8 ก.ย. 2023 เวลา 00:00 • ไลฟ์สไตล์

หรือ “โซเชียลมีเดีย” กำลังจะตาย? เมื่อผู้ใช้เอาไว้ตอบแชต ไม่ทำคอนเทนต์

ในปัจจุบันมีโซเชียลมีเดียจำนวนมากออกมาให้ผู้ใช้ได้เลือกใช้งานมากมาย ทำให้แพลตฟอร์มทั้งหลาย พยายามแข่งขันออกฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดให้ผู้ใช้หันมาดาวน์โหลดใช้งาน แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้ผู้ใช้งานไม่ได้สนใจฟีเจอร์เหล่านั้น เข้าแอปพลิเคชันเพียงแค่ใช้ในการส่งข้อความผ่านไดเร็คเมสเสจเท่านั้น
โซเชียลมีเดียหลายเจ้าเพิ่มฟีเจอร์เข้ามามากมายจนกลายเป็นแพลตฟอร์มเหล่านี้ “ลืมตัวตน” และ “เอกลักษณ์” ของตนเองไป เช่น โซเชียลมีเดียเอาไว้โพสต์รูปภาพอย่าง Instagram ที่ออกฟีเจอร์ Reels สำหรับโพสต์วิดีโอขนาดสั้น เพื่อแข่งขันกับ TikTok จนเริ่มไม่เหมือนอินสตาแกรมที่ทุกคนคุ้นเคย ส่งผลให้ผู้ใช้งานหลายคนรวมถึงเหล่าคนดังสร้างแคมเปญ "Make Instagram Instagram Again'' ให้ Instagram กลับมาเป็นแพลตฟอร์มที่แชร์รูปภาพเหมือนเดิม
นอกจากนี้ Instagram ยังเปลี่ยนจากพื้นที่แบ่งปันรูปภาพในชีวิตประจำวัน กลายเป็นการ “อวด” ไลฟ์สไตล์ ทุกรูปต้องเป๊ะ จัดวางอย่างดี ขาดความเป็นธรรมชาติ ทำให้ผู้ใช้งานหลายคนไม่อยากลงรูป หันไปลงสตอรีส่วนตัว ที่มีอายุอยู่ได้ 24 ชั่วโมงแทน
1
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีฟีเจอร์เพื่อนสนิท หรือ “วงเขียว” ยิ่งทำให้ผู้ใช้หวงแหน “ความเป็นส่วนตัว” มากขึ้น หันมาอัปเดตสตอรีแค่ในวงเขียวเท่านั้น ใช้ไดเรคเมสเสจและการแชตแบบกลุ่มสำหรับแบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ ระหว่างกันมากยิ่ง เรียกได้ว่า “ห่างไกลจากสังคมสาธารณะ” มากขึ้นทุกที
2
ถึงขนาดที่ อดัม มอสเซรี ซีอีโอของ Instagram ออกมายอมรับว่าผู้ใช้เปลี่ยนไป เปลี่ยนเป็นบัญชีผู้ใช้ส่วนตัวมากขึ้น และมักแชร์เรื่องราวของพวกเขาอยู่เพียงแค่ในกลุ่มคนสนิท ไม่เปิดเป็นสาธารณะอีกต่อไป เหลือเพียงแต่เหล่าคนดังและคอนเทนต์ครีเอเตอร์เท่านั้นที่ยังคงโพสต์รูปและ Reels อยู่
กลายเป็นว่าในปัจจุบันโซเชียลมีเดียกลายเป็น “สื่อบันเทิง” มากขึ้น ผู้ใช้นิยมเสพเนื้อหามากกว่าจะสร้างเนื้อหาขึ้นมาเองเหมือนแต่ก่อน บทบาทในฐานะสังคมออนไลน์ลดลง ทำให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ นักการตลาด จนถึงระดับผู้บริหารของโซเชียลมีเดียต่างรู้ดีว่า “โซเชียลมีเดียแบบเก่าได้ตายไปแล้ว”
1
📺จากสังคมกลายเป็นสื่อ
Instagram เริ่มต้นจากการเป็นอัลบั้มรูปภาพส่วนตัว พื้นที่เก็บความทรงจำ แต่ในปัจจุบัน Instagram กลายเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้สำหรับ “ความเป็นส่วนตัว” ภาพลักษณ์ในอุดมคติ งานศิลปะ และเครื่องมือชี้วัดความเป็นไปของยุคสมัย ต่างจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่ใช้คนส่วนใหญ่เอาไว้ใช้ติดตามข่าวสารทั้ง Facebook และ Twitter
2
ซาราห์ ฟรายเออร์ นักข่าวและบรรณาธิการด้านเทคโนโลยีของสำนักข่าว Bloomberg กล่าวว่า เมื่อ Instagram พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ มีฟิลเตอร์ต่าง ๆ ให้ใช้ มีแฮชแท็ก มีคอนเทนต์แนะนำให้ผู้ใช้ได้เห็นรูปภาพของคนที่ไม่รู้จัก มันทำให้ทัศนคติของผู้ใช้เปลี่ยนไป จากเดิมที่เอาไว้ลงรูปให้คนที่รู้จักเห็น กลายเป็นว่าพวกเขาต้องมานั่งคิดว่า ลงแคปชันอะไรดี ใช้อิโมจิดีไหม หรือจะไม่ใส่อะไรเลยให้รูปภาพทำหน้าที่ของมันเอง
คำถามเหล่านี้ล้วนทำให้ผู้ใช้งานเริ่มรู้สึก “ไม่สนุก” และรู้สึกว่า Instagram ในทุกวันนี้ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาเคยรู้จักอีกต่อไป รวมถึงฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่ถูกใส่เข้ามาตลอด ทั้ง Reels ที่แทบจะกลายเป็นตัวชูโรงของ Instagram ในขณะนี้ แล้วยังมีการไลฟ์สด และขายสินค้าออนไลน์ ก็เป็นส่วนที่ทำให้ผู้ใช้งานสับสน แถม Instagram ให้การสนับสนุนแก่เหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั้งในเรื่องเทคนิคการถ่ายทำและค่าตอบแทน จนคอนเทนต์ที่คุณภาพมากขึ้นทั้งเนื้อหา การตัดต่อและการถ่ายทำ ชนิดที่คนธรรมดาทั่วไปไม่สามารถสร้างสรรค์ได้
1
📺ผู้คนใช้งานแอปน้อยลง
1
ด้วยภาพรวมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ผู้ใช้งานจำเป็นต้องเฟ้นหาภาพที่ดีที่สุด และตกแต่งภาพจน “สมบูรณ์แบบ” ถึงจะลง Instagram ได้ ซึ่งทำจังหวะการโพสต์เนื้อหาเปลี่ยนไป กลายเป็นผู้ใช้งานไม่โพสต์รูปเหมือนถี่เหมือนเดิม
1
แอนเดรีย คาซาโนวา นักยุทธศาสตร์กล่าวกับสำนักข่าว Insider ว่า เมื่อผู้ใช้งานนั่งไถฟีด พวกเขาจะเปิดคลิปหรือรูปภาพของเหล่าคนดังที่มีไลฟ์สไตล์เป็นเอกลักษณ์ หรือมีความสามารถเฉพาะตัว จนทำให้พวกเขาไม่อยากโพสต์อะไรลงไปบนฟีดของตัวเอง เพราะคิดว่าพวกเขาไม่ดีพอ หรือไม่มีอะไรไปอวด เลยไม่จำเป็นต้องแชร์อะไร
1
เมื่อผู้ใช้งาน Instagram ลดลงทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่พยายามจะก้าวขึ้นมาแย่งชิงผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น BeReal โซเชียลมีเดียสัญชาติฝรั่งเศส ได้รับความนิยมอยู่ระยะหนึ่งจนมียอดดาวน์โหลดถึง 75 ล้านครั้ง หรือ Bondee แอปพลิเคชันสร้างตัวละครเสมือนที่ฮอตฮิตเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา รวมถึง Dispo, Poparazzi และ Locket ที่พยายามแทรกตัวขึ้นมาให้ผู้ใช้งานได้รู้จัก แต่ทุกแพลตฟอร์มที่กล่าวมาล้วนผ่านมาแล้วผ่านไป จุดกระแสได้เพียงไม่กี่วัน ผู้ใช้งานก็เริ่มเบื่อ
แม้กระทั่งแอปพลิเคชันใหม่ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้ง Lemon8 แพลตฟอร์มแชร์รูปภาพ จาก ByteDance ซึ่งมีบริษัทแม่เดียวกันกับ TikTok ส่วน Theads ของ Meta ที่พัฒนาออกมาให้คล้ายกับ Twitter แม้จะกลายเป็นแอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดทะลุ 100 ล้านครั้งเร็วที่สุด แต่ตอนนี้กลับมียอดผู้ใช้งานลดต่ำลงอย่างมาก
คาซาโนวา ชี้ให้เห็นว่าการที่แอปพลิเคชันใหม่ ๆ ไม่สามารถยืนระยะได้นานเป็นเพราะว่า แอปพลิเคชันเหล่านี้ไม่ได้มีฟังก์ชันใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ เป็นเพียงการลอกไอเดียกันไปมา
1
📺ใช้งานแค่แชตเท่านั้น
ในยุคที่ผู้ใช้งานเริ่มเบื่อหน่ายกับรับรู้ข้อมูลที่มากเกินไป และอยากหลบไปจากสายตานับร้อยนับพัน ที่คอยจับจ้อง ทำให้พวกเขากลับไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งก็คือเพื่อนและคนรู้จักมากยิ่งขึ้น มอสเซอรีเปิดเผยในรายการพอดแคสต์ 20VC ว่า “คนรุ่นใหม่ใช้เวลาอยู่ในหน้าข้อความส่วนตัวและสตอรีมากกว่าไถดูรูปบนหน้าฟีด” จุดนี้เองที่ทำให้ Instagram ต้องพัฒนาระบบให้ผู้ใช้สามารถส่งข้อความผ่านหน้าสตอรีได้ เพื่อรองรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้
“วงเขียว” กลายเป็นพื้นที่ส่วนตัวบนโซเชียลมีเดียและกลายเป็นชุมชนเฉพาะกลุ่ม (Niche Communities) ซึ่งมีความเฉพาะตัวและเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น เป็นสิ่งที่อัลกอริธึมไม่สามารถมอบให้ผู้ใช้งานได้ ในจุดนี้ทำให้ Instagram พยายามใช้ประโยชน์จากความต้องการความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ด้วยออกบริการสมัครสมาชิกแบบชำระเงินที่จะให้ได้แชตกลุ่มแบบพิเศษ
ลิอา ฮาเบอร์แมน ที่ปรึกษาของ American Influencer Council สมาคมคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในสหรัฐ กล่าวว่า “เจนอัลฟา” (Gen Alpha) ซึ่งเป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า 13 ปี ไม่ยอมรับแพลตฟอร์มและวัฒนธรรมโซเชียลมีเดียแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นงานยากสำหรับเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่จะดึงดูดความสนใจของพวกเขาได้ เพราะความสนใจและชุมชนของเจนอัลฟาจะมีขนาดเล็กและเจาะเข้าไปได้ยาก
1
“แบรนด์จะไปโผล่ในกล่องข้อความ หรือ เซิร์ฟเวอร์ Discord ของเจนอัลฟาได้อย่างไร หากพวกเขาไม่ได้รับเชิญ ซึ่งแน่นอนว่าคนรุ่นใหม่ไม่ยอมให้แบรนด์และนักการตลาดเแทรกซึมเข้าไปในชุมชนของพวกเขาได้" ฮาเบอร์แมนกล่าวว่า
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ต่างเปิดเผยทุกอย่างลงไปในโลกโซเชียล แต่ในวันนี้ทุกอย่างมันกลับตาลปัตร คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวต่อสาธารณะ คัดเลือกคนให้เข้ามาอยู่ในวงจรชีวิตมากขึ้น จนอาจกล่าวไว้ว่าตอนนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของโซเชียลมีเดีย
โฆษณา