2 ก.ย. 2023 เวลา 04:07 • ปรัชญา

การวิจัยคืออะไร?

บางท่านอาจได้ติดตามอ่านหรือรับฟังผลการศึกษาที่ได้จากการวิจัยในศาสตร์สาขาต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง แต่เคยตั้งคำถามกันหรือไม่ครับว่า แท้จริงแล้วการวิจัยคืออะไร?
วันนี้ ผู้เขียนจึงขอชวนทุกท่านคิดเกี่ยวกับคำถามนี้ โดยพยายามหาคำตอบด้วยการตกผลึกความรู้จากหนังสือและบทความต่าง ๆ โดยเฉพาะหนังสือ “สนุกกับงานวิจัย” ของอาจารย์สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ บทความ “Doing Research” ของ Paul Niehaus และ “ความรู้เบื้องต้นในการทำวิจัย” ของ ดร.วรัทยา ชินกรรม รวมทั้งจากประสบการณ์ส่วนตัว (ที่ยังต้องเรียนรู้อีกมาก) ของผู้เขียนที่ได้เคยทำงานวิจัยร่วมกับนักวิจัยมากประสบการณ์อยู่หลายท่านด้วยครับ
1
ความหมายของการวิจัยที่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่สาขาวิชาใด ซึ่งผู้เขียนชื่นชอบและคิดว่าได้ใจความลึกซึ้งยิ่ง มาจากคำอธิบายของท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระนักวิชาการที่มีผลงานวิชาการมากมาย ท่านได้บรรยายไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2538 ความโดยสรุปว่า คำว่า “วิจัย” มีความหมายเดียวกับ “ปัญญา” เป็นลักษณะหนึ่งของการใช้ปัญญา พร้อมทั้งทำให้เกิดปัญญาหรือทำให้ปัญญาพัฒนาขึ้นด้วย…
2
ตามรูปศัพท์แล้ว “วิจัย” แปลว่า “เฟ้น” คือ การค้นหา สืบค้น ตรวจสอบ พิสูจน์ ซึ่งมี 4 ระดับคือ
  • 1.
    ค้นหาความจริง
  • 2.
    ค้นหาสิ่งที่ดี สิ่งที่ต้องการ สิ่งที่เป็นประโยชน์
  • 3.
    ค้นหาทางที่จะทำให้ดี
  • 4.
    ค้นหาวิธีที่จะทำให้สำเร็จ
…การที่จะวิจัยเพื่อให้ได้ความจริง ให้ได้สิ่งที่ดี และหาทางทำให้ดีพร้อมทั้งให้สำเร็จนั้น จะมีปัจจัยอย่างหนึ่งที่ช่วยหนุนอยู่ คือ ความเชื่อในหลักการแห่งความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งทั้งหลายเป็นฐาน
เพราะถ้าเราไม่เชื่อในหลักการความเป็นไปตามเหตุปัจจัยแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องค้นหาความจริง… อีกอย่างหนึ่งคือ วิธีการในการวิจัยนั้น ต้องมีความแยบคาย เช่น การค้นคว้ากันโดยวิธีการที่จะให้ถึงต้นตอกันเลย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะระเบียบวิธีที่เป็นรูปธรรมภายนอกเท่านั้น แต่เริ่มตั้งแต่วิธีคิด…
อาจารย์สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อธิบายไว้อย่างชัดแจ้งว่า การวิจัยคือส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าให้รู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ ซึ่งสิ่งที่ยังไม่รู้นั้นมี 2 ประเภท ได้แก่
  • 1.
    ความรู้นั้นมีอยู่แล้วจากการค้นพบของผู้อื่น เพียงแต่เราไม่เคยได้รับรู้
  • 2.
    ความรู้ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่ยังไม่มีผู้ใดค้นพบ
โดยประเภทแรก เราหาเอาได้จากแหล่งรวบรวมความรู้ไว้เผยแพร่ เช่น การหาความรู้ที่มีอยู่ในห้องสมุด search engine ในอินเทอร์เน็ต ขณะที่ความรู้อย่างหลัง เราต้องแข่งกับผู้อื่นค้นหาให้พบเป็นคนแรก และกระบวนการค้นหาความรู้ประเภทที่ 2 นี้เองแหละคือ การทำวิจัย!
2
กล่าวโดยสรุป การวิจัย คือ กระบวนการหาความรู้ความจริงใหม่ที่มีระบบแบบแผนตามหลักวิชา อาศัยหลักเหตุผลที่รอบคอบ รัดกุม ละเอียด และเชื่อถือได้ และความรู้ความจริงนั้น จะนำไปเป็นหลักการ ทฤษฎี หรือ ข้อปฏิบัติที่ทำให้มนุษย์ได้รับรู้และนำไปใช้เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตด้วยความปกติสุขได้ โดยผู้เขียนมีทรรศนะว่า
ลักษณะสำคัญของการวิจัย ต้องประกอบด้วย 3 ประการ ได้แก่
  • 1.
    เป็นการศึกษาค้นคว้าที่มุ่งค้นหาข้อเท็จจริงหรือความรู้ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่ยังไม่มีผู้ใดค้นพบ ตามที่ได้กล่าวข้างต้น
  • 2.
    เป็นกระบวนการที่จะต้องทำอย่างมีเป้าหมายและเป็นระบบ โดยมีเครื่องมือหรือเทคนิคในการเก็บหรือใช้ข้อมูลที่มีความเที่ยงตรงและเชื่อถือได้
  • 3.
    ต้องมีการบันทึกและเขียนการวิจัยอย่างรอบคอบและระมัดระวัง เพราะจะเป็นความรู้คู่โลกและจะเป็นพื้นฐานให้นักวิจัยอื่น ๆ หรือแม้แต่ตัวเราเองต่อยอดจากความรู้นี้ได้
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **
ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
1
โฆษณา