5 ก.ย. 2023 เวลา 13:58 • ไลฟ์สไตล์

ทำอย่างไร เมื่อปฏิเสธคนไม่เป็น

สมมติว่าเราอยู่บนโลกที่เห็นแก่ตัว
สมมติว่าเราอยู่บนโลกที่แข่งขัน
สมมติว่าเราอบู่บนโลกที่ไม่เห็นหัวใคร
สมมติว่าเราอยู่บนโลกที่เอารัดเอาเปรียบ
หากสมมติข้างต้นเป็นจริง
การเรียกร้อง “ความมีน้ำใจ” ก็เป็นเพียง ข้ออ้างในการตักตวงทรัพยากรอีกฝ่ายที่ยอมให้ความเต็มใจเท่านั้น
การปฏิเสธใครไม่เป็น เป็นสภาวะอันตรายอย่างหนึ่งที่จะตกเป็น “เหยื่อ” ของใครต่อใครในสักวันหนึ่ง ด้วยข้ออ้างที่สุดจะธรรมดาคือ ความเมตตาสงสาร แต่อย่าลืมว่าคนเหล่านั้นไม่ได้รับรู้และอาจไม่ได้เห็นใจความรู้สึกของใครแม้แต่น้อย
เมื่อสมมติข้างต้นเป็นจริง
ผู้คนบนโลกก็ควรเรียนทักษะใหม่เพื่อการเอาตัวรอด
... “ทักษะการปฏิเสธ” ครับ
ใครที่มีความเข้าใจว่า การปฏิเสธคือ การทำร้ายจิตใจผู้อื่นหรือทำให้อีกฝ่ายผิดหวัง คงต้องจับเข่านั่งคุยกันใหม่ นับเป็นเรื่องใหญ่ที่ปล่อยผ่านไม่ได้ครับ
บทความนี้จะไม่พูดถึงการทำร้ายจิตใจแต่จะพูดถึง การรักษาขอบเขต (boundary) ซึ่งเราควรขีดเส้นว่า ขอบเขตของเราอยู่จุดใด และขอบเขตใดที่เราสบายใจ รวมถึงขอบเขตใดที่นำพาสู่เป้าหมายชีวิตเรา
เรื่องไม่ง่ายของผู้ที่ปฏิเสธยาก คือ การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน
หากถามว่า ชัดเจน ระดับใด ก็ต้องระดับปล่อยมือไม่ได้ แม้ลมหายใจสุดท้ายนี่แหละ เมื่อคุณมีเป้าหมายชัดเจน คุณจะรู้ทันทีว่า สิ่งใดยอมได้และยอมไม่ได้ ถอยได้มากน้อยแค่ไหน นั่นคือที่มาของ ขอบเขต หรือ boundary และ เข้าสู่โหมดพิจารณาระดับความสัมพันธ์ว่า หากบุคคลใดไม่เคารพขอบเขต ควรคบต่อหรือว่าปล่อยไป
ดังนั้น วิธีการง่ายที่สุดในการฝึกปฏิเสธเพื่ออยู่กับสังคมสมมติข้างต้น จำเป็นต้องสร้าง 3 สิ่งให้แข็งแรง คือ เป้าหมายส่วนตน > ขอบเขต > ระดับความสัมพันธ์
เราควรขีดขอบเขตที่สบายใจ และขอบเขตที่นำพาสู่เป้าหมายที่แท้จริง
อ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจ อุทาน ! เฮ้ย! มากไปหรือเปล่า แค่ตั้งเป้าหมายชัดเจนเนี่ยนะ ?! ถ้าอย่างนั้น ลองยกตัวอย่างเช่น เราตั้งเป้าหมายไว้ว่า อยากให้ลูกเรียนโรงเรียนที่ดี มีสังคมที่ดีในอนาคต อาจใช้เงินมากแต่เป็นเป้าหมายที่หนักแน่นเพียงพอ เราจะรู้ทันทีว่า เราอาจต้องสละเวลาในการสรรหาและคัดเลือกโรงเรียนที่ดีในช่วงลูกสอบเข้า โดยปฏิเสธการไปออกทริปหรือตีกอล์ฟที่ต่างจังหวัดทันที
หรือ เราในวัยเรียนที่ตั้งเป้าหมายว่า จะสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ให้ได้ เราก็จะรู้ทันทีเช่นกันว่า หากเพื่อนสนิทชวนไปติววิชาฟิสิกส์แบบเอาเป็นเอาตาย เราก็ควรปฏิเสธ และหากเพื่อนสนิทคนนั้นไม่เข้าใจ เราควรปล่อยเขาไปจริง ๆ ครับ
แต่มีคำเตือนในย่อหน้าสุดท้ายสำหรับนักกลัวการปฏิเสธ คือ ระวังเป้าหมายเบื้องลึกในจิตใจที่ชื่อ “อยากได้รับการยอมรับ” ให้ดีครับ เพราะหากมีเป้าหมายเบื้องลึกในจิตใจนี้แฝงก็อยู่ล่ะก็ เป้าหมายอื่นอาจไม่หนักแน่นและมีความหมายพอให้คุณปฏิเสธเลยทีเดียว เอาล่ะ! หลังจากนี้ ไปฝึกปฏิเสธกันให้ชินครับ.
โฆษณา