5 ก.ย. 2023 เวลา 04:40 • ธุรกิจ

เปิด “ธุรกิจร้านสะดวกซัก” เริ่มยังไง?

ถ้าเห็นว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ อย่าลืมแชร์ให้เพื่อน ๆ อ่านด้วยกันนะครับ
ในช่วงเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา ถ้าพูดถึงธุรกิจที่มาแรงอย่างมากธุรกิจนึงก็คงจะไม่พ้น “ธุรกิจร้านสะดวกซัก” ซึ่งได้รับความนิยมและมีการเติบโตเป็นอย่างมาก เราจะเห็นได้ว่า
> ในปี 2563 มูลค่าตลาด 3,000 ล้านบาท มีจำนวนร้านสะดวกซัก 1,000 แห่ง
> ในปี 2564 มูลค่าตลาด 7,000 ล้านบาท มีจำนวนร้านสะดวกซัก 2,400 แห่ง
> ในปี 2565 มูลค่าตลาด 10,000 ล้านบาท มีจำนวนร้านสะดวกซัก 3,500 แห่ง
และแถมยังเป็นเหมือนธุรกิจเสือนอนกิน ที่เมื่อเราวางระบบร้านเสร็จเรียบร้อย ที่เหลือก็ปล่อยให้ธุรกิจเดิน เราเพียงแค่คอยดูแลซ่อมบำรุง ไม่ต้องลงแรงตลอดเวลา
แล้วถ้าเราต้องการจะเริ่มเปิดธุรกิจนี้ ต้องเตรียมตัวยังไง ต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ไปดูกันครับ
🐤[ กลุ่มเป้าหมาย & ทำเล ]
สำหรับธุรกิจนี้ สิ่งที่ต้องดูเป็นอย่างแรก และสำคัญที่สุดคือ ทำเลและกลุ่มเป้าหมายครับ เพราะทำเลคือความสะดวกของลูกค้า ถ้าร้านเราอยู่ใกล้ลูกค้า บริการและราคาของร้านใกล้เคียงกัน ลูกค้าคงจะไม่ถือตะกร้าไปซักผ้าอีกร้าน
นอกจากความสะดวกแล้วยังต้องดูอีกด้วยว่าพื้นที่ละแวกนั้น กลุ่มลูกค้าเราคือใคร
  • ถ้าอยู่แถวมหาลัย เราอาจจะต้องคำนึงถึงช่วงเวลาปิดภาคเรียน ที่ยอดการใช้จะหายไปช่วงนึง
  • ถ้าอยู่แถวย่านชุมชนหรือหอพัก ลูกค้าอาจจะนิ่ง แต่ก็อาจจะมีคู่แข่งเข้ามาแข่งขันเยอะ
  • ถ้าอยู่แถวจุดที่เป็นหมู่บ้าน คนที่อยู่หมู่บ้านอาจจะใช้บริการน้อยกว่า คนที่อยู่ในอพาตเมนต์หรือหอพัก
ทำเลจึงเป็นจุดที่บอกได้เลยว่า เราจะมีลูกค้าประมาณเท่าไหร่ คุ้มลงทุนไหม จะคืนทุนเมื่อไหร่ และจะแข่งแกร่งกว่าคู่แข่งแค่ไหน ทำเลจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องพิจารณาให้ดีก่อนเปิดธุรกิจนี้ครับ
🐤[ รูปแบบธุรกิจ ]
เราต้องตัดสินใจว่า จะทำธุรกิจนี้ด้วยแบรนด์ตัวเอง หรือซื้อแฟรนไซส์ เพราะสองอย่างนี้ค่อนข้างแตกต่างเรื่องเงินลงทุน การจัดการ การตลาด รายได้
1. ซื้อแฟรนไซส์
จุดเด่นคือ สะดวกในการลงทุนเพราะมีแพ็คเกจให้ตัดสินใจ แบรนด์จะจัดการเรื่องระบบร้าน และการก่อสร้างให้เสร็จ การตลาดจะได้เปรียบเนื่องจากแบรนด์เป็นที่รู้จักมีชื่อเสียง ได้ความรู้ know how จากแบรนด์ที่มีประสบการณ์
จุดด้อยคือ ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง อาจจะปรับเปลี่ยนอะไรนอกเหนือจากแพ็คเกจยาก และต้องจ่ายค่า Royalty fee (แล้วแต่แบรนด์)
แฟรนไซส์แต่ละแบรนด์ก็มีข้อเด่น ข้อด้อยแตกต่างกันไป เช่น มีแอปพลิชั่นของแบรนด์ บริการประเมินพื้นที่ฟรี การรับประกันเครื่องจักรหรือเครื่องจักรนำเข้า แพ็คเกจรวมเครื่องแลกเหรียญและเครื่องขายน้ำยาซักผ้า กล้องวงจรปิด ระบบจ่ายเงินแบบ QR Code บริการหลังการขาย ฯลฯ
ตัวอย่างราคาแฟรนไซส์เริ่มต้นของแบรนด์ต่าง ๆ
  • TRENDYWASH เริ่มต้น 2.56 แสนบาท
  • TOKI เริ่มต้น 7.90 แสนบาท
  • BROWNY 24Hr Wash & Dry เริ่มต้น 9.00 แสนบาท
  • DR.TIGER LAUNDRY เริ่มต้น 1.29 ล้านบาท
  • TANJAI WASH & DRY เริ่มต้น 1.30 ล้านบาท
  • CODE CLEAN เริ่มต้น 1.49 ล้านบาท
  • LAUNDRYBAR เริ่มต้น 1.90 ล้านบาท
  • WONDER WASH เริ่มต้น 1.90 ล้านบาท
  • 24 WASH เริ่มต้น 1.99 ล้านบาท
  • OTTERI เริ่มต้น 2.38 ล้านบาท
  • WASHENJOY เริ่มต้น 2.55 ล้านบาท
*รายละเอียดภายในหรือข้อตกลงต่าง ๆ จะต้องติดต่อไปที่เจ้าของแบรนด์เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
2. สร้างแบรนด์ตัวเอง
จุดเด่นคือ มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจสูง สามารถควบคุมงบประมาณได้ด้วยตัวเอง สามารถกำหนดทิศทางของแบรนด์ได้ และไม่ต้องเสียค่า Royalty fee
จุดด้อยคือ การตลาดเราอาจจะสู้แบบซื้อแฟรนไซส์ยาก ต้องลงแรงและศึกษาข้อมูลมากกว่า เราจะไม่มี Know how ของธุรกิจนี้
เรื่องการตั้งราคา เราควรตั้งราคาล้อไปกับแฟรนไซส์ใหญ่ ๆ เพื่อให้ราคาไม่โดดห่างคู่แข่งจนเกินไป หรือราคาทั่วไปที่ลูกค้าเคยเห็น อาจจะถูกกว่าได้แต่ต้องดูด้วยว่าเราคุ้มกับการลงทุนหรือไม่ กำไรพอหมุนธุรกิจหรือปล่าว
อย่าพยายามใช้การลดราคาช่วงแรกให้ลูกค้าติดก่อน ค่อยขึ้นราคาทีหลัง สมัยนี้ไม่มีคำว่าลูกค้าติด ลูกค้าพร้อมเปลี่ยนแบรนด์ได้ทุกเวลา
💰ตัวอย่างเงินลงทุนเริ่มต้น (ร้านขนาดเล็ก 3 เครื่องซักผ้า 2 เครื่องอบผ้าไฟฟ้า)
  • เครื่องซักผ้า LG ฝาหน้า 10.5 Kg. 2 เครื่อง = 20,000 บาท/เครื่อง
  • เครื่องซักผ้า LG ฝาหน้า 15 Kg. 1 เครื่อง = 32,000 บาท/เครื่อง
  • เครื่องอบผ้าไฟฟ้า Whirlpool 2 เครื่อง = 35,000 บาท/เครื่อง
  • เครื่องแลกเหรียญ = 36,000 บาท/เครื่อง
  • เครื่องขายน้ำยาซักผ้า & น้ำยาปรับผ้านุ่ม = 38,000 บาท/เครื่อง
  • กล้องวงจรปิด = 1500 บาท/เครื่อง
  • แทงค์น้ำ 1500 ลิตร = 7500 บาท/ถัง
  • ปั๊มน้ำ 250 W = 8000 บาท/ตัว
  • โต๊ะ & เก้าอี้ บาร์ 2 ชุด = 2500 บาท/ชุด
  • งานตกแต่งภายใน + ป้ายไฟ + ระบบไฟฟ้า + ระบบน้ำ = 1500,000 - 200,000 บาท
เงินลงทุนเริ่มต้นประมาณ 350,000 – 500,000 บาท
กรณีเพิ่มเติม
  • เครื่องจักรนำเข้าจะมีราคาแพงกว่านี้ แต่จะได้คือประสิทธิภาพและความทนทานของเครื่องจักร
  • เครื่องจักรอุตสาหกรรม จะต้องใช้ระบบไฟฟ้า 3 เฟส ราคาประมาณ 23,000 บาท (ค่าธรรมเนียมขอใช้ไฟฟ้า 6,700 ค่ามิเตอร์ 15(45)A 16,000)
  • เครื่องอบผ้าเป็นระบบแก๊ส อาจจะต้องทำระบบท่อแก๊ส ราคาประมาณ 20,000 – 40,000 บาท
เครื่องอบผ้ามีทั้งหมด 3 แบบ ระบบไฟฟ้า, ระบบแก๊ส (ประหยัดค่าไฟแต่ต้องวางระบบแก๊ส), ระบบไฮบริด (ไฟฟ้า+แก๊ส)
💰[ เงินหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ]
  • ค่าแม่บ้าน คอยดูแลความสะอาด ช่วยลูกค้าติดปัญหา 8000 – 12000 บาท / เดือน
  • ค่าจิปาถะ(น้ำยาถูพื้น, ค่าอุปกรณ์) 1000 – 3000 / เดือน
  • ค่า WIFI บริการลูกค้า 1000 - 2000 / เดือน
  • ค่าน้ำ 5,000 – 9,000 บาท / เดือน (ขึ้นกับจำนวนลูกค้า)
  • ค่าไฟฟ้า 6000 – 15000 บาท / เดือน (ขึ้นกับจำนวนลูกค้า)
  • ค่าเช่าที่ 8000 – 12000 บาท / เดือน
รวมเงินหมุนเวียนต่อเดือนประมาณ 30,000 – 60,000 บาท
🐤[ บริการหลังการขาย ]
เราต้องดูให้ดีว่ามีแผนบริการหลังการขายกี่ปี รวมถึงการประกันเครื่องจักร
(เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า) เลยจุดคืนทุนของเราหรือไม่(จากการคาดการณ์รายได้)
ถ้าไม่เลยจะมีแผนการเงินในการซ่อมอย่างไร เพราะอะไหล่และค่าบริการในการซ่อมบำรุงเครื่องจักร ค่อนข้างมีราคาสูง
การซ่อมบำรุงแต่ละครั้ง ไม่แค่เราจะเสียโอกาสในการทำเงิน แต่เงินที่ซ่อมก็หมายถึงเราเพิ่มเงินลงทุนไปในธุรกิจ เพราะฉะนั้นการบริการที่ไว ดำเนินการไว ประกันที่ยาวนาน ก็จะช่วงให้เราสบายใจและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
🐤[ ค่าบริการ Royalty fee ]
ธุรกิจแฟรนไซส์lส่วนใหญ่จะมีการเก็บค่า Royalty fee หรือค่าสิทธิที่เราจะใช้นามในแบรนด์ของเขา เราต้องคิดว่ามันคือต้นทุนอย่างนึงที่เราจะต้องหักออกจากกำไรที่เราจะได้ (กำไรน้อยลง คืนทุนนานขึ้น)
แต่ก็แลกมากับชื่อเสียงของแบรนด์ (ลูกค้าไว้ใจและจดจำได้) การโฆษณา (ลูกค้าเห็นเราแบรนด์มากขึ้น) การบริการของแบรนด์ (ความไว ความพร้อมในการบริการเวลาเราเจอปัญหา) ประสบการณ์ของแบรนด์ (มีการจัดการที่ดี เคยทำหรือมีประสบการณ์มาก่อน) เราจึงต้องพิจารณาว่าค่า Royalty fee ที่เราจ่ายไป เราได้จะอะไรกลับมาบ้าง คุ้มค่าไหม
🐤[ จุดเด่นในการให้บริการ ]
เพื่อให้ลูกค้าเลือกใช้บริการร้านเราท่ามกลางคู่แข่ง ถ้าเรามีบริการเสริม เช่น มีบริการรับส่งผ้าถึงที่พัก หรือร้านมีแม่บ้านพับผ้าให้ลูกค้า (ไม่ทำให้ผ้าค้างถังนาน ลูกค้าถัดไปใช้งานต่อได้ไว และอาจเพิ่มความประทับใจ) ร้านมีเครื่องปรับอากาศ มีร้านรับรีดหรือซ่อมผ้าในตัวร้านอยู่ด้วย ร้านมีตู้ขายขนมอัตโนมัติ
🐤[ โดยสรุป ]
  • ทำเล ของเราเป็นอย่างไร กลุ่มลูกค้าเราคือใคร คู่แข่งในระแวกใกล้เคียงเป็นอย่างไร
  • จำนวนเครื่องจักร ความสะอาดเครื่องจักร ความสะอาดภายในร้าน
  • พนักงานที่คอยให้บริการลูกค้า คอยช่วยเหลือเวลาลูกค้ามีปัญหา
  • ที่จอดรถ ที่นั่งพัก หรือบริการเสริมอื่น ๆ ที่จะทำให้ลูกค้าประทับใจ
ทั้งแบบแฟรนไซส์และแบบสร้างแบรนด์เองมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ไม่สามารถตัดสินได้ว่าแบบไหนดีกว่ากัน ขึ้นกับว่าแบบไหนความเหมาะสมกับเรามากที่สุด
 
ถ้าเรามีเงินก้อนแต่ไม่ค่อยมีเวลา การซื้อแฟรนไซส์ก็อาจจะสะดวกกว่า ถ้ามีเงินก้อนน้อยหน่อยก็อาจจะต้องลงแรงหรือศึกษามากขึ้น แต่ทั้งสองแบบก็สามารถเริ่มธุรกิจนี้ได้เหมือนกัน และต้องไม่ลืมสำรองเงินหมุนเวียนในธุรกิจด้วย
ขอให้ทุกคนโชคดีครับ ขอบคุณครับ
โฆษณา