7 ก.ย. 2023 เวลา 12:00 • ธุรกิจ

จีนจะถูกล้มกระดานในตลาดแบตเตอรี่ EV ได้หรือไม่?

ในช่วงที่หลายๆ คนหันมาสนใจรถ EV ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับแบตเตอรี่และการจัดเก็บพลังงาน กลายเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรม EV เพราะแน่นอนว่าหากเราจะซื้อรถที่ใช้ไฟฟ้าสักคัน
สิ่งแรกที่เราอยากรู้คือแบตเตอรี่มีความจุเท่าไร วิ่งได้นานแค่ไหน และค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่เท่าไร ดังนั้นถ้าในอนาคตที่เทคโนโลยีแบตเตอรี่ไปได้ไกลแค่ไหน ก็หมายถึงว่าเราจะได้เห็นรถ EV บนท้องถนนมากขึ้นเท่านั้น
ปัจจุบันแบตเตอรี่กว่า 1 ใน 3 ของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ถูกผลิตโดย CATL บริษัทแบตเตอรี่ต้นทุนต่ำสัญชาติจีน ที่สามารถเอาชนะคู่แข่งจากทางเกาหลี ญี่ปุ่นได้จนทำให้สหรัฐฯ และยุโรป อาจจะต้องหนักใจว่า จะกระตุ้นอุตสาหกรรม EV ได้อย่างไร โดยไม่ต้องพึ่งชิ้นส่วนสำคัญจากจีน
ถึงแม้จีนจะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ราคาถูก ที่กลายมาเป็นตัวหลักๆ ในตลาด แต่คำถามคือ แล้วบริษัทอื่นๆ จะสามารถพัฒนาแบตเตอรี่ที่ราคาถูกกว่า เทคโนโลยีดีกว่า เพื่อต่อสู้กับจีนที่ครองตลาดอยู่ได้หรือไม่?
🔋 แบตเตอรี่สัญชาติจีน…ถูกและดีมีอยู่จริง
ถ้าพูดกันตามตรง บริษัทอื่นๆ มักเอาแต่มองถึงเรื่องประสิทธิภาพแบตเตอรี่ที่ล้ำๆ แต่ไม่ค่อยได้มองเรื่องความสามารถในการซื้อของผู้บริโภคเหมือนกับจีน ที่พยายามทำให้แบตเตอรี่ราคาถูกลงเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ จีนก็เลยมีโอกาสได้ขึ้นมาครองตลาดด้วยราคาที่ดีกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย
ผู้เล่นรายใหม่ๆ ก็เข้ามาแข่งได้ยากเนื่องจาก CATL ได้กลายเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม มีการลงทุนในเรื่องการวิจัยและพัฒนา และพยายามเปลี่ยนจากงานวิจัยให้ออกมาเป็นเทคโนโลยีจริงๆ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว
ความได้เปรียบของ CATL ทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติสหรัฐฯ อย่าง Ford ก็ได้ออกใบอนุญาตเทคโนโลยีของ CATL และความรู้ทางด้านวิศวกรรม เพื่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่มูลค่ากว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่รัฐมิชิแกน
2
ทางด้าน BYD บริษัทรถยนต์ EV ชื่อดังก็ไม่น้อยหน้า สามารถครองส่วนแบ่งตลาดแบตเตอรี่ไปได้ถึง 15% ซึ่งไม่ได้ถูกใช้ในรถ EV แบรนด์ของตัวเองที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่ยังถูกใช้ในรถ EV ค่ายคู่แข่งอื่นๆ ของจีนอีกด้วย
1
CATL และ BYD สามารถบริหารต้นทุนของแบตเตอรี่ที่ผลิตขึ้นมา ให้เหลิอแค่น้อยกว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/GWh เมื่อเทียบกับบริษัทอืนๆ เช่น LG และ SK ของเกาหลีที่มีต้นทุนอยู่ที่ $88 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/GWh และ Panasonic ของญี่ปุ่น ที่มีต้นทุนอยู่ที่ $103 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/GWh
1
🔋 เมื่อสู้ไม่ไหว…ก็ต้องหาเทคโนโลยีใหม่มาล้มกระดาน
จะเห็นได้ว่าช่องว่างของต้นทุนนั้นดูเหมือนจะกว้างจนปิดได้ยาก บริษัทคู่แข่งต่างชาติจึงเลือกที่จะวางเดิมพันกับเทคโนโลยีที่เกิดใหม่แทน
ความท้าทายล่าสุดเกิดขึ้นจากทางฝั่ง LG Energy Solution, SK On และ Samsung SDI แห่งเกาหลีใต้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน โดยผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมแบบ NMC (ประกอบด้วยลิเธียม–นิกเกิล–แมงกานีส–โคบอลท์)
2
เทคโนโลยีนี้ถูกใช้ในรถ EV ที่ขายนอกประเทศจีนเป็นหลัก ซึ่งหากเปรียบเทียบกันแล้วถือว่าเป็นแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าแบบแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ฟอสเฟต (LFP) ที่ CALT เชี่ยวชาญ แต่ข้อเสียคือราคาแพงกว่า มีอายุการใช้งานสั้นกว่า และมีประวัติว่าเคยทำให้เกิดเพลิงไหม้
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เทคโนโลยี LFP ของจีน น่าจะกลายเป็นตัวหลักในตลาดแบตเตอรี่รถ EV ทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะตอบโจทย์ผู้ใช้รถ EV ชาวจีน แต่ยังไม่ตอบโจทย์การขับขี่ในโลกตะวันตกเท่าไรนัก เนื่องจากผู้ใช้รถ EV ชาวจีนส่วนใหญโดยเฉลี่ยมักขับระยะทางสั้นๆ ในเมืองใหญ่ ซึ่งมีสถานีรองรับการชาร์จเยอะ ต่างจากผู้ใช้รถในอเมริกาเหนือที่ขับรถระยะไกลๆ
ทางด้าน Panasonic ของญี่ปุ่น จึงหวังจะเอาชนะโดยการมุ่งเป้าไปที่การผลิตแบตเตอรี่ระดับบนๆ และเลือกลงทุนในสหรัฐฯ โดยตั้งเป้าว่าจะสร้างโรงงานอย่างน้อย 2 แห่ง เพื่อให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เป็น 4 เท่า ในปี 2030 โดยบริษัทโฟกัสที่แบตเตอรี่ที่ใช้นิกเกิลเป็นหลัก ซึ่งมีข้อได้เปรียบในเรื่องเวลาชาร์จ ความปลอดภัย และสามารถรีไซเคิลได้ จึงได้เปรียบเหนือกว่าแบตเตอรี่ชนิด LFP ของ CALT
2
Panasonic จึงได้เป็นพาร์ทเนอร์ในการผลิตแบตเตอรี่ให้กับ Tesla แล้วยังได้หารือเพื่อที่จะจัดหาแบตเตอรี่ให้กับบริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Mazda และ Subaru อีกด้วย ซึ่งคาดว่าการเจรจาหารือกับบริษัทเหล่านี้ก็เพื่อกระจายความเสี่ยงจากปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ถ้าดูจากเทคโนโลยีที่ระดับเดียวกัน และคำนึงถึงปัจจัยทางรัฐศาสตร์ด้วยแล้ว แนวโน้มที่ Panasonic จะแพ้ให้กับ CALT ของจีน ในตลาดอเมริกาเหนือนั้นเป็นไปได้ยากมาก
นอกเหนือไปจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยแล้ว ในบรรดาเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ ก็มี แบตเตอรี่โซลิดสเตต (Solid-state Battery) ที่อาจจะเข้ามาเป็นตัวเปลี่ยนเกมในตลาดแบตเตอรี่เพราะมีการปรับปรุงทั้งความจุ
และเวลาในการชาร์จ มีความปลอดภัยสูงและอัตราการติดไฟต่ำ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดขนาด ราคา และน้ำหนักของแบตเตอรี่ EV ได้กว่าครึ่ง
ทำให้น่าจะเปิดโอกาสให้กับเทคโนโลยีอีกมากมายในวันข้างหน้า ไม่แน่ว่าอีกไม่นานเราอาจจะมีรถบรรทุกที่สามารถชาร์จไฟแล้ววิ่งระยะไกลๆ ได้ หรือเครื่องบิน เรือขนส่ง ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
นอกจากนี้ยังมีแบตเตอรี่ที่ทำจากโซเดียมไอออน ซึ่งต้นทุนถูกกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนชนิด NMC และ LFP ราวๆ 15-20% และคาดว่าจะถูกนำไปใช้กับที่จัดเก็บพลังงานแบตเตอรี่ และรถยนต์ระดับล่างๆ ส่วนแบตเตอรี่โซลิดสเตตน่าจะใช้กับรถที่มีราคาแพง และสมรรถนะสูง
1
ด้วยภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาห่วงโซ่อุปทาน การที่ความต้องการแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงเป็นเหตุว่าทำไมถึงการพัฒนาแบตเตอรี่แบบโซเดียมไอออนและโซลิดสแตตขึ้นมา
ทุกวันนี้แบตเตอรี่โซลิดสเตตหลายชนิดยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา แต่ด้วยความที่ ซึ่งหากผู้ชนะเกมนี้คือสหรัฐฯ ไม่ใช่จีน ก็อาจจะเป็นจุดพลิกที่สำคัญที่สามารถล้มกระดานในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ได้เลย…
 
แต่คำถามคือ จะเอาชนะกันที่ด้านไหน เทคโนโลยีที่เหนือกว่า คุณภาพที่มากกว่า หรือราคาที่ถูกกว่า?
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา