1 ก.ย. 2023 เวลา 11:58 • อสังหาริมทรัพย์

5 เป้าหมาย 10 ผลลัพธ์ เพื่อออกแบบเมืองสุขภาวะดีแห่งอนาคต EP.1

‘5 เป้าหมาย เพื่อออกแบบเมืองสุขภาวะดีแห่งอนาคต’
หลังจากเกริ่นนำไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วันนี้เรามาดูเป้าหมายแรกของการสร้างเมืองที่ทุกสิ่งมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
เป้าหมาย 1. ระดับระบบนิเวศ (Ecology) – พื้นที่สำหรับใช้ชีวิตที่ดีต้องมีสภาพแวดล้อมที่มีความกลมกลืนระหว่างสิ่งปลูกสร้างที่ส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของผู้อยู่อาศัย และระบบนิเวศทางธรรมชาติที่แข็งแรง โดยต้องมีผลลัพธ์ดังต่อไปนี้
1.1 ผลลัพธ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiverse) – เกิดการบูรณาการพื้นที่สีเขียวและแหล่งน้ำในสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นอย่างสมบูรณ์พูนสุข เช่น การออกแบบพื้นที่โดยให้ความสำคัญกับระบบธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต (Biocentric design) การฟื้นฟูระบบนิเวศ เช่น พื้นที่ป่าชายเลน ศูนย์อนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล เป็นต้น การจัดการพื้นที่สีเขียวสาธารณะและการแก้ปัญหาตามแนวทางของธรรมชาติ (Nature-based solution) การสร้างระเบียงสีเขียวหรือการปลูกพืชภายในเมือง เป็นต้น
ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีสวนสาธารณะมากขึ้น แต่สัดส่วนประชากรที่สามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวสาธารณะยังมีพื้นที่เพียง 3.3 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น เมื่อเทียบกับสัดส่วน 5 ตารางเมตรต่อคนในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ หรือ 66 ตารางเมตรต่อคนในประเทศสิงคโปร์ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและแหล่งน้ำเพื่อยกระดับระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และสุขภาวะที่ดีของสรรพชีวิตจึงเป็นประเด็นที่ควรได้รับความสำคัญมากขึ้น
1.2 ผลลัพธ์ด้านการพึ่งพาอาศัย (Symbiotic) - มีการใช้ประโยชน์จากกระบวนการทางธรรมชาติ การออกแบบ และวัสดุเพื่อสร้างบริการที่จำเป็นและการหมุนเวียนทรัพยากร เช่น การให้ความสำคัญกับการวางกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น การออกแบบสิ่งปลูกสร้างเลียนแบบสิ่งที่มีในธรรมชาติ (Biomimicry design) การสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำในเมือง การเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามผนัง หลังคา หรือฟาร์มบนชั้นดาดฟ้า การนำพื้นที่รกร้างกลับมาใช้ประโยชน์ เป็นต้น
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureofTech #WellBeing #MQDC
โฆษณา