Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ThaiArmedForce
•
ติดตาม
1 ก.ย. 2023 เวลา 20:08 • การเมือง
ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ ผลักดันกฎหมายยกเลิกเกณฑ์ทหารในวันที่ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน
เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน พรรคก้าวไกล - Move Forward Party เสนอร่างกฎหมายปฏิรูปกองทัพเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยหนึ่งในร่างกฎหมายนั้นก็คือร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. .... หรือกฎหมายยกเลิกเกณฑ์ทหารนั่นเอง แต่การเสนอกฎหมายในตอนนั้นอยู่ภายใต้สมมุติฐานที่พรรคก้าวไกลจะได้เป็นรัฐบาล ซึ่ง ณ ตอนนี้กลับไปอีกด้านเพราะพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน
---------------------------
พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัด #พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นผู้ยื่นร่างนี้เข้าสภาฯ กล่าวกับ TAF ว่า ยังมีหวังว่าร่างนี้จะผ่านสภาฯ ไปได้
"เชื่อว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกองทัพหลายฉบับที่ไม่ได้เป็นนโยบายของพรรคก้าวไกลเท่านั้น เช่นการยกเลิกเกณฑ์ทหารก็มีหลายพรรคที่มีนโยบายนี้ เช่นพรรค #เพื่อไทย ดังนั้นถ้านับด้วยคะแนนเสียง ถ้ามีวาระที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยสนับสนุน เสียง 150 ของก้าวไกล และ 141 ของเพื่อไทยก็เกินครึ่งหนึ่งของสภาแล้ว เชื่อว่าถ้าเราอธิบายด้วยเหตุและผล ก็จะมีพรรคการเมืองสนับสนุนในสภาและประชาชนสนับสนุนนอกสภา"
นอกจากนั้นเขายังหวังว่า นาย เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin นายกรัฐมนตรีจะลงนามรับรองร่างกฎหมายนี้เพื่อเปิดโอกาสให้สภาฯ พิจารณาได้ เนื่องจากเป็นร่างการเงิน ซึ่งต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรอง ในขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา เคยปัดตกไม่รับรองร่างกฎหมายหลายฉบับ รวมถึงร่างกฎหมายยกเลิกเกณฑ์ทหารมาแล้วในอดีต
"การที่นายกฯ ตัดสินใจรับรองร่างกฎหมายฉบับใด ไม่ได้หมายความว่านายกฯ จะต้องเห็นชอบกับเนื้อหาของร่างดังกล่าว แต่หมายถึงเพียงการให้โอกาสร่างดังกล่าวถูกถกเถียงและพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร แน่นอนว่าในระบบรัฐสภาที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีความสัมพันธ์กัน หากนายกฯ และ ครม. ไม่เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับใด สส. ของพรรคจากขั้วรัฐบาล ซึ่งเป็นเสียงข้างมากก็สามารถโหวตไม่เห็นชอบและปัดตกร่างกฎหมายดังกล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้"
-----------------------
พริษฐ์ยังอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับร่างกฎหมายยกเลิกเกณฑ์ทหารว่า
"การยกเลิกเกณฑ์ทหารไม่เท่ากับการยกเลิกกองทัพ เราบอกว่าให้มีกองทัพอยู่ และให้กองทัพประกอบด้วยบุคคลที่สมัครใจเข้าไปเป็นทหารเท่านั้น อีกด้านหนึ่งนั้น การที่มีบางคนสมัครนั้นไม่เท่ากับระบบสมัครใจ เพราะระบบสมัครใจคือทุกคนที่เป็นทหารต้องสมัครใจเท่านั้น แต่ปัจจุบันแม้จะมีบางคนสมัคร แต่ถ้าไม่เยอะเท่ากับยอดที่กองทัพต้องการ ก็จะมีการบังคับคนเข้ามาเป็นทหาร"
"การบังคับคนเป็นทหารมีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งระดับบุคคลคือเป็นการทำให้คนเสียเสรีภาพในการประกอบอาชีพหรือการทำตามความฝันของตน ในฐานะคนที่เคยเกณฑ์ทหารมาพบว่าบางคนเคยมีรายได้เคยมีอาชีพ แต่พอโดนใบแดงก็ต้องลาออกมาเป็นทหาร พอปลดมาแล้วงานที่เคยทำก็มีคนทำไปแล้ว บางคนโดนใบแดงในช่วงที่เพิ่งมีลูก หลายคนก็เครียด ส่วนราคาที่ต้องจ่ายในระดับประเทศนั้น ปัจจุบันประเทศไทยเจอกับสังคมสูงวัย คนวัยทำงานลดลง การที่ดึงคนวัยทำงานปีละกว่า 1 แสนคนมาเป็นทหาร มันก็จะลดสัดส่วนคนวัยทำงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ"
----------------------
ทั้งนี้ มีข้อครหาหรือข้อห่วงใยจากบางคนว่า การยกเลิกเกณฑ์ทหารจะทำให้ประเทศไม่มั่นคง เพราะจะไม่มีทหารในการป้องกันประเทศ ซึ่งประเด็นนี้ พริษฐ์ เห็นต่าง โดยเชื่อว่า การยกเลิกเกณฑ์ทหารกับความมั่นคงสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้
"เราเชื่อว่าการยกเลิกเกณฑ์ทหารไม่ได้เป็นการบีบให้สังคมเลือกระหว่างเสรีภาพของประชาชนกับความมั่นคงของประเทศ แต่เราเชื่อว่าจะทำควบคู่ไปได้ เพราะเราศึกษาสองตัวเลขคือยอดกำลังพลที่กองทัพขอในแต่ละปีคือราว 1 แสนคน และยอดของคนสมัครใจเป็นทหารซึ่งเมื่อดูสถิติย้อนหลัง 10 ปีก็คือราวปีละ 4 หมื่นคน เราเชื่อว่าถ้ายกเลิกแล้วเราสามารถทำให้สองตัวเลขนี้มาเจอกันได้
เพราะเราเชื่อว่าตัวเลข 1 แสนสามารถลดลงมาได้ เพราะถ้าคำนวณแบบ Top Down เปรียบเทียบทหารต่อประชากรของไทยกับประเทศอื่นที่คล้ายไทย ประเทศไทยมีทหารสูงกว่า 30%-40% ถ้าคำนวณแบบ Bottom Up คือไปดูว่า 1 แสนคนนั้นทำภารกิจอะไรบ้าง และเกี่ยวข้องกับความมั่นคงไหม เราก็ค้นพบว่ามีการทำยอดผี คือมีชื่อแต่ไม่อยู่ในค่าย หรือพลทหารรับใช้ หรือแม้บางงานด้านความมั่นคงก็ต้องทบทวนว่ายังจำเป็นไหมในรูปแบบความมั่นคงที่เปลี่ยนไป"
-------------------------
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหารที่พรรคก้าวไกลเสนอสามารถสรุปได้คือ
1. เปิดโอกาสให้บุคคลทุกเพศสามารถสมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการได้
2. ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติ โดยใช้การคัดเลือกจากการรับสมัคร
3. สามารถกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ได้แต่ต้องไม่เกิน 5 ปีและต้องคำนึงถึงโอกาสในความก้าวหน้าของอาชีพ
4. ในยามใกล้เกิดสงคราม คณะรัฐมนตรีสามารถออกพระราชกฤษฎีกาเรียกเกณฑ์ทหารได้
5. พลทหารต้องมีรายได้ สวัสดิการ สิทธิประโยชน์อย่างเหมาะสม ส่งเสริมความรู้ด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
6. ต้องกำหนดวิธีการฝึกโดยออกเป็นกฎกระทรวง
7. ห้ามนำทหารกองประจำการไปรับใช้ส่วนตัวหรือละเมิดร่างกายหรือจิตใจ
8. ให้มีกฎกระทรวงเพื่อกำหนดขั้นตอนการขึ้นบัญชีทหารกองเกิน การรับสมัครทหารกองประจำการ การรับราชการทหารกองประจำการ การปลดทหารกองประจำการ ให้กฎกระทรวงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม
9. นิรโทษกรรมต่อผู้เคยกระทำผิดในกฎหมายเก่า เช่น หนีทหาร
10. ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไม่ให้กระทรวงกลาโหมเรียกเกณฑ์
-------------------------
แต่การยกเลิกเกณฑ์ทหารในสภาวะปัจจุบันที่เงินเดือนและสวัสดิการยังไม่ดี รวมถึงยังมีข้อครหาต่อกองทัพในการฝึกทหารบางส่วนที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการนำทหารไปใช้ผิดประเภทเช่นเป็นทหารรับใช้ แต่พริษฐ์เห็นว่า นี่เป็นโอกาสให้กองทัพสามารถปรับตัวเพื่อดึงดูดให้คนสมัครเป็นทหารมากขึ้น
"เราสามารถแก้โจทย์เรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตของพลทหารได้ หนึ่งคือถ้าเราทำให้กองทัพปลอดภัย มั่นใจว่าเข้ามาแล้วจะไม่ถูกละเมิดสิทธิ คนก็อยากจะสมัครเข้ามามากขึ้น สองคือรายได้สอดคล้องกับค่าครองชีพ เราต้องทบทวนว่าเงินเดือนตอนนี้เพียงพอหรือไม่ จะให้สวัสดิการอะไรเพิ่มเติม และสุดท้ายคือความก้าวหน้าทางอาชีพ คือถ้าทำงานได้ดีก็สามารถก้าวหน้าได้ ซึ่งเชื่อว่าคนก็น่าจะสมัครมากขึ้น"
เขายังเชื่อว่าการยกเลิกเกณฑ์ทหารจะเป็นต้นกำเนิดของการ #ปฏิรูปกองทัพ ด้วย
"ในมุมหนึ่งการยกเลิกการเกณฑ์ทหารจะนำไปสู่การปฏิรูปกองทัพที่จริงจังมากขึ้นและยอดสมัครใจที่สูงขึ้นโดยอัตโนมัติ ลองจินตนาการว่าถ้าเราเป็นบริษัทต้องการพนักงาน 10 คน ถ้ามีกฎหมายบอกว่าถ้าคนสมัครไม่พอสามารถบังคับคนมาเป็นได้ ถ้าผู้บริหารที่ไม่มีความรับผิดชอบก็จะปล่อยปะละเลย ไม่เป็นเดือดเป็นร้อน
แต่ถ้ายกเลิกกฎหมายนี้ไป ผู้บริหารต้องเป็นเดือดเป็นร้อนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงาน เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่มีพนักงานเพียงพอในการทำงาน ดังนั้นถ้าใช้หลักคิดนี้ก็หมายความว่าถ้าเรายกเลิกเกณฑ์ทหารแล้วยอดสมัครไม่พอ กองทัพต้องเป็นเดือดเป็นร้อนในการเอาจริงกับการปฏฺิรูปกองทัพเพื่อให้ยอดสมัครสูงขึ้น ดังนั้นการปฏิรูปกองทัพและยกเลิกเกณฑ์ทหารเป็นสองสิ่งที่คู่กัน"
-------------------------
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีพรรคฝ่ายค้านประสบความสำเร็จในการเสนอกฎหมายเลย และพรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้านจะสามารถผลักดันกฎหมายยกเลิกเกณฑ์ทหารที่เป็นเหมือน Signature Policy ของพรรคควบคู่กับสุราก้าวหน้าและสมรสเท่าเทียมได้หรือไม่
"ทุกอย่างต้องมีครั้งแรก เราก็จะทำเต็มที่ในการผลักดันในฐานะฝ่ายค้าน สิ่งที่ฝ่ายค้านทำได้คือทำหน้าที่ในการตรวจสอบนโยบายและอำนาจฝ่ายบริหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อท่าทีของรัฐบาลด้วย เช่นการรณรงค์ยกเลิกเกณฑ์ทหารที่ผ่านมาก็น่าจะส่งผลต่อการยอมรับต่อนโยบายนี้ของกองทัพ
ถ้าเราสามารถตรวจรัฐบาลได้ดี มีประชาชนสนับสนุน และสื่อสารด้วยเหตุด้วยผล ก็หวังว่ารัฐบาลจะนำข้อเสนอของเราไปดำเนินการ แต่อีกส่วนหนึ่งที่เราทำได้ก็คือการเสนอกฎหมายเข้าสภา ถึงแม้เราจะเป็นฝ่ายค้านเราก็จะมี ส.ส. 150 คนในสภา ถ้าจะผ่านกฎหมายอะไรก็ตาม ก็หาอีกแค่ 100 เสียงก็จะสามารถผลักดันผ่านสภาได้"
ถกเถียงนโนบายก้าวไกล
การเมือง
ทหารเกณฑ์
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย