5 ก.ย. 2023 เวลา 04:10 • ธุรกิจ
ผมจะตอบให้ตรงกับคำถามที่สุด
วิธีที่เราจะรู้ว่าเจ้านายต้องการบีบให้เราลาออกหรือไม่ก็คือ เราต้องค่อยๆใช้เวลาสังเกตว่า ผู้มีอำนาจที่เหนือกว่าเรานั้น มีเจตนาจงใจสร้างสภาวะที่เป็นพิษทุกรูปแบบให้กับผู้ที่ทำงานหรือเปล่า ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ตาม เพื่อให้เกิดความรู้สึกกดดัน และบีบเค้นให้เกิดความเครียดสะสม หรือให้เกิดความรู้สึกโทมนัสในจิตใจ
ผู้บริหารที่ขาดมโนธรรมสำนึก แม้จะมีความรู้ในด้านจิตวิทยาในการสร้างสภาวะแห่งการกดดัน ด้วยคำพูดคำจาที่แสนสุภาพเรียบร้อย แต่แฝงไปด้วยการดูถูกเหยียดหยามให้รู้สึกได้เรื่อยๆ นี่คือวิถีแห่งคนที่ขาดความจริงใจ ใช้วิธีกดดันเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายบางอย่าง โดยให้พนักงานลาออกไปเอง นี่คือวิธีคิดของคนที่ขาดความกล้าหาญที่แท้จริง โดยใช้ความฉลาดในด้านนี้เป็นสะพานเพื่อข้ามไปทำร้ายฝ่ายตรงข้าม นี่สื่อถึงการขาดคุณธรรมด้านพื้นฐานที่พึงจะมีของปุถุชนที่ควรจะมี
2
ผู้บริหารใดก็ตามที่ใช้วิธีเหล่านี้ เป็นเพราะว่าเขาหาความผิดของลูกน้องไม่เจอ จึงใช้วิธีกดดันแบบนี้ให้ลูกน้องลาออกไปเอง โดยไม่กล้าพูดตรงๆ เพราะหาความผิดของลูกน้องไม่เจอ อาการแบบนี้สันนิษฐานว่ามีความไม่พอใจเป็นส่วนตัว ส่วนใหญ่แล้วเหตุการณ์แบบนี้ เป็นเพราะลูกน้องมีคุณธรรมมากกว่าหัวหน้า จึงทำให้ผู้มีอำนาจรู้สึกขัดหูขัดตาไปซะทุกอย่าง จึงเกิดความรู้สึกอยากจะกำจัดไปซะ โดยไม่ใช้หลักนิติรัฐ/นิติธรรม เข้ามาช่วยเหลือแต่ประการใด
หัวหน้างานใดก็ตามที่คิดแบบนี้ เพราะสักแต่เป็นหัวหน้าเพียงแต่ชื่อเท่านั้น แต่คุณสมบัติที่แท้จริงเขาไม่ใช่หัวหน้าเลย เพราะเขาคิดแต่วิธีคอร์รัปชั่นและสกปรก ด้วยการหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย โดยไม่กล้าพูดถึงปัญหาและความในใจอย่างแท้จริง นี่จะเป็นจิตวิทยาสายมืดที่ไม่ควรจะมีในปุถุชน เพราะคนดีจะไม่ทำแบบนี้แน่นอน
1. มอบหมายแต่งานง่ายๆให้ทำ หรือแสดงกิริยาท่าทางเมินเฉยไม่ให้ความสำคัญไม่มอบหมายงาน ไม่เรียกประชุม ปล่อยให้อยู่นิ่งๆเฉยๆ หรือการที่หัวหน้างาน หรือผู้ว่าจ้าง มอบหมายให้ทำแต่งานง่าย ๆ อาจดูเหมือนเป็นเรื่องดี แต่ข้อเสียคือจะทำให้พนักงานไม่สามารถพัฒนาฝีมือได้ เพราะจะไม่ได้ทำอะไรที่ท้าทายความสามารถเลย อาจทำให้พนักงาน โดยเฉพาะคนที่มีของ รู้สึกว่าหากอยู่บริษัทนี้ต่อไปก็จะไม่ได้พัฒนาความสามารถให้เก่งขึ้นมากไปกว่าเดิม และเกิดความคิดอยากลาออกขึ้นมาได้ง่ายๆ
2. มอบหมายงานยาก ๆ ตรงกันข้ามกับวิธีแรก แต่กดดันมากกว่ากันเยอะ เมื่อคราวนี้นายจ้างจะป้อนแต่งานยาก ๆ ภารกิจที่ปราดตามองก็รู้ว่าแทบไม่มีทางทำได้สำเร็จ ถ้าพนักงานได้รับมอบหมายหน้าที่แบบนี้เป็นประจำ พนักงานจะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไร้ความสามารถ ไม่อยากทำงาน แล้วตัดสินใจลาออกไปเอง
3. สั่งย้ายสายงานให้ไปทำงานยาก ๆ กรณีนี้ใกล้เคียงกับวิธีการในข้อที่ 2 แต่การย้ายสายงานอาจไม่ได้มีเหตุผลว่าต้องการไล่พนักงานออกเสมอไป เพราะบริษัทอาจพิจารณาแล้วว่า พนักงานมีศักยภาพในการทำงานนี้ให้สำเร็จลุล่วง แต่ผลที่ออกมาอาจทำให้พนักงานมองว่าบริษัทพยายามบีบให้ลาออกด้วยการมอบหมายงานยาก ๆ ทำให้มีไม่น้อยที่เมื่อต้องย้ายสายงานจริง ๆ พออยู่ได้ไม่นาน พนักงานคนนั้นก็ตัดสินใจลาออกไปเอง
1
4. ไม่เลื่อนขั้น ไม่ขึ้นเงินเดือน พนักงานทุกคนย่อมมีความคิดว่าจะได้เติบโตในสายงานที่ทำอยู่ในบริษัทนั้น ๆ แต่หากทำงานไปหลายปีแล้ว กลับไม่เคยได้เลื่อนตำแหน่ง หรือแม้แต่ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น เป็นไปได้สูงว่า บริษัทอาจไม่ได้มองเห็นคุณค่าและความสามารถของพนักงานเท่าที่ควร จนพนักงานรู้สึกไร้คุณค่า และทำงานแบบเช้าชามเย็นชามด้วยความคิดว่า ทำงานมากไปก็ไม่ได้เงินเพิ่ม หรือตัดสินใจลาออกจากงานไปเอง
5. โดนทิ้งให้มืดแปดด้าน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย และอาจพบเห็นได้ง่าย เวลาบริษัทปล่อยให้พนักงานอยู่ท่ามกลางความมืด ไม่รับรู้เรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง เช่นไม่ให้เข้าประชุมสำคัญ เวลามีกิจกรรมรวมกลุ่มกันของคนในบริษัท ก็ไม่มีคนแจ้งทางอีเมล์ หรือเชิญไปร่วมงานด้วย รวมไปถึงการที่ผู้คนเลือกจะหนีหน้าเวลาเจอตัว จะทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว ไร้คุณค่า และสุดท้ายตัดสินใจลาออกไปเอง
6. ไม่รับฟังความคิดเห็น ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ดี ใคร ๆ ย่อมอยากรับฟัง แต่หากความคิดเห็นนั้นมาจากคนที่หัวหน้างานไม่อยากรับฟัง เป็นไปได้ที่มันจะไม่ได้ถูกเอาไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และบางครั้งอาจเศร้ากว่านั้น เมื่อมีคนอื่นนำไปปรับใช้จริง แต่กลับเคลมว่าความคิดเห็นนี้เป็นไอเดียของตัวเอง ก็อาจทำให้พนักงานที่เสนอแนะคนนั้นรู้สึกไม่ดี แล้วเลือกลาออกไปอยู่ที่อื่นที่รับฟังความคิดเห็นที่มีประโยชน์มากกว่าแทน
ข้อเสียที่เห็นได้ชัด ของผู้บริหารประเภทแบบนี้ คือการสร้างวัฒนธรรมองค์กร และสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษ เกิดเป็นความเครียด ไม่ดีต่อสุขภาพกายและใจของพนักงาน จนไม่สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข ไม่เพียงแค่นั้นบริษัทยังเสียภาพลักษณ์ สูญเสียความเชื่อมั่นทั้งในสายตาของพนักงานข้างใน และอาจทำให้คนภายนอกไม่อยากร่วมงานด้วยก็เป็นได้
หากปัญหาดังกล่าวลุกลามใหญ่โต อาจเกินกำลังของ HR ในการแก้ไขอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นปัญหาที่หมักหมมเป็นเวลานาน และมีโอกาสเป็นไปได้อย่างสูงที่ HR จะเป็นองคาพยพเดียวกันหมด ด้วยการเจตนารู้เห็นเป็นใจ จึงทำให้สื่อได้ว่านี่คือวัฒนธรรมร้ายๆในองค์กร เปรียบเสมือนเนื้อร้ายที่กัดกินทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่า โดยโยนปัญหาและกล่าวโทษไปที่ลูกน้องแทน ทั้งที่กลุ่มคนในองค์กรที่มีอำนาจนั่นแหละคือเนื้อร้ายที่แท้จริง
ทุกคนย่อมอยากทำงานอย่างมีความสุข ไม่มีใครอยากทำงานด้วยความทุกข์ หรือคิดว่าแต่ละวันจะต้องเจอเหตุร้ายในการทำงานอย่างไรบ้าง กำลังใจก็สูญสิ้นแทบไม่อยากทำงานเลย แต่ก็จำเป็นต้องไปทำงานเพราะต้องหาเลี้ยงชีวิต ต้องมีเงินเดือนไปจ่ายหนี้สินและเลี้ยงดูครอบครัว โดยต้องไปเผชิญหน้ากับหัวหน้างานแบบนี้ และนี่ก็คือผลที่มาจากผู้บริหารที่ขาดคุณธรรม จึงทำให้องค์กรไม่มีความเสถียรและขาดนิติรัฐอย่างชัดเจน
การกดดันให้พนักงานลาออกจากงาน ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่กฎหมายคุ้มครองเอาไว้ด้วย หากยึดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4052/2548 การสร้างความกดดันหรือหวาดกลัวให้ลูกจ้างเขียนใบลาออก ทั้งที่ลูกจ้างไม่มีเจตนาลาออก กฎหมายจะถือว่าเป็นการเลิกจ้าง ซึ่งลูกจ้างสามารถฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยได้
นอกจากนั้น กฎหมายแรงงานยังครอบคลุมเรื่องการทำงานล่วงเวลา ประกันสุขภาพ และอื่น ๆ อีกมากมาย หากนายจ้างบังคับใช้งานอย่างหนักเกินกว่าที่กฎหมายระบุไว้ พนักงานก็สามารถลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์ของตัวเองด้วยการฟ้องร้องได้
ผมขอเป็นกำลังใจให้คุณต่อสู้และผ่านพ้นอุปสรรค จงอย่าเพิกเฉยและปล่อยให้สิ่งที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นต่อหน้าของคุณ โดยการยอมอ่อนน้อมต่ออำนาจที่เหนือกว่าเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด ขอให้คุณกล้าหาญเข้มแข็งอดทน มีความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อผ่านพ้นอุปสรรคไปด้วยดีครับ
โฆษณา