4 ก.ย. 2023 เวลา 09:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

Baryon acoustic oscillations วิธีการใหม่ช่วยในการวัดระยะทางจักรวาลวิทยา

หลังจากการวิเคราะห์ทางสถิติที่ซับซ้อนของกาแล็กซีประมาณหนึ่งล้านแห่ง ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจีนหลายแห่งและมหาวิทยาลัยคอร์โดบาก็สามารถตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร Nature Astronomy ได้ พวกเขาทำงานในโครงการนี้มานานกว่าสองปีแล้ว ซึ่งจะทำให้สามารถระบุระยะทางจักรวาลวิทยาได้ด้วยความแม่นยำระดับใหม่ยิ่งขึ้น
การศึกษาได้พัฒนาวิธีการใหม่ในการตรวจจับสิ่งที่เรียกว่า Baryon Acoustic Oscillations (BAO) (การสั่นแบบเสียงของเบริออน) คลื่นเหล่านี้ซึ่งแสดงให้เห็นการมีอยู่ครั้งแรกในปี 2005 เป็นหนึ่งในร่องรอยไม่กี่แบบของบิกแบง (Big Bang) ที่ยังคงสามารถตรวจพบได้ในจักรวาล
*** เบริออน (baryon) เป็นอนุภาคที่ประกอบด้วยควาร์ก (Quark) อย่างน้อย 3 ตัว เช่น โปรตอน ปฏิอนุภาคโปรตอน นิวตรอน ***
การสั่นของเบริออนแพร่กระจายในช่วง 380,000 ปีแรกของชีวิตจักรวาล โดยขยายตัวเหมือนคลื่นเสียงผ่านสสารที่ร้อนจัดจนมีพฤติกรรมเหมือนของเหลว ซึ่งคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อก้อนหินถูกโยนลงสระน้ำ ต่อจากนั้น จักรวาลก็ขยายตัวและเย็นลงจนถึงจุดที่คลื่นเหล่านั้นถูกแช่แข็งทันเวลา (frozen in time) (อุณหภูมิต่ำลงจนคลื่นไม่สั่น)
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสั่นเหล่านี้ ซึ่งเป็นหลักฐานในประวัติศาสตร์เกือบทั้งหมดของจักรวาลก็คือ ทราบระยะเวลาที่แน่นอน ดังนั้น ปัจจุบันจึงมีประโยชน์มากในการวัดระยะทางจักรวาลโดยอาศัยการแยกระหว่างกาแล็กซี ความสามารถในการตรวจจับและกำหนดขนาดของพวกมันจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการทำแผนที่จักรวาลไปยังจุดที่ห่างไกลออกไปอย่างถูกต้อง
แปลและเรียบเรียงโดย
One To Many - A Brief Science
.
-วิดีโอที่เกี่ยวข้อง
สถานะจักรวาลก่อนกำเนิดอะตอม (Quark-gluon plasma) | ควาร์ก (Quark), tetraquark, pentaquark
.
-แหล่งอ้างอิง
[1] A new method helps to measure cosmological distances more accurately
[2] Evidence for baryon acoustic oscillations from galaxy–ellipticity correlations
โฆษณา