8 ก.ย. 2023 เวลา 06:36 • การศึกษา

“请讲普通话,请使用规范汉字” โปรดใช้ภาษาจีนกลาง ใช้อักษรจีนตามมาตรฐาน

นี้คือป้ายที่ติดอยู่ตามอาคารเรียนในมหาวิทยาลัย เพื่อรณรงค์ให้คนจีนหันมาใช้ภาษาจีนกลาง หรือที่เราเรียกกันว่าในภาษาจีนว่า ผู่ทงฮว้า (pǔtōnghuà 普通话)
ภาษาจีนกลาง (普通话) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่่งว่า ภาษาใช้ร่วมกันของชนเผ่าฮั่น (xiàndài hànmínzú gòngtóngyǔ 现代汉民族共同语) เป็นภาษาที่ทางรัฐบาลจีนประกาศให้ใช้เป็นตัวกลางในการสื่อสารกัน โดยกำหนดให้ใช้ระบบเสียงของภาษาปักกิ่ง(běijīnghuà 北京话)เป็นหลัก และใช้ภาษาถิ่นภาคเหนือ(běifānghuà 北方话)เป็นภาษาถิ่นพื้นฐาน ใช้ระบบไวยากรณ์ของป๋ายฮว้าเหวินเป็นหลัก
(白话 báihuà เป็นภาษาหนังสือในรูปแบบที่มีระบบการใช้ภาษาใกล้เคียงกับภาษาพูด ซึ่งเข้ามาแทนที่ 文言 wènyán เหวินเหยียน หรือที่เรียนกันว่าภาษาจีนโบราณ การใช้ภาษาในลักษณะแบบ 白话 นั้นเริ่มปรากฏขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง)
จากข้างบนจะเห็นว่า ทางรัฐบาลจีนกำหนดให้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาใช้ร่วมกันของชนเผ่าฮั่น สาเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของการที่ชนเผ่ากลุ่มน้อยของจีน (少数民族 shǎoshùmínzú) จำเป็นที่จะต้องเข้ารับการศึกษาภาษาจีนกลางเพื่อใช้ในการสื่อสารซึ่งกันและกัน
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนจีนเพิ่งจะมาใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาทางการในการสื่อสารติดต่อกัน หากย้อนกลับไปในสมัยโบราณตั้งแต่สมัยชุนชิวจ้านกั๋ว(春秋战国770ปีก่อนคริสต์ศักราช) ก็มีภาษาทางการไว้ใช้สื่อสารเช่นกัน เรียกว่าหย่าเหยียน “雅言yǎyán” ในสมัยราชวงศ์ฮั่น (汉朝 202 ปีก่อนคริสตกาล–ค.ศ. 9ค.ศ. 25–220)เรียกว่าภาษาทงยวี่ “通语tōngyǔ”
จวบจนมาสมัยราชวงศ์หมิง(明朝 ค.ศ. 1368-1644) ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น กวนฮว้า “官话guānhuà” และในช่วงการปฏิวัติซินไฮ่(辛亥革命 xīnhàigémìng)ในสมัยราชวงศ์ชิง(清朝 ค.ศ.1616-1911)ได้เรียกว่า กั๋วยวี่ “国语guóyǔ”(การเรียกในลักษณะนี้ยังสามารถพบได้ในโซนไต้หวัน ฮ่องกง เป็นต้น)
ย้อนกลับไปในช่วงสมัยที่รัฐบาลจีนยังไม่ได้ทำการปฏิรูปภาษา ทางจีนได้ประสบปัญหาเรื่องการสื่อสารกันเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ หากคนกว่างโจวไปเที่ยวที่ปักกิ่งก็จะสื่อสารคนละภาษา ยกตัวอย่างการออกเสียงคำว่า “แปด 八” ในภาษาจีน หากจำแนกตามภาษาถิ่นแต่ละพื้นที่จะออกเสียงดังนี้
ผู่ทงฮว้า普通话 : [pa]
กว่างโจว广州:[pat]
ฝูโจว福州:[paiʔ]
เวินโจว温州:[po]
จากข้างต้นที่ยกตัวอย่างมาแสดงให้เห็นถึงการออกเสียงที่ไม่เหมือนกันในแต่ละภาษาถิ่นในแผ่นดินจีน ทำให้มีปัญหาในเรื่องของการสื่อสารระหว่างกัน หากอิงตามหนังสือ ภาษาจีนปัจจุบัน《现代汉语》ได้มีการจำแนกของภาษาถิ่นไว้ทั้งหมด 7 ภาษา
แบ่งออกเป็น
1)北方方言 ภาษาถิ่นภาคเหนือ
2)吴方言 ภาษาถิ่นอู๋
3)湘方言 ภาษาถิ่นเซียง
4)赣方言 ภาษาถิ่นก้าน
5)客家方言 ภาษาจีนเค้อเจีย (ภาษาจีนแคะ)
6)闽方言 ภาษาถิ่นฮกเกี้ยน
7)粤方言 ภาษาถิ่นกวางตุ้ง
นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังซ้ง(唐宋)เป็นต้นมา นักเขียนหรือนักวรรณกรรมต่างเริ่มมีการใช้ภาษาที่เรียกว่า ป๋ายฮว้า “白话”(ได้อธิบายไว้ข้างต้นแล้ว) มาใช้ในการเขียนผลงานของตน ซึ่งก่อนหน้านี้ รูปแบบการใช้ภาษาจะเป็นในลักษณะของเหวินเหยียนเหวิน(文言文) หรือที่เราเรียกกันว่าภาษาจีนโบราณ ซึ่งชาวบ้านสมัยก่อนหรือผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษาด้านอักษรจีนอาจจะไม่สามารถอ่านเหวินเหยียนเหวินได้
ไม่ว่าจะเป็น 《西游记》、《儒林外史》、《红楼梦》ล้วนแล้วต่างก็ได้ใช้ภาษาถิ่นทางภาคเหนือในการเขียน สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของภาษาถิ่นทางภาคเหนือในช่วงสมัยนั้น อีกทั้ง ในสมัยราวงส์หยวน (元朝 ค.ศ.1206-1368) ปักกิ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของจีน เพราะเหตุนี้เองสำเนียงปักกิ่งจึงได้เริ่มเผยแพร่ไปทั่วประเทศและเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น
แต่การที่ทางการจีนนำสำเนียงปักกิ่งมาเป็นสำเนียงพื้นฐานในการสร้างภาษาจีนกลาง ก็ไมไ่ด้หมายความว่าจะยกมาทั้งระบบเสียงแต่อย่างใด กล่าวคือ สำเนียงจีนกลาง(普通话)ไม่ได้เหมือนกับสำเนียงปักกิ่งไปทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็น แต่เพียงแค่นำระบบเสียงของปักกิ่งมาบางส่วนเพื่อที่จะเป็นหลักในการสร้างระบบเสียงให้กับ ผู่ทงฮว้า (普通话)
นับตั้งแต่ปีค.ศ.1912 เป็นต้นมา การประกาศใช้สำเนียงภาษาจีนกลาง หรือ普通话 มีผลประโยชน์ต่อหลายๆปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารที่มี“ภาษา”เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในทางกลับกัน ภาษาถิ่นหรือสำเนียงในภาษาถิ่นต่างๆก็เริ่มจะหายลืมเลือนไป บางเสียงอาจถูกสำเนียงจีนกลางทดแทนไป จนทำให้ภาษาถิ่นนั้นมีบทบาทน้อยลง แต่ถึงอย่างไร กลุ่มผู้สูงอายุจีนส่วนมากก็ยังเลือกใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสารกันอยู่ดี
สุดท้าย ใช่ว่าภาษาถิ่นจะไม่ได้มีบทบาทในภาษาจีนกลางเสียเลย เพราะบางคำศัพท์ในภาษาถิ่นก็ได้ถูกบัญญัติลงในภาษาจีนกลางเช่นกัน อาทิ 忽悠 hūyōu ถูกหลอก, 尴尬 gāngà (รู้สึก)ทำอะไรไม่ถูก อาย,龌龊 wòchuò สกปรก(หรือใช้เปรียบคนเลวทราม)
โฆษณา