7 ก.ย. 2023 เวลา 02:30 • ธุรกิจ

Julia Braden ผู้หญิงที่ทำให้โรงภาพยนตร์ทั่วโลก ต้องขายพ็อปคอร์น จนถึงทุกวันนี้

เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกวันนี้พ็อปคอร์นเม็ดเล็ก ๆ กลายเป็นแหล่งเงินสำคัญ สำหรับธุรกิจภาพยนตร์จนแยกกันไม่ขาด
ยืนยันได้จากผลประกอบการของ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR ที่มียอดขายจากธุรกิจพ็อปคอร์นประมาณ 1 ใน 4 ของยอดขายทั้งหมดในบริษัทเลยทีเดียว
เช่น ในปี 2565 เฉพาะธุรกิจพ็อปคอร์นและเครื่องดื่ม มีรายได้ถึง 1,717 ล้านบาท จากรายได้ทั้งหมดอยู่ที่ 6,749 ล้านบาท
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเราถึงต้องกินพ็อปคอร์น ในโรงภาพยนตร์ ?
แม้ทุกวันนี้จะมีขนมอื่น ๆ มาขายเพื่อเป็นตัวเลือกอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่มีขนมชนิดไหนได้รับความนิยมเท่ากับพ็อปคอร์นอยู่ดี
ที่มาของความนิยมนี้ ต้องย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว
สู่จุดเริ่มต้นของการกินพ็อปคอร์นในโรงภาพยนตร์..
โดยตัวเอกของเรื่องนี้ คือคุณ Julia Braden (จูเลีย แบรดเดน) ผู้หญิงที่ริเริ่มโมเดลธุรกิจขายพ็อปคอร์นในโรงภาพยนตร์
แล้วเธอทำอย่างไร ถึงทำให้พ็อปคอร์น กลายเป็นสิ่งที่โรงภาพยนตร์ขาดไม่ได้ และได้รับความนิยมไปทั่วโลก มาจนถึงทุกวันนี้ ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
วัฒนธรรมการกินพ็อปคอร์นในโรงภาพยนตร์ เริ่มต้นจากในสหรัฐอเมริกา
ต้องบอกว่าโรงภาพยนตร์ในยุคแรก ๆ ไม่มีขนมและเครื่องดื่มขายเหมือนทุกวันนี้
แม้จะมีพ่อค้าแม่ค้ามาขายพ็อปคอร์น หน้าโรงภาพยนตร์ โรงละครสัตว์ และสนามเบสบอล จนเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าไปในโรงภาพยนตร์
ที่เป็นแบบนั้นเพราะเจ้าของโรงภาพยนตร์ กลัวว่าผู้ชมจะทำเปรอะเปื้อนบนพรม และเบาะกำมะหยี่สุดหรูหรา
จนกระทั่งปี 1920 หรือเมื่อ 103 ปีที่แล้ว คุณจูเลีย หญิงที่มีอาชีพค้าขาย ในรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา
เธอมองเห็นโอกาสในการขายพ็อปคอร์นให้กับคนที่มาชมภาพยนตร์ ซึ่งมักจะเป็นคนที่มีฐานะดี
คุณจูเลีย จึงเจรจากับ Linwood Theatre โรงภาพยนตร์ชื่อดังของสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้น จนยอมให้เธอตั้งบูทในล็อบบีโรงภาพยนตร์ได้สำเร็จ
เธอจึงเริ่มขายพ็อปคอร์นให้กับผู้เข้าชมภาพยนตร์ ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน แถมยังได้รับความนิยมมาก ๆ
ถามว่าร้านพ็อปคอร์นของคุณจูเลียฮิตแค่ไหน ก็ต้องบอกว่าถึงขั้นพลิกชีวิตของเธอ
โดยในปี 1931 คุณจูเลียกลายเป็นเจ้าของพื้นที่ขายพ็อปคอร์น 4 แห่ง ทั้งบริเวณใกล้ ๆ ไปจนถึงในโรงภาพยนตร์
จนเธอสามารถสร้างรายได้เข้ากระเป๋าได้มากกว่า 14,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับเงินปัจจุบันที่ 336,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 11 ล้านบาทเลยทีเดียว
แล้วทำไมต้องเป็นพ็อปคอร์น ?
จริง ๆ แล้วพ็อปคอร์น เป็นขนมที่ได้รับความนิยมในสหรัฐฯ มานานแล้ว
แต่ในช่วงที่คุณจูเลียเสนอขายพ็อปคอร์นในโรงภาพยนตร์นั้น เป็นช่วงปี 1922-1941 ที่สหรัฐฯ กำลังประสบกับ The Great Depression
หรือที่เรียกได้ว่า เป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่
หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นในตอนนั้น ทำให้เศรษฐกิจหดตัวอย่างมาก เช่น สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2, การล่มสลายของตลาดหุ้นในปี 1929 และความตื่นตระหนกด้านการธนาคารในปี 1930 และปี 1931
แน่นอนว่ายุคที่เศรษฐกิจไม่สู้ดีแบบนี้ ประชาชนก็พยายามหลีกเลี่ยงการใช้เงินฟุ่มเฟือย
การที่คุณจูเลียเลือกขายพ็อปคอร์น ที่มีต้นทุนต่ำอย่างเมล็ดข้าวโพด แถมใช้วัตถุดิบเพียงไม่กี่อย่าง ทำให้มีกำไรได้ แม้ไม่ได้ขายในราคาสูง
พ็อปคอร์นจึงกลายเป็นของฟุ่มเฟือยเพียงไม่กี่อย่าง ที่คนอเมริกันเข้าถึงได้ ในราคาเพียง 10 เซนต์ต่อถุงเท่านั้น
ยิ่งบวกกับการเป็นขนมที่หยิบกินง่าย แถมได้รับอนุญาตให้นำเข้าไปในโรงภาพยนตร์ได้อีก ก็ยิ่งทำให้ร้านขายพ็อปคอร์นของคุณจูเลีย ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
เรียกได้ว่าร้านพ็อปคอร์นในโรงภาพยนตร์ เป็นธุรกิจที่เติบโตได้ดีท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
การเติบโตของธุรกิจของคุณจูเลีย เป็นข้อพิสูจน์ว่า การขายพ็อปคอร์นในโรงภาพยนตร์ เป็นโมเดลที่ได้ผลเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลิ่นเงิน เริ่มโชยมาตามกลิ่น พ็อปคอร์น..
ทำให้โรงภาพยนตร์ มองหาโอกาสกวาดรายได้นี้เสียเอง
และในเวลาต่อมา เจ้าของโรงภาพยนตร์ทั้งหลาย จึงตัดตัวกลางอย่างแม่ค้าขายพ็อปคอร์นออก แล้วโรงภาพยนตร์ ก็ผลิตพ็อปคอร์นขายเสียเอง ซึ่งก็ได้ผลตามคาด
รายได้จากการขายพ็อปคอร์น และเครื่องดื่ม แทบจะมากกว่ารายได้จากค่าตั๋วเสียอีก
และโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ก็ยึดโมเดลธุรกิจขายพ็อปคอร์นควบคู่ไปกับธุรกิจขายตั๋วชมภาพยนตร์ ตั้งแต่นั้นมา
แม้ทุกวันนี้ พ็อปคอร์นที่ขายในโรงภาพยนตร์ จะมีราคาที่เพิ่มขึ้นจากตอนแรกราว 800-1,500%
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า วัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ พร้อมกินพ็อปคอร์นกรอบ ๆ กลายเป็นคู่หูที่ทรงพลังทั้งในแง่ของการเพิ่มอรรถรสในการชมภาพยนตร์ และในแง่การสร้างรายได้ให้กับธุรกิจโรงภาพยนตร์ ที่แยกกันไม่ได้เสียแล้ว..
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป พุ่งเป้าพัฒนาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) เพื่อเข้ามาเติมเต็มและต่อจิกซอว์เทรนด์ไลฟ์สไตล์ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น หลังจากประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยและต่างชาติที่มาใช้บริการร้าน Marimekko Pop-Up Café คาเฟแห่งแรกในโลก พร้อมเดินหน้าปูทางธุรกิจ F&B ภายใต้แบรนด์อื่นในเครือ หวังเจาะตลาดกลุ่มลูกค้า Gen Y - Gen Z มากขึ้น
#TANACHIRA #MarimekkoCafeThailand
โฆษณา