Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
TTW Public Company Limited
•
ติดตาม
4 ก.ย. 2023 เวลา 08:56 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“อัตราส่วนกำไรขั้นต้น” บอกอะไรเรา?
“อัตราส่วนกำไรขั้นต้น” เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาหุ้น บริษัท หรือธุรกิจนั้นๆ ด้วยการเปรียบเทียบ "กำไรขั้นต้น" กับ "รายได้" ซึ่งตัวเลขนี้สามารถบอกอะไรได้หลายอย่าง
เช่น ธุรกิจนั้นมีความสามารถในการตั้งราคาสินค้า (Pricing Power) หรือไม่ โดยอัตราส่วนนี้ยิ่งสูงยิ่งดี และต้องมีความสม่ำเสมอ จึงควรดูตัวเลขเปรียบเทียบย้อนหลังหลายๆ ปี
เพราะมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีปัจจัยชั่วคราวเกิดขึ้น เช่น ราคาน้ำมันเพิ่มสูงในช่วงเกิดสงคราม, เกิดโรคระบาด, น้ำท่วม, ข้าวของซึ่งเป็นวัตถุดิบแพงขึ้น/ถูกลง เป็นต้น
ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น/ลดลง ส่งผลให้อัตราส่วนเปลี่ยนแปลงจากค่าเฉลี่ยไปมาก จึงควรจะต้องดูข้อมูลเปรียบเทียบย้อนหลังหลายๆ ปีว่าธุรกิจนั้นสามารถรักษาระดับตัวเลขนี้ไว้ได้ดีหรือไม่
สูตรในการคำนวณหา "อัตราส่วนกำไรขั้นต้น" (Gross Profit Margin: GPM)
= (รายได้ – ต้นทุนขาย) x 100 / รายได้
## ตัวอย่าง ##
เช่น บริษัท A มีรายได้ 1,000 บาท มีตั้นทุนขาย 700 บาท จะมีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นเท่าไร?
(1,000 - 700) x 100 / 1,000
= 30%
จากการคำนวณจะเห็นว่าบริษัท A ทำกำไรได้ดี โดยมีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 30% หรือขายของ 100 บาท มีกำไรขั้นต้น 30 บาทนั้นเอง
## อัตราส่วนนี้บอกอะไรเรา? ##
Credit: Pixabay
อย่างแรกเลยคือ (1) บริษัท/ธุรกิจสามารถทำกำไรได้ดีจากการควบคุมต้นทุนการผลิต (ลงทุนน้อย แต่ได้ผลกำไรมาก) หรือไม่?
ต่อมา (2) บริษัท/ธุรกิจมีความสามารถในการตั้ง/ปรับราคาขายสินค้าสู้กับคู่แข่งในอุตสาหกรรมมากน้อยเพียงใด?
และ (3) บริษัท/ธุรกิจมีอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์สูง เพื่อลดต้นทุนสินค้า/บริการลง?
เพราะถ้าทำทั้ง 3 ข้อได้ดี ตัวเลขอัตราส่วนที่ออกมาก็จะสูงตามไปด้วย
## อัตราส่วนกำไรขั้นต้นกับ “ทฤษฎี 5 Forces Model” ##
"ทฤษฎี 5 Forces Model" ซึ่งถือเป็นสุดยอดเครื่องมือวิเคราะห์ "การแข่งขันธุรกิจ" ซึ่งเมื่อนำเครื่องมือนี้มาใช้วิเคราะห์ร่วมกันกับอัตราส่วนกำไรขั้นต้น ก็จะทำให้เรามองภาพธุรกิจได้รอบด้าน และมประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
(1) การแข่งขันภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน (Industry Rivalry):
จำนวนคู่แข่งที่มาก ทำให้ขายสินค้า/บริการได้ยาก จึงควรพิจารณาจำนวนคู่แข่ง และอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมนั้นๆ เพื่อเตรียมพร้อม และวางกลยุทธ์ให้ดี
(2) อำนาจต่อรองของลูกค้า (Bargaining Power of Customers):
ควรตระหนักว่าลูกค้ามีอำนาจต่อรองเสมอท่ามกลางสมรภูมิในอุตสาหกรรมที่ดุเดือด เช่น อยากให้ ลด แลก แจก แถม ฯลฯ โดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่/VIP
(3) อำนาจต่อรองของซัพพลายเออร์ (Power of Suppliers):
หากซัพพลายเออร์ที่ส่งวัตถุดิบให้เรามีน้อยราย จึงต้องซื้อหามาในราคาสูงจะส่งผลให้ต้นทุนผลิตสูงตาม ถือเป็นสถานการณ์ที่ควรวางแผน และพิจารณาให้รอบคอบ
Credit: Pixabay
(4) ภัยคุกคามจากผู้แข่งขันรายใหม่ (Threat of New Entrants):
ผู้ประกอบการหน้าใหม่มักมองเห็นช่องทางทำกำไรไม่ต่างจากเรา ยิ่งคู่แข่งมากขึ้น ส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ที่เคยได้รับจะลดน้อยลง ธุรกิจใหญ่ๆ อาจไม่กระทบมากเพราะกำลังการผลิตสูง ต้นทุนวัตถุดิบต่ำ แต่รายเล็กๆ ต้องตั้งหลักให้ดี
(5) ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน (Threat of Substitutes):
สินค้าแต่ละชนิดอาจจะมีบางฟังก์ชันที่ทดแทนกันได้ จะโดยทางตรง/ทางอ้อมก็ตาม แต่ก็ไม่ใช้ทั้งหมด จึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนา และมองหาโอกาสอยู่เสมอ
5 Forces Model เป็นทฤษฎีของ Michael E. Porter ที่ปัจจุบันมีการเพิ่มแรงกดดันที่ 6 คือ “สินค้าที่ต้องใช้ร่วมกัน” (Complementary Products) เพื่อปรับให้เข้ากับโลกธุรกิจและเทคโนโลยีในการประเมินการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
โดยพิจารณาจากผู้เข้ามาในตลาดรายใหม่ และพิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้สามารถทำหน้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ควบคู่กันหรือทดแทนในระยะยาวได้หรือไม่
เช่น รถยนต์กับน้ำมันต้องใช้ร่วมกัน หากน้ำมันราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ความต้องการน้ำมันลดลง แนวโน้มการซื้อรถใหม่ก็ต่ำลงไปด้วย กลับกันหากน้ำมันถูกลง ความต้องการซื้อรถก็ควรจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน
หรือแม้แต่กรณีการมาของ EV (Electric Vehicle) หรือรถยนต์ไฟฟ้าก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณา เพื่อวิเคราะห์จุดแข็ง/จุดอ่อนของการแข่งขันทางธุรกิจเพิ่มเติมเข้าไปด้วย เป็นต้น
Credit: Pixabay
ท้ายที่สุดแล้ว "อัตราส่วนกำไรขั้นต้น" เป็นเพียงตัวเลขที่วิเคราะห์ออกมาเพียงระดับขั้นต้นตามชื่อของมันเท่านั้น เพราะกว่าจะไปถึงบรรทัดสุดท้ายของงบการเงินหรือกำไรสุทธิ
ก็จะมีปัจจัยที่ทำให้ผลการวิเคราะห์เปลี่ยนแปลงไปอีกมากมาย เช่น ส่วนแบ่งกำไร (ขาดทุน) จากการลงทุนในบริษัทร่วม/บริษัทย่อย, ต้นทุนทางการเงิน, ภาษีเงินได้ เป็นต้น
การวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัท/ธุรกิจ จึงต้องอาศัยข้อมูลในหลากหลายมิติ และการวิเคราะห์ในหลายแง่มุมจากปัจจัยต่างๆ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุดนั่นเอง
Ref:
- SETinvestnow, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
-
https://bluebik.com/th/blogs/4881
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website:
www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited
หุ้น
งบการเงิน
บันทึก
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เดี๋ยวรู้เรื่อง...การลงทุน!
ทำความรู้จักกับ...
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย