6 ก.ย. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)

หัวลำโพง: อดีตสถานีกลางแห่งแรกที่ยังมีลมหายใจ

ก็เป็นเวลากว่าครึ่งปีแล้วที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ย้ายขบวนรถไฟทางไกลทั้งหมดไปยังสถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แทนที่สถานีรถไฟหัวลำโพงเดิมที่ในปัจจุบันเป็นเพียงแค่จุดสิ้นสุดของรถธรรมดาและรถชานเมืองต่าง ๆ
บรรยากาศของสถานีรถไฟที่เคยคึกคักและเต็มไปด้วยผู้คนจากหลากหลายภูมิภาคทั้งขาเข้าและขาออก ก็ดูเงียบเหงาลงไป หัวลำโพงนับว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ในประวัติศาสตร์ที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์ของไทยมาตั้งแต่การเข้ามาของ “ความเจริญ” จากชาวตะวันตก จนถึงวันสุดท้ายในฐานะของสถานีกลาง
📌ประวัติศาสตร์การคมนาคมไทย
จากคลองสู่ถนน จากถนนสู่ราง การคมนาคมของไทยเริ่มต้นขึ้นในจากการเดินทางทางน้ำเป็นหลักจากสภาพภูมิประเทศเมืองบางกอกที่เต็มไปด้วยคลองจนได้ชื่อว่าเป็นเวนิชตะวันออก
มาสู่การสร้างถนนให้ฝรั่งเดินอย่างถนนเจริญกรุง พร้อม ๆ กับการคมนาคมทางบก ไม่ว่าจะเป็นการเดินเท้า ไปจนถึงรถรับจ้างอย่างรถเจ๊กในสมัยรัชกาล 5 ที่หนาแน่นจนเกิดเป็นพระราชบัญญัติรถลากเพื่อควบคุมการคมนาคมทางบกขึ้นมา
ก่อนที่จะมาถึงการสร้างรถไฟสายแรกในปี 2436 คือรถไฟสายกรุงเทพฯ-ปากน้ำ ที่สถานีหัวลำโพงเดิม ไม่ไกลจากสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ในปัจจุบัน ชื่อหัวลำโพงนี้จึงกลายมาเป็นชื่อบ้านนามเมืองถึงแม้ว่าสถานีหัวลำโพงเดิมจะหายไปแล้ว แต่ชื่อหัวลำโพงก็ยังถูกนำมาเรียกสถานีรถไฟใหม่แห่งนี้ด้วย
📌สถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) กับสถาปัตยกรรมทรงคุณค่า
สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ในปัจจุบันนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 และเปิดใช้งานจริงในสมัยรัชกาลที่ 6 นับว่าเป็นสถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงสถาปัตยกรรมเดิมเอาไว้
สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)
สถาปัตยกรรมของหัวลำโพงเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมนีโอเรอเนซองส์ หรือฟื้นฟูเรอเนซองส์ ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลี่ยนที่ฝากชื่อเอาไว้ในอาคารหลายแห่งอย่าง มาริโอ ตามาญโญ
ตัวสถานีแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คืออาคารมุขทางเดินยาว และอาคารโถงใหญ่ของสถานี มีหลังคาทรงโค้งขนาดใหญ่และกระจกสีที่ช่องระบายอากาศซึ่งรับเอาแสงสว่างจากภายนอกอาคารเข้ามา อีกทั้งยังมีนาฬิกาขนาดใหญ่ติดอยู่กับหน้าบันส่วนนั้นด้วย
ภายในตัวสถานีรถไฟประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์อาหาร ร้านกาแฟ ห้องน้ำ นอกจากนี้ในอดีตยังมีโรงแรมภายในสถานีอีกด้วย ชื่อว่าโรงแรมราชธานี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรงแรมที่หรูหราทันสมัยมากในขณะนั้น
ก่อนที่โรงแรมจะปิดตัวลงไปพร้อม ๆ กับการเข้ามาของรถไฟตู้นอนซึ่งทำให้โรงแรมในสถานีไม่มีความจำเป็นมากนัก โดยในปัจจุบันนี้ โรงแรมราชธานีก็กลายมาเป็นสำนักงานของสถานีไป
โถงด้านในอาคารสถานีกับแสงที่ผ่านกระจกสีเขียวเข้ามาในสถานี
📌จากรถไฟผีสิง ถึง การปิดสถานี: หัวลำโพงบนหน้าหนังสือพิมพ์ไทย
สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) เป็นสถานีกลางที่ถูกใช้ในการคมนาคมทางไกลมาเป็นเวลานาน และผ่านยุคสมัยและเหตุการณ์ต่าง ๆ มาแล้วมากมาย
โดยหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ขึ้นเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับก็คือเรื่องของ “รถไฟผีสิง” หรือเหตุการณ์หัวรถจักรพุ่งชนสถานีในปี พ.ศ. 2529 ซึ่งเกิดจากความประมาทของพนักงานและนำมาสู่อีกหนึ่งโศกนาฏกรรมในหน้าประวัติศาสตร์ โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 4 คนด้วยกัน พร้อมกับความเสียหายต่าง ๆ ต่อทรัพย์สินและผู้คน
กลุ่มกระจกสีที่ด้านหน้าอาคารสถานีในฝั่งชานชาลา
นอกเหนือจากข่าวดังกล่าวแล้ว อีกข่าวหนึ่งที่กลายมาเป็นข่าวที่ผู้คนให้ความสนใจก็คือเรื่องของการปิดสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) หลังจากที่ย้ายสถานีกลางไปยังบางซื่อ และพัฒนาสถานีกรุงเทพฯ ให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์
ซึ่งก็ได้ก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านผ่านสื่อต่าง ๆ และผู้คนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการที่นั่งรถไฟสายชานเมืองเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อทำธุระต่าง ๆ ตามสถานีย่อย ๆ ที่อยู่ก่อนถึงบางซื่อ, กลุ่มนักศึกษาโบราณคดีที่ออกมาต่อต้านและวิจารณ์รัฐว่าเล็งเห็นผลประโยชน์เชิงพาณิชย์มากกว่าความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรม
ซึ่งข่าวการปิดหัวลำโพงนี้เองที่ได้ปลุกกระแสความคิดในเรื่องของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งในปัจจุบันนี้เราจะเห็นได้ว่าหัวลำโพงกลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่กิจกรรมที่มีการจัดอีเวนต์และเวทีเสวนาต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในแง่มุมของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเป็นพื้นที่การเรียนรู้ มากกว่าประโยชน์ในมูลค่าเชิงพาณิชย์
ระเบียงด้านหน้านาฬิกาสถานี ถ่ายจากงาน Hua Lamphong in Your eyes
สำหรับในกาลปัจจุบันนี้ ข่าวการปิดสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่ก็ยังคงเป็นสถานีที่เงียบเหงากว่าแต่ก่อนมากในแง่ของผู้โดยสารเนื่องจากมีเพียงแค่รถชานเมืองและรถธรรมดาเท่านั้นที่วิ่งมายังสถานีแห่งนี้
ในขณะเดียวกันความคึกคักของสถานีรถไฟกรุงเทพฯ หัวลำโพงก็มีขึ้นบ้างเป็นครั้งคราวตามอีเวนต์ต่าง ๆ ที่เล็งเห็นคุณค่าของสถานที่ทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ และเลือกจัดงานเพื่อสร้างชีวิตชีวาให้กับสถานที่แห่งนี้ไม่ให้เหงาและเปล่าเปลี่ยวเกินไป
.
#ที่โปรด #ประวัติศาสตร์ #รถไฟ #หัวลำโพง #กรุงเทพ
โฆษณา