สื่อสารพูดคุยกับทุกคนให้เข้าใจตรงกัน เรื่องการกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละบุคคลในธุรกิจครอบครัวให้ชัดเจน ห้ามเกรงใจกัน รวมถึงมีการจัดโครงสร้างการบริหารงานที่มีความสมดุล ยุติธรรมต่อทุกคน โดยไม่ใช้เกณฑ์ส่วนตัว
4) ในเวลางาน ทุกคนทำงานแบบมืออาชีพ
แปลได้อีกอย่าง คือ เวลาทำงาน คุยกันเรื่องงาน โดยไม่มีเรื่องส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง และหลังเลิกงาน ถ้าเป็นไปได้ควรจะลดการพูดคุยเรื่องงานให้มากที่สุด เนื่องจากนอกเวลางาน ถือว่าเป็นเวลาของครอบครัว และในหลายครั้ง ความตึงเครียดในการทำงานแบบกงสี เพราะไม่สามารถแบ่งแยกเวลาได้ว่า เวลาไหนควรทำงาน เวลาไหนควรพักผ่อน รวมถึงบางครอบครัว สมาชิกแต่ละคนอาจมีปัญหาผิดใจกันเป็นการส่วนตัว หากการพูดคุยกันเรื่องงาน มันรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวจนเกินไป
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสุขในการทำงานร่วมกันและยังเกิดผลลัพธ์ ให้แยกพื้นที่ส่วนตัว และเรื่องการงานออกจากกันเสมอ
ความจริงอีกเรื่องที่สำคัญและเราต้องทำความเข้าใจ ก็คือ ในการทำธุรกิจนั้น การทำงานกับผู้อื่น ย่อมมีการทะเลาะเบาะแว้งเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่แค่คนที่ต่างวัยกัน แม้แต่คนรุ่นเดียวกันก็ยังมีความขัดแย้งทางความคิด เช่นเดียวกัน
แต่โจทย์ที่สำคัญ คือ ต้องทำให้เกิดความขัดแย้งที่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะในที่ประชุม ต้องกล้าถกเถียงโดยไม่ถือเป็นเรื่องส่วนตัว เปิดรับทุกความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่ละคนต่างทำความเข้าใจ แม้จะไม่เห็นด้วย เราก็สามารถยอมรับได้ โดยไม่ใช่ความอาวุโส หรืออำนาจหน้าที่มาบังคับให้ใครต้องยอมรับความคิดเห็น ครอบครัวใดที่สามารถทำแบบนี้ได้ จะทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และโอกาสเกิดความขัดแย้งน้อยลง
อย่าให้ความแตกต่างระหว่างวัย ทำให้เราเสียใจในการทำงานร่วมกัน แต่จงใช้หัวใจ เชื่อมความแตกต่างระหว่างวัยเข้าด้วยกัน แล้วการทำงานระหว่างกัน จะเป็นพื้นที่แห่งความสุขที่สามารถดำเนินธุรกิจไปได้อย่างราบรื่น
บทความห้องเรียนผู้ประกอบการ
เขียนโดย: ธนโชค โลเกศกระวี
นักเขียนอิสระและผู้ประกอบการออนไลน์
โฆษณา