7 ก.ย. 2023 เวลา 14:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ชำแหละ ‘โครงสร้างราคาน้ำมัน’ หากรัฐลดเพียง 1 บาท ต้องแลกกับอะไรบ้าง?

นโยบายลดน้ำมันของรัฐบาลเศรษฐา ต้องแลกกับต้นทุนอะไรบ้างที่ภาครัฐต้องเสียไป เพื่อกดราคาน้ำมันลง ซึ่งราคาน้ำมัน 1 ลิตรไม่ได้มีเพียงต้นทุนเนื้อน้ำมันอย่างเดียว แต่มาพร้อมต้นทุนอื่นอีกหลายประการ
3
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดย “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ประกาศดำเนินนโยบายเร่งด่วน คือ “ลดราคาน้ำมัน” เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ท่ามกลางราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการที่ซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย สองประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ขยายเวลาลดการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจไปจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งน้ำมันที่ทางภาครัฐจะช่วย คงหนีไม่พ้นน้ำมันดีเซลเป็นหลัก น้ำมันที่จำเป็นสำหรับรถกระบะ รถบรรทุก และรถประจำทาง
1
นโยบายใหม่นี้มีวิธีทำให้น้ำมันลงได้อย่างไร และต้องแลกกับต้นทุนอะไรบ้าง เพื่อทำให้ราคาน้ำมันลง
โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีก มีอะไรบ้าง
ทุกคนคงเคยสงสัยกันว่า ราคาน้ำมันขายปลีกตามแต่ละปั๊มในไทย มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมบางวันน้ำมันถูกลง และทำไมบางวันน้ำมันแพงขึ้น อะไรกำหนดราคาขึ้นลงนี้ การจะเข้าใจถึงที่มาที่ไป จำเป็นต้องรู้จัก “โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีก” ก่อน
จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน ราคาน้ำมัน 1 ลิตรที่ขายหน้าปั๊ม ประกอบด้วยต้นทุน 4 อย่างดังต่อไปนี้
1. ต้นทุนน้ำมันหน้าโรงกลั่น (40-60%) เป็นต้นทุนที่เกิดจากการนำเข้าน้ำมันของไทย และกลั่นในประเทศ พร้อมค่าขนส่ง ซึ่งราคาหน้าโรงกลั่นนี้อ้างอิงตามราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์
2. ภาษี 3 ประเภท (30-40%)
- ภาษีสรรพสามิต หรือในภาษาชาวบ้านคือ “ภาษีน้ำมัน” เป็นภาษีที่เก็บจากสินค้าฟุ่มเฟือยหรือปล่อยมลภาวะอย่างน้ำมัน อันเป็นรายได้สำคัญของรัฐบาล
- ภาษีเทศบาล เป็นภาษีที่เก็บโดยกระทรวงการคลัง และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อพัฒนาส่วนท้องถิ่น
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยจัดเก็บ 7% ของราคาขายส่งน้ำมัน และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมัน
3. กองทุน (5-20%)
- กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภาครัฐจัดเก็บเพื่อเป็น “กองทุนรักษาเสถียรภาพน้ำมัน” เปรียบเหมือนกระปุกออมสินพิเศษ เมื่อราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลงอย่างกรณีการระบาดโควิด-19 ผู้คนอยู่แต่ในบ้าน เงินในกระปุกนี้จะเพิ่มพูน แต่เมื่อใดน้ำมันตลาดโลกกลับมาเป็นขาขึ้น รัฐบาลก็จะแคะเงินกระปุกนี้ออกมาชดเชยส่วนต่าง เพื่อพยุงราคาน้ำมันในประเทศไม่ให้สูงเกินไป
- กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดเก็บเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทน และวิจัยด้านพลังงาน
4. ค่าการตลาด (10-18%) เป็นต้นทุนพร้อมกำไรของบริษัทปั๊มน้ำมันต่างๆ ที่มาจากต้นทุนบริหารคลังน้ำมัน ค่าขนส่งน้ำมันมายังปั๊ม ค่าจ้างพนักงานเติมน้ำมัน ค่าบริหารต่างๆ พร้อมส่วนกำไรของธุรกิจปั๊ม
ตัวอย่างการคำนวณราคาน้ำมันขายปลีก กรณีดีเซล B7 ของวันที่ 6 ก.ย.2566 ที่ราคา 31.94 บาท/ลิตร มีที่มาดังนี้
1. ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น 27.1803 บาท
2. ภาษีสรรพสามิต 5.9900 บาท
3. ภาษีเทศบาล 0.5990 บาท
4. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยอุดหนุน ทำให้ต้นทุนหักลบออก -5.5900 บาท
5. กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 0.0500 บาท
เมื่อนำทั้ง 5 รายการนี้รวมกันแล้ว จะกลายเป็น “ราคาขายส่งน้ำมัน” ที่ 28.2293 บาท/ลิตร
เท่านั้นยังไม่พอ ภาครัฐจะเพิ่มภาษี VAT 7% ของราคาขายส่งน้ำมัน ที่ 1.9761 บาทเข้ามาด้วย รวมเป็นทั้งหมด 30.2054 บาท/ลิตร
6. ค่าการตลาด 1.6211 บาท และรวมกับ VAT 7% ของค่าการตลาดอีกครั้งที่ 0.1135 เป็น 1.7346 บาท
ขั้นตอนสุดท้ายก็นำราคาขายส่งน้ำมันที่รวม VAT บวกกับค่าการตลาดที่รวม VAT กลายเป็น “ราคาขายปลีกน้ำมัน” ที่ 31.94 บาท/ลิตร
อ่านต่อ:
อ้างอิง: offo, matichon, youtube, eppo, bangkokbiznews
โฆษณา