9 ก.ย. 2023 เวลา 16:06 • ไลฟ์สไตล์

“โหร ≠ หมอดู”

“โหร ≠ หมอดู” เห็นประเด็นนี้เขาดราม่ากันในกลุ่มดูดวงแห่งหนึ่ง ที่จริงโดยส่วนตัวแล้วก็ไม่เห็นว่ามันจะเป็นเรื่องสำคัญถึงขนาดที่จะต้องมาหัวร้อนกัน
แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มันก็มีประเด็นที่น่าสนใจบางอย่างอยู่ด้วยเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นบทความนี้ จึงเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น ซึ่งอาจจะถูกต้องหรือไม่ก็ได้ ท่านผู้เจริญอ่านแล้วโปรดพิจารณา
หรือถ้าไม่ชอบอะไรที่วุ่นวายก็ขอให้ข้ามๆไป เพราะบทความนี้ท่าจะยาว
 
—------------------------------
ก่อนอื่นผมอยากจะยกตัวอย่างหนึ่ง(ที่ไม่เกี่ยวกับโหราศาสตร์) เพื่อให้เห็นภาพว่า ที่จริงแล้วในฐานะเจ้าของภาษานั้น เราเองก็มีความงงๆ มึนๆ ในการใช้คำศัพท์บางคำเหมือนกัน คือจะบอกว่ามันเป็นธรรมดาของโลก
เช่นคำว่า “โล่” และ “เขน”
สองคำนี้หมายถึงเครื่องป้องกันอาวุธชนิดหนึ่ง ใครเคยเรียนกระบี่กระบองน่าจะเคยเห็นกันบ้าง เครื่องป้องกัน 2 อย่างนี้มีการใช้งานที่ไม่แตกต่างกันนัก ยกเว้นรูปทรงของมัน ที่อันหนึ่ง “กลม” อันหนึ่งเป็น “สี่เหลี่ยม”
อยู่มาวันหนึ่ง นักวิชาการทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ก็ออกมาให้ข้อสรุปว่า “โล่” คือเครื่องป้องกันที่มีลักษณะสี่เหลี่ยม ส่วน “เขน” นั้นเป็นเครื่องป้องกันที่มีลักษณะเป็นทรงกลม
โดยอธิบายขยายความต่อไปว่า คำว่า “เขน” นั้น มีรากมาจากคำว่า “เขลา” (เข-ลา) ที่แปลว่าพระจันทร์ หรือบางทีก็แปลคำว่า “เขน” ว่าหมายถึงพระจันทร์เสียตรงๆ เลยทีเดียว
ทีนี้ทางฝั่งสำนักกระบี่กระบองบางแห่ง (ที่จริงหลายแห่ง) ก็ออกมาโต้แย้งว่า ไม่ใช่
เขนนั้นจะมีทรงสี่เหลี่ยม ส่วนโล่ต่างหากที่เป็นทรงกลม เหตุผลเพราะเขาเรียกกันอย่างนี้มานมนานแล้ว ตั้งแต่สมัยรุ่นครูบาอาจารย์ ปู่ย่าตายาย เขาก็เรียกกันมาอย่างนี้
เรื่องนี้ทั้งฝั่งนักวิชาการก็ไม่ได้ว่าอะไร ก็ได้แต่บอกว่า “นั่นแหละ ก็จำผิด หรือเข้าใจผิด แล้วก็เรียกผิดต่อๆกันมาจนถึงทุกวันนี้ไง”
เคยถามพ่อตาที่เป็นนายตำรวจว่าตราตำรวจนั้นที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจเขาบอกไหมว่าเรียกว่าอะไร แกตอบว่า “โล่เขน” ก็ควบไปเลย คงถูกสักอันแหละ -_-
ทุกวันนี้ถ้าเราไปเปิดพจนานุกรมดู เขาก็สรุปกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า เขน คือทรงกลม ส่วนสี่เหลี่ยมนั้นคือโล่ ถึงแม้ในทางปฏิบัติจริง สำนักกระบี่กระบองหลายสำนักจะยังคงยืนยันที่จะเรียกเครื่องป้องกันแบบสี่เหลี่ยมว่าเขน และแบบวงกลมว่าโล่ กันอยู่ต่อไปก็ตาม
เรื่องนี้ถามว่าใครผิดใครถูก ตอบตามตรงไม่รู้เหมือนกัน เอาเป็นว่า ใครพอใจจะเรียกอย่างไรก็ว่ากันไปตามนั้นก็แล้วกัน
—------------------------------
คราวนี้ขอย้อนกลับมาที่เรื่องของ “โหร ≠ หมอดู” บ้าง
คำว่าหมอดูนั้นคิดว่าคงไม่ต้องอธิบายอะไรกันให้ยุ่งยาก คนไทยสมัยก่อนเรียกใครสักคนที่มีความชำนาญในวิชาชีพอะไรสักอย่างว่า “หมอ” จึงมีคำว่าหมองงู หมอจรเข้ หมอนวด หมอลำ หมอมดหมอผี อะไรพวกนี้ ส่วนหมอดูนั่นก็คือผู้ที่มีความชำนาญในการทำนายทายทัก พยากรณ์เรื่องต่างๆ
ส่วนหมอดูจะใช้วิชาอะไรในการพยากรณ์ นั่นเป็นอีกเรื่องนึง เพราะวิชาพยากรณ์บนโลกใบนี้นั้น มีอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก
ส่วนคำว่า “โหร” นั้น โดยเบื้องต้นเข้าใจว่าน่าจะมาจากคำเต็มประมาณว่า “โหราจารย์” ก็คืออาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวิชาโหราศาสตร์
แต่จะเรียกกันยาวๆ กันอย่างนี้เรื่อยไปก็คฃงกระไร จึงตัดให้กระชับเข้า เหลือแต่คำว่า “โหร” ก็พอ
พอเรียกว่า “โหร” ก็เป็นที่เข้าใจตรงกันได้ไมายากว่าหมายถึงใคร เชี่ยวชาญทางไหน
เพราะฉะนั้นคำว่า “โหร” จึงเป็นคำที่มาจากคำว่า “โหรา” ในวิชาโหราศาสตร์
คำว่าโหรานั้น ผู้รู้ท่านอธิบายกันว่า เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คือคำว่า Hora ซึ่งแปลว่าชั่วโมง หรือชั่วยาม หรือก็คือเวลานั่นเอง เรารับคำนี้มาจากกรีก ผ่านทางเปอร์เซีย แล้วก็ผ่านมาทางอินเดียอีกทีหนึ่ง
คำว่าโหราศาสตร์นั้น จึงหมายถึงวิชาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเวลา
ดังนั้นวิชาพยากรณ์อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเวลา คือใช้เวลามาตีความให้กลายเป็นคำพยากรณ์ต่างๆ ได้ อะไรพวกนี้ก็น่าจะเรียกว่าเป็นโหราศาสตร์ได้ทั้งหมด
ซึ่งผู้ที่เชี่ยวชาญในวิชาที่ว่านี้ เราก็จะเรียกว่าเป็นโหราจารย์ หรืออาจจะเรียกกันสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “โหร” ได้ดังที่กล่าวมาแล้ว
แต่ทีนี้ คำว่าโหราศาสตร์ ในภาษาอังกฤษเขาจะใช้คำว่า Astrology
โดยคำว่า Astro นั้นมีความหมายโดยตรงว่าดวงดาว ในขณะที่คำว่า Logy นั้นมาจากคำว่า Logia ที่แปลว่าวิชาความรู้
ในแง่นี้ คำว่าโหราศาสตร์ หรือ Astrology จึงมีความหมายว่าวิชาความรู้ที่ว่าด้วยเรื่องของดวงดาว คือใช้บรรดาดวงดาวต่างๆบนท้องฟ้ามาเป็นเครื่องมือในการพยากรณ์
ถ้าเราจับความเอาตามการอธิบายความหมายของคำว่าโหราศาสตร์ และ Astrology นี้ เราก็อาจจะนิยามได้ว่า การจะเป็นวิชาโหราศาสตร์ได้นั้น องค์ความรู้นั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องของ “เวลา” และ “ดวงดาว” เป็นสำคัญ
วิชาพยากรณ์ใดๆก็ตาม (จะแม่นมากน้อยแค่ไหนไม่ว่ากัน) ถ้าจะเรียกว่าเป็นโหราศาสตร์ได้ ก็จะต้องมีเรื่องของเวลาและดวงดาวเข้ามาเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยเสมอ
หากไม่มีหรือมีไม่ครบ โดยหลักวิชาการแล้วก็ไม่ควรจะเรียกว่าโหราศาสตร์
พอไม่ใช่วิชาโหราศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญในวิชานั้นๆ จึงไม่ใช่โหราจารย์ และจึงไม่ใช่ “โหร” ในชั้นท้ายที่สุด
อธิบายมาเสียยืดยาว สาระจริงๆ ก็มีแค่ว่า “ในเมื่อไม่ได้ใช้วิชาโหราศาสตร์เป็นเครื่องมือ จะให้เรียกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านโหราศาสตร์ก็กระไร”
มันก็เพียงเท่านี้แหละ
แค่นี้จริงๆ ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้
ส่วนใครจะคิดว่าการเป็น “โหร”แล้วมันโก้เก๋กว่าเป็น “หมอดู” อะไรอย่างนี้ พูดกันตามตรงแล้วก็คือเป็นเรื่องแล้วแต่คนจะคิด
อาจจะเพราะว่าสมัยโบราณ ท่านโหราจารย์ผู้เชี่ยวชาญวิชาโหราศาสตร์ทั้งหลาย มักทำงานในรั้วในวัง เป็นพราหม์ปุโรหิต รับใช้ราชสำนัก ส่วนหมอดูนั้นเป็นเรื่องของชาวบ้าน การเป็นท่านโหรจึงดูจะไฮโซกว่าการเป็นหมอดูอยู่มาก
ชุดความคิดอย่างนี้อาจฝังหัวกันมานานจนใครๆ ก็อยากเป็นท่านโหรมากกว่าเป็นแค่หมอดู
ก็ว่ากันไปตามความรู้สึกแบ่งแยกชนชั้นทางสังคม
ตรงนี้ก็ขอข้ามไป เพราะเรื่องที่ไม่ได้มีสาระทางวิชาการอะไรที่น่าสนใจนัก เอาเป็นว่าคิดอย่างไรมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ คิดว่าสูงก็สูง คิดว่าต่ำก็ต่ำ
มีสูงมีต่ำยังกับอยู่ในวงแทงไฮโลก็มิปาน
:)
โฆษณา