8 ก.ย. 2023 เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

"วีระวงค์" ไขคดีหุ้น WEH ซัดผู้พิพากษาอังกฤษตัดสินผิดหลักกฏหมายไทย

"วีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ" ซัดผู้พิพากษาอังกฤษ Calver วินิจฉัย"จำเลยร่วมกระทำการ"โกงเจ้าหนี้ และเปิดโอกาสให้กลุ่มนายนพพร เรียกร้องความเสียหายจากสิทธิตามสัญญา โดยอ้างเหตุ“ละเมิด” ผิดหลักกฎหมายไทยชัดแจ้ง
นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ นักกฏหมายชื่อดัง (ผู้ก่อตั้งบริษัท วีระวงค์ ชินวัฒน์ และพาร์ทเนอร์ส จำกัด : WCP) หนึ่งในจำเลยคดีหุ้นวินด์ เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) ซึ่งศาลชั้นต้นอังกฤษ เมื่อวันที่ 31 ก.ค.66 มีคำตัดสินให้ร่วมกันจ่ายค่าเสียหายราว 900 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 30,000 ล้านบาท ให้แก่ นพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ WEH
ได้โพสต์นำเสนอ บทความเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่อง"คดีหุ้นวินด์ของศาลอังกฤษ" ในช่วงที่ผ่านมาแล้ว 2 ตอน คือ
1.เรื่อง“ความเท็จ-ความจริงในคำพิพากษาคดีหุ้นวินด์ของศาลอังกฤษ”
2.เรื่อง“ผู้พิพากษาอังกฤษโกหก-เท็จหรือไม่?
และล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.ย.66 นายวีระวงค์ ได้โพสต์” ผ่านเพจเฟสบุ๊คส่วนตัว นำเสนอบทความต่อ เรื่อง " Q&A ผู้พิพากษาอังกฤษ ตัดสินผิดหลักกฏหมายไทยหรือไม่ ? รายละเอียดดีงนี้
Q: โจทก์ไปฟ้องคดีที่ศาลในประเทศอังกฤษ เหตุใดผู้พิพากษาอังกฤษต้องใช้กฎหมายไทยในการตัดสินคดี
A: เป็นหลักการระหว่างประเทศที่เกือบทุกประเทศยอมรับนำไปใช้เป็นกฎหมายภายในประเทศของตนเอง (รวมทั้งประเทศไทยและประเทศอังกฤษด้วย) ว่า หากมีการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายที่ศาลในประเทศของตน แต่ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการที่โจทก์มาฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายนั้นมาจากการกระทำ “ละเมิด” ที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น ศาลจะต้องใช้กฎหมายของประเทศที่มีการ “ละเมิด” เกิดขึ้นนั้นบังคับแก่คดี ดังนั้น คดีนี้เมื่อการ “ละเมิด” เกิดขึ้นในประเทศไทย นาย Calver จึงต้องวินิจฉัยว่ามีการ “ละเมิด” เกิดขึ้นหรือไม่ตามหลักกฎหมายไทย
Q: การกระทำ “ละเมิด” ตามหลักกฎหมายไทยคืออะไร
A: การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง (ก) กระทำผิดกฎหมายต่อบุคคลอื่น (ข) ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ (ค) ทำให้เขาเสียหาย ซึ่งต้องเป็นความเสียหายเฉพาะในส่วนของ ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือ #สิทธิ หากมี #องค์ประกอบครบทั้งสามข้อ
กฎหมายไทยจะถือว่าบุคคลนั้นกระทำ “ละเมิด” ต่อบุคคลอื่นและต้องชดใช้ค่าเสียหายที่ตนทำให้เกิดขึ้นแก่บุคคลอื่นนั้น (มาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ซึ่งหากการกระทำ “ละเมิด” นั้นเกิดจากการกระทำของบุคคลหลายคน ก็จะถือว่าบุคคลเหล่านั้นร่วมกันกระทำละเมิด (มาตรา 432 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
Q: ในคดีหุ้นวินด์ที่ศาลอังกฤษนี้ โจทก์กล่าวหาว่ามีการกระทำ “ละเมิด” ตามหลักกฎหมายไทยอย่างไร
A: โจทก์ คือ นายนพพร กับบริษัทของนายนพพร (กลุ่มนายนพพร) กล่าวอ้างว่า การที่บริษัท REC ขายหุ้น WEH (คือหุ้นวินด์) ที่ถืออยู่ออกไปให้แก่คุณหญิงกอแก้วนั้นถือเป็น (ก) กระทำผิดกฎหมายเรื่อง “โกงเจ้าหนี้” ต่อกลุ่มนายนพพร (ข) ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
(ค) ทำให้กลุ่มนายนพพรได้รับ ความเสียหายแก่ #สิทธิตามสัญญา คือ สิทธิที่จะได้รับชำระค่าหุ้นเพิ่มเติมจากบริษัทของนายณพ ซึ่งยังเป็นคดีพิพาทกันอยู่ และขอให้ศาลอังกฤษพิพากษาให้จำเลยทั้งหมดซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าในส่วนใด ๆ กับการที่บริษัท REC ขายหุ้น WEH นี้ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในฐานะผู้ร่วมกันกระทำ “ละเมิด”
Q. ในการตัดสินคดีนี้ นาย Calver วินิจฉัยว่าจำเลยร่วมกันกระทำการ “ละเมิด” โดยมีองค์ประกอบครบ ทั้งสามข้อแล้วนั้น ถูกต้องตามหลักการของกฎหมายไทยหรือไม่
A: การวินิจฉัยของนาย Calver ผิดหลักกฎหมายไทยอย่างชัดแจ้ง เนื่องจากความเสียหายแก่ #สิทธิตามสัญญา ไม่ใช่ความเสียหายในเรื่อง “ละเมิด” กรณีตามข้ออ้างของกลุ่มนายนพพรจึงมี #องค์ประกอบไม่ครบทั้งสามข้อ คือ ขาดเรื่อง “ความเสียหาย”
การกระทำ “ละเมิด” จะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะเมื่อมีการกระทำผิดกฎหมายเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติผิดสัญญาเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย กรณีผิดสัญญาจึงมีหลักกฎหมายรองรับให้ไปเรียกร้องกันได้ในฐานของสัญญา แยกเป็นคนละเรื่องกันกับ “ละเมิด” ซึ่งเป็นกรณีผิดกฎหมาย
ความเสียหายแก่ #สิทธิ ซึ่งกฎหมายให้นำมาเรียกร้องกันได้ในเรื่อง “ละเมิด” จึงจำกัดอยู่เพียง “สิทธิของบุคคลหนึ่งที่ใช้ยันกับบุคคลที่กระทำผิดกฎหมายนั้นได้” เท่านั้น ซึ่งกฎหมายถือเป็น #สิทธิเด็ดขาด เช่น สิทธิในร่างกาย สิทธิตามกฎหมายในทรัพย์สิน เพราะเป็นสิทธิที่ใช้ยันกับบุคคลใด ๆ ก็ได้เนื่องจากมีกฎหมายรองรับ โดยไม่ต้องมีสัญญาระหว่างกัน
สำหรับ “สิทธิที่ใช้ยันกันได้เพราะมีสัญญาระหว่างกัน” ซึ่งกฎหมายถือเป็น #สิทธิตามสัญญา นั้น เป็นสิทธิที่ไม่สามารถใช้ยันกับบุคคลที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญา ความเสียหายที่เกิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาถือเป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญา ไม่ต้องกล่าวอ้างว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมายก็เรียกร้องค่าเสียหายกันได้ในฐานของสัญญา ต่างกับเรื่อง “ละเมิด” ซึ่งต้องพิสูจน์ว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ กลุ่มนายนพพรได้ใช้สิทธิตามสัญญาอยู่แล้วโดยการไปฟ้องคดีอนุญาโตตุลาการเรียกร้องเงินตามสัญญาซื้อขายหุ้นจากบริษัทของนายณพ และคดียังไม่เป็นที่ยุติเพราะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลไทยว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นสามารถใช้บังคับได้หรือไม่ ซึ่งตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ก็ไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่ากลุ่มนายนพพรได้รับความเสียหายใด ๆ เพราะยังบอกไม่ได้ว่ากลุ่มนายนพพรมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากบริษัทของนายณพหรือไม่ จำนวนเท่าใด
การเปิดโอกาสให้กลุ่มนายนพพรมาเรียกร้องความเสียหายจาก “สิทธิตามสัญญา” โดยอ้างเหตุ “ละเมิด” ทั้ง ๆ ที่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางสัญญาไว้แล้ว และกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายในขณะที่คดียังไม่ถึงที่สุด จึงผิดหลักกฎหมายไทยอย่างชัดแจ้ง
Q: นาย Calver จะต้องวินิจฉัยเรื่อง “โกงเจ้าหนี้” กับ “ละเมิด” ตามลำดับก่อนหลังอย่างไร
A: หากจำเลยไม่ได้กระทำการ “โกงเจ้าหนี้” ก็จะไม่มีการกระทำ “ละเมิด” เพราะไม่มีการกระทำที่ผิดกฎหมาย นาย Calver จึงต้องวินิจฉัยก่อนว่าจำเลยได้ร่วมกันกระทำการ “โกงเจ้าหนี้” หรือไม่
Q: ในการวินิจฉัยว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเรื่อง “โกงเจ้าหนี้” หรือไม่นั้น นาย Calver จะต้องใช้กฎหมายไทยด้วยหรือไม่
A: นาย Calver จะต้องใช้กฎหมายไทยในการวินิจฉัย ซึ่งมีหลักว่า การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง (ก) ย้ายทรัพย์ ซ่อนเร้นทรัพย์ หรือโอนทรัพย์ไปให้แก่ผู้อื่น หรือแกล้งให้ตนเองเป็นหนี้ที่ไม่เป็นความจริง (ข) เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนเองหรือเจ้าหนี้ของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ (ค) โดยเจ้าหนี้นั้นได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้แล้วหรืออยู่ระหว่างที่จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล หากมี #องค์ประกอบครบทั้งสามข้อ กฎหมายไทยจะถือว่าบุคคลนั้นกระทำความผิด “โกงเจ้าหนี้” (มาตรา 350 ประมวลกฎหมายอาญา)
Q: ในการตัดสินคดีนี้ นาย Calver วินิจฉัยว่าจำเลยร่วมกันกระทำการ “โกงเจ้าหนี้” การวินิจฉัยในส่วนนี้ถูกต้องตามหลักการของกฎหมายไทยหรือไม่
A: การวินิจฉัยของนาย Calver ผิดหลักกฎหมายไทยอย่างชัดแจ้ง กล่าวคือ การโอนทรัพย์ของบุคคลใดออกไปอันจะถือเป็นความผิดฐาน “โกงเจ้าหนี้” ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของผู้อื่นไม่ใช่เจ้าหนี้ของบุคคลนั้น จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ของผู้อื่นนั้น #มีสิทธิเหนือทรัพย์ที่โอนออกไป_หรือมีสิทธิได้รับชำระหนี้เอาจากทรัพย์ที่โอนออกไป โดยการโอนทรัพย์ออกไปมี
#จุดมุ่งหมาย_หรือเจตนาพิเศษ_เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของผู้อื่นนั้นมาเรียกเอาทรัพย์นั้นไปได้หรือได้รับชำระหนี้จากทรัพย์นั้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยอมรับกันว่ากลุ่มนายนพพรเป็นผู้ขายหุ้น REC ที่เคยถืออยู่ให้แก่บริษัทนายณพเท่านั้น ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ของบริษัท REC และไม่ได้มีสิทธิเหนือหุ้น WEH หรือมีสิทธิได้รับชำระหนี้เอาจากหุ้น WEH ที่บริษัท REC เป็นเจ้าของและขายออกไป การที่บริษัท REC ขายหุ้น WEH ออกไปจึงเป็นสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ไม่ใช่การโอนออกไป
โดยมี #จุดมุ่งหมาย_หรือเจตนาพิเศษ_เพื่อมิให้กลุ่มนายนพพรมาเรียกเอาหุ้นWEH ไปได้หรือได้รับชำระหนี้จากหุ้น WEH การที่บริษัท REC ขายหุ้น WEH ออกไปจึงไม่เป็นการกระทำความผิดฐาน “โกงเจ้าหนี้” และผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นจำเลยทั้งหมดก็จะถือว่าเป็นผู้ร่วมกันการกระทำความผิดฐาน “โกงเจ้าหนี้” ไม่ได้ เพราะมี องค์ประกอบไม่ครบทั้งสามข้อ คือ ขาดเจตนาพิเศษในการที่จะให้เจ้าหนี้ของผู้อื่นไม่ได้รับชำระหนี้เอาจากทรัพย์ที่โอนออกไป
นี่คือเหตุผลที่ว่าในการดำเนินกิจการของบริษัทในประเทศไทยนั้น บริษัทสามารถจำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินของตนเองได้โดยชอบ ไม่จำต้องไปกังวลหรือคำนึงว่าการดำเนินการใด ๆ กับทรัพย์สินของบริษัทจะไปทำให้เจ้าหนี้ของผู้ถือหุ้นรายใดรายหนึ่งซึ่งไม่ใช่เจ้าหนี้ของบริษัทมากล่าวหาว่าบริษัททำความผิดฐาน “โกงเจ้าหนี้”
เพราะทรัพย์สินของบริษัทลดลงหรือได้เงินมาไม่คุ้มค่า เนื่องจากบริษัทไม่ได้มี #จุดมุ่งหมาย_หรือเจตนาพิเศษ_เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของผู้อื่นนั้นมาเรียกเอาทรัพย์นั้นไปได้หรือได้รับชำระหนี้จากทรัพย์นั้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิด “โกงเจ้าหนี้”
Q: ผู้พิพากษาอังกฤษจะใช้กฎหมายไทยในการวินิจฉัยคดีได้ด้วยวิธีใด
A: ทั้งโจทก์และจำเลยในคดีนี้ได้นำนักกฎหมายไทยที่ตนว่าจ้างมาทำหน้าที่พยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายไทย เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายไทยที่จะใช้บังคับแก่คดีกับนาย Calver ในระหว่างพิจารณาคดี โดยนาย Calver ได้กล่าวอ้างหลักการสำคัญในการรับฟังคำเบิกความของพยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเพื่อนำไปใช้วินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ตนจะต้องยึดถือปฏิบัติไว้หลายประการในคำพิพากษา ซึ่งรวมทั้ง
(1) ผู้พิพากษาอังกฤษจะต้องประเมินคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพื่อคาดการณ์ว่าศาลสูงสุดของต่างประเทศนั้นน่าจะตัดสินคดีอย่างไร โดยไม่ใช้ความเห็นส่วนตัว หรือยอมให้พยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายใช้ความเห็นส่วนตัวมากดดัน
(The task of the English court is to evaluate the expert evidence of foreign law and to predict the likely decision of the highest court in the relevant foreign system of law, rather than imposing his/her personal views as to what the foreign law should be, or allowing the expert to press upon the English judge his personal views of what the foreign law might be) และ
(2) ผู้พิพากษาอังกฤษจะต้องพิจารณาพิพากษาตามแนวบรรทัดฐานของศาลสูงสุดของต่างประเทศ แม้จะใช้ไม่ได้ตามแนวปฏิบัติทางการค้า หรือเหตุผลในคำพิพากษานั้นจะไม่ถูกต้องตามตรรกะหรือมีลักษณะกลับไปกลับมาก็ตาม (If there is a clear decision of the highest foreign court on the issue of foreign law, other evidence will carry little weight against it. That is generally so even if the decisions are unworkable in commercial practice or their reasoning illogical or inconsistent) (ข้อ 908 หน้า 218 ของคำพิพากษา)
Q: นาย Calver นำหลักกฎหมายไทยผิด ๆ มาวินิจฉัยคดีได้อย่างไร
A: พยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายไทย #ของจำเลย ได้เบิกความว่ากฎหมายไทยในเรื่องการกระทำความผิดฐาน “โกงเจ้าหนี้” และ “ละเมิด” ตามแนวบรรทัดฐานของศาลฎีกาไทย ส่วนพยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายไทย #ของโจทก์ กลับเบิกความในทั้งสองการกระทำความผิดแตกต่างออกไป โดยอ้างความเห็นส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาไทยรองรับ
โดยนาย Calver ได้เลือกที่จะเชื่อความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายไทย #ของโจทก์ ทั้ง ๆ ที่เป็นการ #ขัดแย้งกับหลักการรับฟังคำเบิกความของพยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอันเป็นที่ยึดถือของศาลอังกฤษโดยทั่วไปว่าจะไม่เชื่อถือตามความเห็นส่วนตัวของพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ตามที่นาย Calver เขียนไว้เองในคำพิพากษา
Q: ขอทราบตัวอย่างของหลักกฎหมายไทยผิด ๆ ที่พยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายไทยของโจทก์ได้เบิกความไว้
A: การวินิจฉัยของนาย Calver ว่าจำเลยร่วมกันกระทำความผิดฐาน “โกงเจ้าหนี้” (แม้จะเป็นการที่บริษัท REC โอนหุ้น WEH อันเป็นสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายของตนเอง) มาจากการที่นาย Calver ใช้วิธีการตีความมาตรา 350 ของประมวลกฎหมายอาญาอย่างกว้าง คือ
การกระทำของจำเลยนั้นแม้จะไม่ครบองค์ประกอบเป็นความผิดหากตีความเคร่งครัดตามบทบัญญัติของกฎหมาย ก็ยังถือว่าเป็นการกระทำความผิดได้ หากศาลเห็นว่าควรต้องใช้มาตรา 350 บังคับกับกรณี ซึ่งนาย Calver เขียนไว้ในคำพิพากษาว่าเป็นความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายไทย #ของโจทก์ ที่ได้ยืนยันว่า การตีความกฎหมายอาญาของไทยอยู่บน 2 หลักการ คือ
(1) จะต้องตีความอย่างเคร่งครัด และ (2) #แต่จะต้องไม่ตีความไปในทางที่ทำให้กฎหมายไม่มีผลบังคับ (In this regard I accept Dr Munin’s evidence, contained in paragraph 121 of his second expert report that: “Whilst it is correct that criminal laws will be construed restrictively, they will not be construed in a manner that defeats the clear effect of the law.” ข้อ 1137 หน้า 299 ของคำพิพากษา) และนาย Calver ก็เลือกที่จะเชื่อความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายไทย #ของโจทก์ นี้ คือ
#การตีความกฎหมายอาญาอย่างกว้างสามารถทำได้ แล้วนำไปวินิจฉัยตัดสินคดีว่าจำเลยเกือบทุกรายร่วมกัน “โกงเจ้าหนี้” ซึ่งเป็นการตีความกฎหมายอาญาอย่างกว้างโดยขยายความองค์ประกอบความผิดออกไปจนปราศจากถ้อยคำในตัวบทกฎหมายที่จะอ้างอิงได้เลย ซึ่งขัดแย้งกับแนวบรรทัดฐานของศาลฎีกาไทยที่จะไม่ตีความอย่างกว้างไปในทางที่จะเป็นโทษแก่จำเลยตามหลักการสากลอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย (nullum crimen sine lege – no crime without law)”
และยังไม่เป็นไปตามหลักการรับฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอันเป็นที่ยึดถือของศาลอังกฤษโดยทั่วไป เพราะเป็นการเลือกเชื่อความเห็นส่วนตัวของพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และไม่พิจารณาพิพากษาให้เป็นไปตามแนวบรรทัดฐานของศาลสูงสุดของไทยด้วย
นาย Calver อ้างว่ามีคำพิพากษาของศาลฎีกาไทยสนับสนุน #การตีความกฎหมายอาญาอย่างกว้าง ในแบบของตนด้วย คือ คำพิพากษาฎีกาที่ 271/2522 ซึ่งเป็นคำพิพากษาที่พยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายไทย #ของจำเลย กล่าวอ้างไว้ แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะศาลฎีกาของไทยในคดีดังกล่าวได้พิพากษาว่าให้บุคคลที่โอนทรัพย์ของตนเองออกไป โดยมีเจตนาที่จะไม่ให้เจ้าหนี้ของบุคคลอื่นซึ่ง #มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์ที่โอนออกไป นั้นได้รับชำระหนี้ ต้องรับผิดฐาน “โกงเจ้าหนี้” (เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีเป็นไปตามลำดับดังนี้
(1) โจทก์นำยึดที่ดินของลูกหนี้เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้ตามคำพิพากษา (2) ลูกหนี้โอนที่ดินให้แก่นาย ก. (ซึ่งเป็นบุตรของลูกหนี้) (3) โจทก์ฟ้องนาย ก. เป็นคดีใหม่ให้โอนที่ดินกลับมาให้ลูกหนี้ (4) นาย ก. จึงโอนที่ดินออกไปให้ นาย ข. ดังนี้ การโอนที่ดินซึ่งโจทก์อยู่ในระหว่างติดตามเพราะมีสิทธิที่จะเอาที่ดินมาบังคับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ติดค้างอยู่จึงถือเป็นการ “โกงเจ้าหนี้”)
ซึ่งก็เป็นการที่ศาลฎีกาใช้บังคับมาตรา 350 ของประมวลกฎหมายอาญา #โดยการตีความกฎหมายอาญาอย่างเคร่งครัดตามบทบัญญัติของกฎหมาย_เพราะโจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากที่ดินที่มีการโอนออกไปนั้น ศาลฎีกาของไทย #ไม่ได้ใช้หลักการตีความกฎหมายอาญาอย่างกว้าง ตามข้ออ้างของนาย Calver แต่อย่างใด
ซึ่งในคดีนี้ พยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายไทย #ของจำเลย ได้ให้ความเห็นไว้ว่า กลุ่มของนายนพพรมีสิทธิเรียกร้องเอากับบริษัทของนายณพและทรัพย์สินที่เป็นของบริษัทของนายณพเท่านั้น #ไม่ได้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากหุ้น WEH ซึ่งเป็นของบริษัท REC และบริษัท REC ได้โอนออกไปนั้นแต่อย่างใด
ซึ่งก็ถูกต้องตรงกับแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาไทยในคำพิพากษาฎีกาที่ 271/2522 (…what was transferred were WEH shares which were not, and could not have been, subject to enforcement in respect of Mr. Suppipat’s (นามสกุลของนายนพพร) companies’ claims, which lay against Khun Nop’s companies and their property. ข้อ 1117 b หน้า 294 ของคำพิพากษา)
แต่นาย Calver เลือกที่จะไม่รับฟัง
(บทความ “Q&A : ผู้พิพากษาอังกฤษอยู่ในกระบวนการละเมิดอำนาจอธิปไตยของไทยหรือไม่” ซึ่งจะเป็นตอนสุดท้ายสำหรับบทความเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องคดีหุ้นวินด์ของศาลอังกฤษนั้น จะนำเสนอในสัปดาห์หน้าครับ)
Wish you wonderful ways
วีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ
โฆษณา