5 ก.ย. 2023 เวลา 12:26 • กีฬา

สรุปให้ฟังแบบเข้าใจง่าย เปิ้ล-นาคร กับ เงินอัดฉีดเจ็ตสกีชิงแชมป์โลก

เรื่องของเปิ้ล-นาคร ศิลาชัย ที่ออกมาเรียกร้องว่า ลูกชาย "ออก้า" คว้าแชมป์โลกเจ็ตสกีมาได้แท้ๆ แต่ไม่ได้เงินอัดฉีด เหตุการณ์เป็นอย่างไร แล้วทำไมกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติถึงไม่ยอมจ่าย ผมจะไปสรุปเหตุการณ์อย่างเข้าใจง่ายที่สุดนะครับ
ต้องอธิบายก่อนว่า นักกีฬาที่ไปสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ ด้วยการคว้าแชมป์รายการใหญ่ๆ เช่น โอลิมปิก, เอเชียนเกมส์ หรือ ศึกชิงแชมป์โลก ภาครัฐจะมีเงินอัดฉีดให้อยู่แล้ว ผ่านทางหน่วยงานที่ชื่อ "กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ" (ผมขอย่อจากนี้ไปว่า กองทุนฯ นะครับ)
2
กองทุนฯ เป็นหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่จัดการเรื่องการอัดฉีดเงินให้นักกีฬาโดยตรง
โดยกองทุนฯ จะได้เงินจาก "ภาษีบาป" กฎหมายไทยระบุว่า เงิน 2% จากภาษีสุรา และยาสูบ จะกลายมาเป็นงบประมาณของกองทุนฯ ในแต่ละปี
ถ้าคิดเร็วๆ ภาษีเหล้า-บุหรี่ รวมกันมีมูลค่า 2 แสนล้านบาทต่อปี แปลว่าโดยกลมๆ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จะมีงบ 4,000 ล้านบาทต่อปีนั่นเองครับ
สำหรับเงินที่กองทุนฯ อัดฉีดให้นักกีฬานั้น ก็จะผกผันตามความสำคัญของอีเวนต์ เช่น
- โอลิมปิกเกมส์ เหรียญทองละ 12 ล้านบาท
- เอเชียนเกมส์ เหรียญทองละ 2 ล้านบาท
- ซีเกมส์ เหรียญทองละ 3 แสนบาท
- รายการชิงแชมป์โลก (กีฬาที่มีบรรจุในโอลิมปิก) เหรียญทองละ 1.5 ล้านบาท
- รายการชิงแชมป์โลก (กีฬาที่ไม่มีในโอลิมปิก แต่มีในเอเชียนเกมส์) เหรียญทองละ 1 ล้านบาท
ดังนั้น วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ที่เพิ่งได้รายการแบดมินตันชิงแชมป์โลกที่เดนมาร์ก ก็จะได้เงินจากกองทุน 1.5 ล้านบาท เป็นค่าอัดฉีดครับผม
เงินจากกองทุนฯ นั้น ไม่ได้มีให้เฉพาะนักกีฬาผู้ใหญ่ แต่รายการเยาวชนชิงแชมป์โลก ก็จะมีเงินให้เหมือนกัน
- เยาวชนชิงแชมป์โลก (กีฬาที่อยู่ในโอลิมปิก) เหรียญทองละ 3 แสนบาท
- เยาวชนชิงแชมป์โลก (กีฬาที่ไม่มีในโอลิมปิก แต่มีในเอเชียนเกมส์) เหรียญทองละ 2 แสนบาท
ทีนี้ดราม่าของเรื่องเปิ้ล-นาคร กับ กองทุนฯ เกิดขึ้นในวันที่ 2 กันยายน เมื่อเปิ้ล-นาคร ออกมาโพสต์ในเฟซบุ๊กว่า ในการแข่งขันเจ็ตสกี ชิงแชมป์โลกปี 2022 ที่ผ่านมา นักกีฬาที่ได้เหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง ยังไม่มีใครได้เงินอัดฉีดเลยแม้แต่บาทเดียว รวมไปถึง ออก้า-นครา ลูกชายของเขา ที่ลงแข่งในรายการนี้ และได้ 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน ก็ยังไม่ได้เงินเช่นกัน
เปิ้ล-นาคร คืออดีตพิธีกรรายการสาระแนโชว์ ที่เคยจัดร่วมกับวิลลี่ แม็คอินทอช และ เสนาหอย-เกียรติศักดิ์ อุดมนาค ก่อนจะแยกตัวมาทำธุรกิจของตัวเอง โดยตัวเขาเล่นเจ็ตสกีตั้งแต่ยังหนุ่ม พอมีลูกชาย ก็ปั้นลูกให้เล่นกีฬาเดียวกัน
คำพูดของเปิ้ล-นาคร ไม่ใช่ไร้เหตุผลเสียทีเดียว เจ็ตสกีอาจจะเป็นกีฬาที่คนเล่นไม่เยอะ แต่ก็เป็นกีฬาที่ถูกบรรจุในเอเชียนเกมส์
ในเอเชียนเกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซีย นักกีฬาเจ็ตสกีจากไทย ทำได้ 1 ทอง 2 เงิน 2 ทองแดง ซึ่งเหรียญที่ทำได้ ก็ถูกบรรจุในตารางเหรียญรวมด้วย
1
โดยเหรียญทอง มาจากอรรถพล คุณสา ได้เหรียญทองจากประเภท Runabout 1100 Stock
ในวันนั้นกองทุนฯ มอบเงินอัดฉีดให้กับนักกีฬาที่ได้เหรียญเอเชียนเกมส์ แต่ในวันนี้ เมื่อเป็นรายการชิงแชมป์โลก กองทุนไม่ได้มอบเงินอัดฉีดให้อีกแล้ว
2
ฝั่งเปิ้ล-นาคร ก็มีคำถามในใจ เพราะเจ็ตสกี มีสมาคมรับรองอย่างถูกต้อง นั่นคือ สมาคมเจ็ตสกีแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ (ชื่อย่อ TJSBA) ไม่ใช่กีฬาโนเนมที่ยังไม่มีองค์กรรองรับ
มุมของเปิ้ล-นาคร ที่พยายามเรียกร้องให้ Community เจ็ตสกีของตัวเอง ก็เข้าใจได้ เขาไม่ได้เรียกร้องให้ลูกตัวเองคนเดียว แต่เรียกร้องให้คนทั้งวงการเจ็ตสกี ว่าควรได้รับเงินอัดฉีดที่เหมาะสม
นั่นคือมุมมองของเปิ้ล-นาคร แต่ผมก็เข้าใจในมุมของกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติเช่นกัน
สาเหตุที่กองทุนฯ ไม่ยอมจ่ายเงินให้ผู้ชนะในรายการเจ็ตสกี ชิงแชมป์โลก มีเหตุผลหลักๆ 3 ข้อด้วยกัน
[ ข้อ 1 - ความยิบย่อยของอีเวนต์แข่งขัน ]
ถ้าเราเทียบกับแบดมินตันชิงแชมป์โลก จะมีทั้งหมด 5 ประเภท ชายเดี่ยว,หญิงเดี่ยว, ชายคู่, หญิงคู่, คู่ผสม ก็ชัดเจนเรียบง่าย แต่ในกีฬาเจ็ตสกีนั้น แบ่งรุ่นย่อยซับซ้อนมาก
ในการแข่งขัน Jet Ski World Finals 2002 ที่สหรัฐอเมริกา มีการชิงชัยถึง "45 ประเภท"
จาก 45 ประเภทนั้น หลายๆ ประเภทก็ไม่ได้รับความนิยม มีคนดู คนรู้จักอยู่น้อยนิด แล้วนักกีฬาไทยคว้าชัยชนะมา 13 ประเภท คำถามคือกองทุนฯ ต้องจ่ายเงินเป็นล้าน ให้ครบทั้ง 13 ประเภทดังกล่าวเลยงั้นหรือ
[ ข้อ 2 - นักกีฬาที่ชนะหลายคน ไม่ตรงกับเงื่อนไขการจ่ายเงิน ]
รุ่นที่ออก้า ลูกชายของเปิ้ล-นาคร ลงแข่งขันแล้วได้เหรียญทอง ชื่อรุ่นจูเนียร์สกี 10-12 Stock มีชาติร่วมแข่งขันแค่ 2 ประเทศ คือไทย กับ สหรัฐอเมริกาเท่านั้น
7
และอีกรุ่นที่ ออก้า ได้เหรียญเงิน คือรุ่นสปอร์ต สลาลม มีชาติร่วมแข่งขันแค่ 4 ประเทศ คือไทย, อังกฤษ, สหรัฐฯ และ คูเวต
6
เอกสารของกองทุนฯ ระบุชัดเจนว่า กีฬาใดก็ตาม ที่ไม่มีในเอเชียนเกมส์ ถ้าจะได้รับเงินสนับสนุน ต้องมีประเทศเข้าร่วมการแข่งขันอย่างน้อย 8 ประเทศ
1
เจ็ตสกี รุ่นจูเนียร์สกี และ สปอร์ตสลาลม ไม่มีบรรจุอยู่ในเอเชียนเกมส์ ดังนั้นก็ต้องมาไล่ดูว่า มีประเทศร่วมแข่งขันถึง 8 ประเทศหรือไม่ ซึ่งพอจำนวนไม่ถึง ก็ไม่มีเหตุที่กองทุนฯ ต้องจ่ายเงิน
3
[ ข้อ 3 - องค์กรผู้จัดศึกเจ็ตสกีชิงแชมป์โลก ไม่ถูกรับรองตามที่กองทุนฯ กำหนด ]
2
ด้วยความที่กีฬาทุกอย่างทั่วโลก มีชิงแชมป์โลกกันเยอะแยะไปหมด ถ้าภาครัฐต้องจ่ายเงินกันทุกกีฬาก็ตายกันพอดี เช่น ถ้ามีหมากเก็บชิงแชมป์โลก กองทุนต้องจ่ายเงิน 1.5 ล้านบาทให้หรือไม่
1
กองทุนเลยวางเงื่อนไขว่า จะจ่ายเงิน ก็ต่อเมื่อการแข่งขันชิงแชมป์โลกนั้น ถูกจัดโดยองค์กรกีฬา ที่ถูกรับรองโดย GAISF (สหพันธ์สมาคมกีฬานานาชาติ)
เช่น ฟุตบอลโลกจัดโดย FIFA และ FIFA ถูกรับรองจาก GAISF แบบนี้ ถ้านักเตะไทยได้แชมป์ฟุตบอลโลก ก็สามารถมารับเงินจากกองทุนได้
หรือ รายการเทควันโด้ชิงแชมป์โลก จัดโดย WT (World Taekwondo) ถ้าวันไหน น้องเทนนิสคว้าแชมป์โลกขึ้นมาเธอก็จะได้รับเงินจากกองทุน เพราะ WT ลงทะเบียนกับ GAISF เรียบร้อย
แต่ปัญหาคือ องค์กรที่จัดแข่งขันเจ็ตสกีชิงแชมป์โลก มีชื่อว่า IJSBA เป็นองค์กรเก่าแก่ก็จริง แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแล GAISF
ถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น กองทุนฯ ก็ต้องมาพิจารณา case by case ว่าควรจะให้เงินอัดฉีดหรือไม่ ซึ่งในคราวนี้ กองทุนฯ ตัดสินใจไม่ให้เงิน
----------------------
[ สรุปดราม่า ]
ดังนั้นในกรณีนี้ ผมอยากบอกว่า เข้าใจทั้งสองฝ่าย
ในมุมของคนเล่นเจ็ตสกี และคุณเปิ้ล-นาคร ก็มองว่า กีฬาของพวกเขามีศักดิ์ศรีไม่ได้ด้อยกว่ากีฬาอื่น และเป็นกีฬาในเอเชียนเกมส์เหมือนกันนะ ทำไมพอมีรายการชิงแชมป์โลก กองทุนฯ จึงซัพพอร์ทไม่ได้
คือด้วยบุคลิกของเปิ้ล-นาคร และประวัติที่เขาทำไว้บางอย่าง ทำให้คนหมั่นไส้เวลาเขาออกมาพูดอะไรก็ตาม
แต่ในเคสนี้ เขาไม่ได้คาดหวังว่าลูกชายต้องได้เงินหรอกครับ เขาแค่อยากต่อสู้เพื่อคอมมิวนิตี้เจ็ตสกีของตัวเอง
2
อย่างไรก็ตาม เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เจ็ตสกี เป็นกีฬาที่เล่นในคนกลุ่มแคบจริงๆ
2
การแข่งชิงแชมป์โลก ที่ออก้า-นครา ไปร่วมแข่งขัน ไม่มีผลการแข่งขันใน wikipedia ด้วยซ้ำ หาข้อมูลอะไรก็ยากมาก กฎกติกาก็คงมีไม่กี่คนที่เข้าใจ ว่าแต่ละประเภทต่างกันอย่างไร
3
ชาวบ้านทั่วไป ไม่มีใครรู้ว่าดูที่ไหน ถ่ายทอดสดช่องอะไร
3
ถามหน่อยว่า ถ้าวิว-กุลวุฒิ ได้เงิน 1.5 ล้านบาท จากแบดมินตันชายเดี่ยวชิงแชมป์โลก แล้ว แชมป์เจ็ตสกี ที่แข่งกันไม่กี่ประเทศ ในประเภทอะไรก็ไม่รู้ จะได้เงิน 1.5 ล้านบาทเท่ากันเลย มันสมควรงั้นหรือ?
2
เรื่องที่เกิดขึ้นในเคสนี้ ส่วนตัวผมคิดว่า ไม่จำเป็นต้องมีใครผิดครับ และไม่จำเป็นต้องมีผู้แพ้-ผู้ชนะด้วย
2
คุณเปิ้ล-นาคร ออกมาพูดครั้งนี้ ทำให้เราได้เข้าใจหลักเกณฑ์การมอบเงินอัดฉีดของกองทุนฯ มากขึ้น ว่าเออ มันไม่ได้ให้กันง่ายๆ นะ
6
นอกจากนั้น ยังเป็นโอกาสให้สมาคมเจ็ตสกี กับ กองทุนฯ ได้พูดคุยกันด้วยว่า แล้วนักกีฬาเจ็ตสกีต้องทำแบบไหน ชนะรายการอะไร ถึงจะมีสิทธิ์ได้เงินอัดฉีดจากรัฐ อาจจะวางประเภทให้ชัดๆ ไปเลย ว่าต้องชนะประเภทนี้ถึงจะได้เงิน ระบุกันให้เคลียร์ไปเลย
3
แทนที่จะมาต่อว่ากันไปมา การไปนั่งคุยกันต่อหน้าเลย ผมว่าสามารถเข้าใจกันได้ง่ายๆ เลยล่ะครับ
1
เพราะปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยการพูดคุยครับ
#LETSTALK
โฆษณา