Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Saveอโยธยา
•
ติดตาม
8 ก.ย. 2023 เวลา 13:45 • ข่าว
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จากฐานบัทม์ถึงเม็ดน้ำค้างขององค์เจดีย์
จากฐานบัทม์ถึงเม็ดน้ำค้างขององค์เจดีย์ : ก่อนอยุธยาและต้นกรุงศรีบนรากของพระเจดีย์ ผ่านแง่มุมของนิธิ เอียวศรีวงศ์
จิรวัฒน์ ตั้งจิตรเจริญ ทีม SAVEอโยธยา
ชื่อบทความข้างต้นของบทความชิ้นนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ผู้เขียนคิดขึ้นมาเองแต่ประการใด หากแต่เป็นการลักจำคำประดิษฐ์ใน พ.ศ. 2527 ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาใช้อย่างทื่อๆ ทางหนึ่ง เพื่อเป็นการสรรเสริญอาจารย์ผู้ล่วงลับอย่างไม่เจื่อปนและปรุงแต่ง หากแต่ในอีกทางหนึ่งเพื่อจะไม่ให้เป็นการชี้นำหรือมองผ่านมันอย่างไร้ความหมายมากเกินไป ชื่อบทความข้างต้น ก็คงเป็นส่วนเขียนที่อาจารย์นิธิตั้งข้อสังเกตต่อลักษณะสังคมสมัยอยุธยาว่ามีหน้าตาคล้ายกับสถูปเจดีย์ที่ก่อจากรากฐานขึ้นสู่ส่วนบนมากน้อยเพียงใด
เมื่อพินิจลงไปในเนื้อหาของบทความจะเห็นได้ว่าอาจารย์นิธิพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าใจ ภาพเสมือนของสังคมวัฒนธรรมอยุธยาซึ่งมีการจัดระบบจากส่วนฐานบัทม์ (ฐานล่าง) จนถึงยอดเม็ดน้ำค้าง (ปลายยอดเจดีย์)อยู่เช่นกัน ว่าลักษณะที่แสดงให้เห็นผ่านทั้งซากเจดีย์ละหม้ายคล้ายหรือสัมพันธ์กับสภาพสังคมอยุธยาว่าก่อตัวขึ้นมาอย่างไร
หากเราลองสำรวจลงไปในรายละเอียดของบทความเรื่อง ”สังคม-เศรษฐกิจของอยุธยาตอนต้น : จากฐานบัทม์ถึงเม็ดน้ำค้างขององค์เจดีย์”อันเป็นส่วนที่อาจารย์นิธิเป็นผู้รับผิดชอบเขียน สิ่งที่แตกต่างอย่างเด่นชัดซึ่งหาได้ยากในงานเขียนร่วมยุคสมัยนั้น คือ อาจารย์นิธิตัดความยุ่งยากในเรื่องลำดับเหตุการณ์และ “เรื่องใครฆ่าใคร ใครมาครองราชย์” ของประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้นหรือก่อนอยุธยาออกในแง่มุมตามกรอบทัศน์แบบประวัติศาสตร์ชาติออกไปเสียหมด
ในทางตรงกันข้าม อาจารย์นิธิกลับขึ้นต้นบทความส่วนนี้โดยเลือกจะกล่าวถึงระบบเกษตรกรรม การผันแปรของระบบการปลูกข้าวไร่ไปสู่ข้าวนาและการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่หลีกหนีจากภัยน้ำท่วมได้รวดเร็ว อันเป็นระบบนิเวศมูลฐานที่ไพร่และมูลนายจำเป็นต่อการพึ่งพิงในการก่อฐานพระเจดีย์แทนที่จะมุ่งเน้นไปยังเรื่องของชนชั้นสูงหรือมูลนายเป็นสำคัญ
ถึงกระนั้น ก็ใช่ว่าอาจารย์นิธิจะทอดทิ้งแง่มุมหรืออำนาจของสังคมมูลนายบนยอดเม็ดน้ำค้างไปเสียทีเดียว เพราะในส่วนต่อมาอาจารย์นิธิ ได้กล่าวถึงระบบไพร่ซึ่งมีฐานอ้างอิงอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างมูลนายกับไพร่ ความสำคัญในส่วนนี้นอกจากอาจารย์นิธิจะชี้ให้เห็นว่าสภาพสังคมและการควบคุมไพร่ในช่วงระยะเวลาอยุธยาตอนต้นหรือก่อนอยุธยานั้นมีหน้าตาและลักษณะประการใด จุดเด่นที่สำคัญคืออาจารย์นิธิได้กล่าวย้ำถึงลักษณะของอำนาจเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่ครอบง่ำเหนือวัฒนธรรมไพร่
เนื่องมาจากเหตุผลที่ไพร่ในช่วงสังคมอยุธยาตอนต้นหรือก่อนอยุธยานั้นมักกระจายออกจากกันเป็นกลุ่มๆ และปะติดปะต่อหรือสัมพันธ์กันโดยตรงได้ยาก อันเกิดจากการกระจายไพร่ไว้เป็นสังกัดเพื่อค้านอำนาจกันในหมู่มูลนายเป็นสำคัญ ส่งผลให้การเชื่อมต่อเครือข่ายทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจกลายเป็นสิ่งที่มูลนายถือไว้ในมือแต่เพียงฝ่ายเดียว
ในทางตรงกันข้าม การไร้ความสัมพันธ์ก็ยันผลให้เกิดการสะสมและปมเพาะลักษณะทางวัฒนธรรมไพร่เฉพาะถิ่นที่มีเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น อันจะผลิบานเมื่อถึงฤดูกาลต่อมา ฉากทัศน์ทางวัฒนธรรมที่หลงเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบันบนซากโบราณสถานสมัยอยุธยาตอนต้นหรือก่อนอยุธยาจึงถูกละเลงไปด้วยแง่มุมของมูลนายเป็นสำคัญในฐานะผู้สร้างมรดกทางวัฒนธรรมที่จะเชื่อมร้อยวัฒนธรรมมูลนายกับไพร่เข้าด้วยกันในเวลาต่อมา
สิ่งสำคัญที่อาจเชื่อมโยงและพอจะสนทนาต่อกับอาจารย์นิธิผู้ล่วงลับไปแล้วได้ผ่านแง่มุมของทางโบราณคดี คือ ฐานบัทม์และยอดเจดีย์ที่ละหม้ายคล้ายกันนั้นก็ล้วนเป็นผลผลิตของวัฒนธรรมมูลนายเป็นหลัก
ความคล้ายและความต่างกันในรายละเอียดอันเป็นประเด็นที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีสนใจศึกษาก็ล้วนเกิดขึ้นจากเครือข่ายของชนชั้นมูลนายในสังคมเดิมเป็นสำคัญ หากแต่ประเด็นที่อาจารย์นิธิชี้ให้เห็นกลับมิใช่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ชนชั้นมูลนายมีต่อกันในแนวนอน คือ ระหว่างเมืองต่อเมือง ระหว่างอยุธยากับสุพรรณ เสมือนที่ประวัติศาสตร์ชาติสั่งสอนเอาไว้
เป้าหมายของอาจารย์นิธิกลับชี้ไปที่จุดหมายของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในแนวตั้งจากฐานปัทม์ถึงยอดเม็ดน้ำค้างอย่างแท้จริง ว่าพระเจดีย์ที่คล้ายกันนั้นล้วนแอบแฝงไปด้วยระบบไพร่-มูลนายที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่เสมออันเป็นรากฐานที่เกิดขึ้นจากศรีรามเทพนครอย่างแท้จริง
ในปัจจุบัน มรดกทางวัฒนธรรมหรือที่บางผู้คนนิยามว่าเป็นซากอิฐซากปูนก็ล้วนแล้วแต่จะถูกลดความสำคัญลง การลดสำคัญของหมู่พระเจดีย์เหล่านี้ลงจึงมิใช่การลดความเข้าใจระหว่างกรุงศรีอยุธยากับลพบุรี สุพรรณบุรี หรือกระทั่งเชียงใหม่ล้านนาไปเพียงอย่างเดียวบนระนาบนอน หากแต่เป็นการลดความเข้าใจในความสำคัญและสัมพันธ์เชิงอำนาจแนวตั้งที่ชนชั้นมูลนายกับไพร่มีอยู่ระหว่างกันจากฐานบัทม์ถึงยอดเม็ดน้ำค้างอย่างแท้จริง ถึงเวลานั้น ทางรถไฟความเร็วสูงคงจะพาดผ่านแนวเมืองโบราณต้นกำเนิดกรุงศรีอยุธยาไปทั้งเมืองแล้วกระมั้ง
ประวัติศาสตร์
การเมือง
ท่องเที่ยวไทย
บันทึก
4
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย