8 ก.ย. 2023 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Little Women : “คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ”…เกิดมาจน จะมีสิทธิ์รวยได้ไหม?

“คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ มีงานให้ทำไหมคะ ปริญญาไม่มี แต่มี…นะคะ”
เพลงที่กำลังเป็นไวรัลใน Tiktok อยู่ตอนนี้ ทำให้ Bnomics ตั้งคำถามเล่นๆ ว่า ทำไมคนรวยถึงรวย ทำไมคนจนถึงจน แล้วมีทางบ้างไหมที่คนจนจะมีสิทธิ์์ลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้บ้าง
คำถามนี้เป็นคำถามที่เป็นเหมือนแก่นกลางที่ชวนให้เราคิดอยู่ตลอดเวลาตอนดูซีรีส์เรื่อง Little Women เวอร์ชั่นเกาหลี เรื่องราวของ 3 พี่น้องฐานะยากจน ที่วันหนึ่งพี่สาวคนโตบังเอิญได้รับเงิน 2,000 ล้านวอน
แต่เงินนั้นกลับนำพาให้เธอและครอบครัวเข้าไปพัวพันกับคดียักยอกเงินบริษัทมูลค่ากว่า 70,000 ล้านวอน ซึ่งด้วยมุมมองการเล่า และไดอาล็อกของแต่ละตัวละคร ก็ชวนให้เราตั้งคำถามถึงเรื่องความรวยความจนได้ตลอดเวลา
📌 คนจนมีสิทธิ์รวยไหม? เมื่อความเหลื่อมล้ำทำให้รวยกระจุก จนกระจาย
“เราจะแตะเงินก้อนใหญ่ได้ก็ต่อเมื่อพร้อมจะสูญเสีย เพราะใครยอมเสี่ยงได้มากกว่าก็ชนะไป” และเพราะมักจะมีแต่คนรวยที่เข้าถึงข้อมูลทางการเงิน และแบกรับความเสี่ยงนี้ได้ จึงสามารถเสกเงินให้งอกเงยได้เร็วกว่า ในขณะที่คนธรรมดาไม่มีโอกาสนั้น
1
ประโยคนี้ในซีรีส์น่าจะตอบได้ชัดที่สุด ไม่ว่าจะผ่านไปสักกี่ปี แต่การกระจายความมั่งคั่งก็ยังคงเป็นเหมือนเดิมๆ เสมอ คือ ประชากรส่วนน้อย ถือครองความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของประเทศ
อย่างในสหรัฐฯ ประชากรที่มั่งคั่งที่สุด 0.1% แรกของประเทศ ถือครองทรัพย์สินกว่า 20% ของความมั่งคั่งของเศรษฐกิจในประเทศ หรืออย่างกลุ่มแชโบลของเกาหลีใต้ ก็มีรายได้คิดเป็นกว่า 80% ของ GDP เกาหลีใต้เลยทีเดียว แล้วที่สำคัญคือดูเหมือนว่าการกระจายความมั่งคั่งนี้จะเหลื่อมล้ำขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
1
งานวิจัยหนึ่งที่มีนักเศรษฐศาสตร์จาก IMF เป็นหนึ่งในผู้ร่วมวิจัย พยายามยืนยันว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนรวยยิ่งรวยขึ้นจนความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น นั่นก็เพราะคนรวยมีแนวโน้มที่จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าคนจน โดยงานวิจัยใช้ข้อมูลของผู้เสียภาษีเงินทุนและหุ้นความมั่งคั่งในนอร์เวย์ ตลอดระยะเวลา 12 ปี มาทำการวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือทางเศรษฐมิติ
9
ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นไปตามที่คาดไว้ โดยพบว่าหากคนที่มีรายได้อยู่ ณ เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 75 ลงทุนด้วยเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2004 จะมีเงินรวม 1.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2015 หรือคิดเป็นผลตอบแทน 50%
ในขณะที่คนที่รวยอยู่ในระดับ 0.1% บนสุดของประเทศ หากฝากเงินพร้อมๆ กัน ในปี 2015 จะมีเงินรวม 2.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นผลตอบแทน 140%
📌 ทำไมคนรวยถึงได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า?
“ทุนนิยม คือ จิตวิทยา มีความรู้สึกหนึ่งที่คนรวยเอาชนะได้ แต่คนจนทำไม่ได้นั่นก็คือ ความรู้สึกสูญเสีย เราจะแตะเงินก้อนใหญ่ได้ก็ต่อเมื่อพร้อมจะสูญเสีย เพราะใครยอมเสี่ยงได้มากกว่าก็ชนะไป”
ประโยคที่คุณย่าในเรื่อง Little woman พูด น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีที่สุด และยังสอดคล้องกันผลลัพธ์ที่พบจากงานวิจัยนี้ เนื่องจากพบว่า คนรวยมักมีแนวโน้มที่จะกล้าเอาทรัพย์สินไปลงทุนในการลงทุนที่เสี่ยงสูงได้มากกว่า ซึ่งก็มักจะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
ยิ่งไปกว่านั้น ถึงแม้จะเป็นการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำๆ แต่คนรวยก็มักจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าอยู่ดี เพราะคนเหล่านี้มักจะได้ผลตอบแทนที่ปรับความเสี่ยงต่างๆ ออกไป เนื่องจากมีความน่าเชื่อถือ ประกอบกับพวกเขามักมีโอกาสได้เข้าถึงผู้จัดการกองทุนที่เก่งๆ จึงได้รู้ข้อมูลทางการเงินที่สำคัญๆ และเข้าใจข้อมูลทางการเงินที่แสนจะซับซ้อนได้มากกว่า ทำให้สามารถรักษาความมั่งคั่งไว้ได้แม้เวลาผ่านไป
หรือถ้าลองนึกภาพดูในสังคมจริงๆ สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ แค่หาเงินมาเพื่อจ่ายค่าปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตก็แทบจะไม่เหลือเงินออมแล้ว หรือต่อให้พอจะมีเงินเหลือให้ออม ก็อาจไม่สามารถเข้าถึงความรู้มากพอ เพื่อที่จะทำให้เงินงอกเงยได้ในอัตราที่รวดเร็ว
1
📌 แล้วความมั่งคั่งสามารถส่งต่อข้ามรุ่นได้หรือไม่?
ข้อนี้เราคงรู้ได้โดยไม่จำเป็นต้องดูผลวิจัย เพราะคำตอบคือ ได้
แต่ในงานวิจัยก็พบข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ ถึงแม้ลูกของคนที่ร่ำรวยที่สุด จะได้สืบทอดความมั่งคั่งต่อจากพ่อแม่ แต่ผลตอบแทนจากความมั่งคั่งที่พวกเขาได้รับนั้นไม่สูงเท่าผลตอบแทนที่รุ่นพ่อแม่ของพวกเขาได้รับ ซึ่งก็อาจกล่าวได้ว่า แม้เงินทองจะถูกส่งต่อเป็นมรดกได้ แต่ความสามารถเฉพาะทางบางอย่างนั้นไม่สามารถส่งต่อกันได้ง่ายๆ
ถ้าความมั่งคั่งสามารถส่งต่อข้ามรุ่นได้ ความยากจนก็เช่นกัน คำตอบแบบกำปั้นทุบดินว่าทำไมคนถึงจน นั่นก็เพราะเขาเกิดมาในครอบครัวที่จน
จริงอยู่ว่าบางคนที่เติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน ก็สามารถไขว่คว้าโอกาสทางการศึกษา มีสิทธิ์ที่จะมีหน้าที่การงานที่ดี จนถีบตัวเองขึ้นมาอยู่ในระดับที่ดีขึ้นในสังคมได้ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ได้มาด้วยความพยายามอย่างหนักกว่าคนที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีพื้นฐานดีอยู่แล้วไม่รู้กี่เท่า เหมือนที่เราเคยได้ยินกันว่าหากคนจนล้ม ก็ล้มบนพื้นปูนที่ไม่มีอะไรมารองรับ ในขณะที่คนรวยล้มบนฟูก จะล้มกี่ครั้งก็ยังลุกขึ้นใหม่โดยไม่เป็นอะไรมากนัก
1
การเกิดมาจน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตายไปพร้อมกับความจนเสมอไป เพียงแต่ความจนเป็นเงื่อนไขสำคัญทำให้หลายคนไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่มีโอกาสต่อยอดฐานะทางครอบครัว ไม่สามารถเข้าถึงความรู้และบริการทางการเงิน และต้องใช้ชีวิตอยู่แบบมองเห็นอนาคตเลือนราง
ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว คำถามที่ว่า “คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ?” ก็คงตอบได้ว่า มี แต่หากสวัสดิการรัฐไม่ได้เอื้ออำนวย ก็คงต้องใช้ความพยายามมากๆ เพื่อให้ได้รับสิทธิ์เสมอกันกับคนที่พื้นฐานดีกว่า
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา