4 ก.ย. 2023 เวลา 12:00 • สุขภาพ

นิ่วที่ไต

อาการที่บ่งชี้ว่าน่าจะมีนิ่วในคือปวดที่หลังด้านล่างมักร้าวมาที่ชายโครงหรือขาหนีบ โดยจะปวดรุนแรงมากจนทรมาน ปวดหลายชั่วโมง อาจมีคลื่นไส้อาเจียนด้วย บางรายมีปัสสาวะเป็นเลือด และถ้ามีติดเชื้อทางเดินปัสสาวะด้วยก็จะมีอาการแสบเวลาปัสสาวะ
นิ่วมีหลายชนิด ที่พบมากสุดคือนิ่วแคลเซียมออกซาเลต และนิ่วยูริค
สำหรับการรักษาขึ้นกับตำแหน่งของนิ่ว หากเป็นนิ่วที่อยู่บริเวณท่อปัสสาวะส่วนล่างสามารถให้ยาช่วยขับนิ่วออกมาเองได้ แต่หากเป็นนิ่วที่อยู่ที่ไตหรือท่อไตส่วนบน นิ่วมักไม่สามารถขับออกมาเองได้ จำเป็นต้องใช้วิธีอื่นเพิ่มเช่น การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy หรือ ESWL) หรือใช้การส่องกล้องเข้าทางกระเพาะปัสสาวะเพื่อนำนิ่วออก
การปรับเปลี่ยนอาหารมีความสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วซ้ำ โดยแนะนำดังนี้
1. ดื่มน้ำ 2.5-3.0 ลิตรต่อวัน เพื่อให้ปัสสาวะวันละ 2.0-2.5 ลิตรต่อวัน ควรทานน้ำเรื่อยๆทั้งวัน สามารดื่มชา กาแฟได้ แต่ไม่ควรดิ่มน้ำแร่ น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ น้ำแอปเปิ้ล น้ำองุ่นซึ่งเพิ่มโอกาสเกิดนิ่วได้
2. รับประทานแคลเซียมปกติ ไม่ต้องจำกัด (ประมาณ 1 กรัมต่อวัน) หากมีการรับประทานแคลเซียมเสริมแบบเม็ดควรรับประทานพร้อมอาหาร
3. จำกัดเค็ม หรือโซเดียม น้อยกว่า 2 กรัมต่อวัน
4. จำกัดเนื้อสัตว์ วันละ 0.8-1.0 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน เน้นผักผลไม้
5. จำกัดอาหารที่มีออกซาเลต เช่น มะเฟือง ตะลิงปลิง ผักชีฝรั่ง มันสำปะหลัง ใบชะพลู ผักโขม ปวยเล้ง ช็อคโกแลต ถั่วเหลือง ชาดำ งาดำ กระเจี๊ยบ บีทรู้ท
6. ไม่ทานวิตามินซีเสริมเนื่องจากทำให้เกิดนิ่วแคลเซียมออกซาเลตได้
โฆษณา