11 ก.ย. 2023 เวลา 14:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ฉายภาพโครงสร้างเศรษฐกิจใต้จากอดีตถึงปัจจุบัน และอนาคตหลังโควิด

1. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจภาคใต้ปี 54-64
พบว่าสาขาเกษตร และท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงชัดเจน ขณะที่สาขาเศรษฐกิจอื่น อย่างการค้า และการผลิตอุตสาหกรรมทรงตัว
1
จากข้อมูล GRP ล่าสุดปี 2564 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า
สาขาเกษตร ถือเป็นสาขาสำคัญของภาคใต้ ซึ่งมีสัดส่วนเฉลี่ยกว่า 25% มาโดยตลอด และมียางพาราป็นพืชสำคัญที่มีมูลค่าสูงสุด แต่ productivity ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง โดยตั้งแต่ปี 55 ราคายางพาราลดลงมากตามภาวะยางพาราโลกล้นตลาด ฉุดให้มูลค่าภาคเกษตรลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ปี 59 มูลค่าเกษตรภาคใต้เพิ่มขึ้นจากมูลค่าทุเรียนที่เร่งตัวสูง ประกอบกับราคาน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น ทำให้สาขาเกษตรมีสัดส่วนต่อ GRP อยู่ที่ 29% ในปี 64
2
สัดส่วนสาขาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นชัดเจนตั้งแต่ปี 55 จากนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มเดินทางออกนอกประเทศตามนโยบายผ่อนคลาย โดยมีสัดส่วนต่อ GRP ใต้อยู่ที่ 16% ในปี 62 สูงสุดตั้งแต่ปี 54 ก่อนจะเหลือเพียง 3% ในปี 64 การระบาดของโควิด
สาขาผลิตอุตสาหกรรมมีสัดส่วนทรงตัวมาตลอดในช่วง 10 ปี และยังคงเป็นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปขั้นกลาง เช่น ยางพาราแปรรูป น้ำมันปาล์มดิบ และอาหารทะเลแปรรูป
เมื่อดูโครงสร้างเศรษฐกิจภาคใต้รายกลุ่มจังหวัด
ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยมีมูลค่าเศรษฐกิจสูงสุดของภาคใต้ สัดส่วนต่อ GRP เฉลี่ย 10 ปี อยู่ที่ 56% โดยสาขาเศรษฐกิจหลัก คือ เกษตรและผลิตอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่กระจุกตัวใน จ.สงขลา นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี สำหรับปี 64 สัดส่วนต่อ GRP ภาคใต้เพิ่มเป็น 61% ตามมูลค่าพืชเกษตรสำคัญทั้งทุเรียน และปาล์มน้ำมัน จากความต้องการและราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งการผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวจากการผลิตไม้ยางแปรรูป และ อาหารและเครื่องดื่ม
1
ภาคใต้ฝั่งอันดามันมีสัดส่วนต่อ GRP เฉลี่ย 10 ปีอยู่ที่ 33% เป็นอันดับ 2 รองจากฝั่งอ่าวไทย เดิมทีพึ่งพาสาขาเกษตรมากสุดจากยางพารา และเปลี่ยนไปพึ่งพาสาขาท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 58 โดยสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 90% อยู่ใน จ.ภูเก็ต พังงา และกระบี่ ก่อนเผชิญกับการระบาดของโควิด ในปี 63-64 ทำให้มูลค่าสาขาท่องเที่ยวของภาคใต้ฝั่งอันดามันลดลงถึง 67% และสาขาเกษตรกลับมามีสัดส่วนมากสุดอีกครั้ง ตามมูลค่าปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
จังหวัดชายแดนใต้มีสัดส่วนต่อ GRP เฉลี่ย 10 ปีเพียง 11% ของทั้งภาคใต้ โดยมียางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก นอกจากนี้ รายจ่ายด้านการบริหารราชการฯ ยังมีบทบาทสำคัญใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มากกว่ากลุ่มจังหวัดอื่น ตั้งแต่ปี 54 มูลค่าเศรษฐกิจลดลงต่อเนื่องตามราคายางพารา และกลับมาขยายตัวในปี 63-64 ตามมูลค่าทุเรียนที่เพิ่มขึ้นซึ่งมีการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น
2. ในปี 65-66 สาขาเกษตรยังคงเป็นสาขาหลัก ขณะที่สาขาท่องเที่ยวจะกลับมามีบทบาทสำคัญเหมือนก่อนโควิด
 
2.1 เศรษฐกิจสาขาเกษตร : สาขาเกษตรไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยสินค้าเกษตรหลักของภาคใต้ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน และกุ้ง ซึ่งมีมูลค่ารวมกันมากกว่า 90% ของสินค้าเกษตรทั้งหมดในภาคใต้ ทั้งนี้ Top 5 จังหวัดที่มีผลผลิตเกษตรสูงสุดของภาคใต้ยังคงเป็นสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร สงขลา และกระบี่
จากข้อมูลล่าสุดปี 2565 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า
มูลค่าทุเรียนมีสัดส่วนถึง 14% ของมูลค่าสินค้าเกษตรภาคใต้ เพิ่มขึ้นจาก 6% ในปี 58 และขยับขึ้นมาเป็นสินค้าหลักอันดับ 3 แทนกุ้ง เนื่องจากราคาที่เร่งตัวตามความต้องการของตลาดจีน โดยพื้นที่ปลูกขยายตัวมากตั้งแต่ปี 59 ใน จ.ชุมพร ยะลา และ นครศรีธรรมราช ทำให้ทุเรียนกลายเป็นพืชสำคัญของ จ.ชุมพร แทนปาล์มน้ำมันตั้งแต่ปี 65 โดยภาคใต้มีพื้นที่ปลูกทุเรียนเป็นอันดับ 1 ของประเทศ แต่ผลผลิตยังต่ำกว่าภาคกลางกว่าเท่าตัว
ราคาปาล์มน้ำมันสูงขึ้นตามราคาน้ำมันโลก ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้มูลค่าปาล์มน้ำมันมีสัดส่วนถึง 36% จาก 21% ในปี 58 และกลายเป็นพืชเกษตรหลักแทนยางพาราใน จ.สุราษฎร์ธานี
การเพาะเลี้ยงกุ้งมีสัดส่วนลดลง อยู่ที่ 7% จาก 10% ในปี 58 เนื่องจากมีความสามารถในการแข่งขันต่ำลง ตามต้นทุนและราคาที่สูงกว่าคู่แข่งโดยเฉพาะอินเดียและเวียดนาม
1
ผลผลิตสินค้าเกษตรหลักยังคงกระจุกตัวใน จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร สงขลา และกระบี่ เพราะผลผลิตส่วนใหญ่ใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปี จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวได้
และจากงานศึกษานี้ คาดว่าสาขาเกษตรของใต้ปี 66-67 จะขยายตัว
ปี 66 มูลค่าสาขาเกษตรจะเพิ่มขึ้นจากทุเรียนที่ยังมีความต้องการสูงจากตลาดจีน และยางพารา ขณะที่ปาล์มน้ำมันได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดในครึ่งหลัง ปี 66 และจะทำให้มูลค่า
ในปี 67 คาดว่าจะชะลอลง จากปาล์มน้ำมันเป็นสำคัญ ส่วนสินค้าเกษตรอื่นได้รับผลกระทบบ้าง อย่างไรก็ดี คาดว่าผลผลิตทุเรียนยังคงขยายตัวตามพื้นที่ปลูกที่เพิ่มขึ้น และความต้องการของจีนที่ยังมีต่อเนื่อง
2.2 เศรษฐกิจสาขาท่องเที่ยว : สาขาท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิดทั่วโลกใน ปี 63 - 64 และเริ่มกลับมาฟื้นตัวในปี 65 หลังการระบาดคลี่คลาย
จากข้อมูลล่าสุดปี 2565 โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ ด่านตรวจคนเข้าเมือง พบว่า
 
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยฟื้นตัว และกลับมามีสัดส่วนอยู่ที่ 32% ของปี 62
สัดส่วนรายได้หลักยังคงมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเหมือนก่อนโควิด และมากกว่านักท่องเที่ยวไทยกว่าเท่าตัว แม้จำนวนจะใกล้เคียงกัน โดยรายได้กว่า 50% กระจุกตัวใน จ.ภูเก็ต
นักท่องเที่ยวสัญชาติหลักที่สร้างรายได้สูงสุดให้ภาคใต้ ยังคงมาจากมาเลเซีย ยุโรป รัสเซีย ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวจีนเหลือเพียง 1% ในปี 65 ต่างจากก่อนโควิดที่เป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ให้กับภาคใต้มากที่สุด แม้จะมีจำนวนเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย
หลังโควิดนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเดินทางด้วยตนเองเป็นกลุ่มขนาดเล็กมากขึ้น โดยมีจำนวนวันพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายเฉลี่ยลดลง ตามกำลังซื้อที่แผ่วลงจากสถานการณ์โควิด
และจากงานศึกษานี้ คาดว่าจำนวนท่องเที่ยวของใต้จะฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงระดับก่อนโควิดในปี 67
โดยในปี 66 นักท่องเที่ยวมาเลเซียจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าสัญชาติอื่น และนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง
ในปี 67 ตามเที่ยวบินที่จะทยอยกลับสู่ระดับปกติ ขณะที่สัญชาติจีนคาดว่าฟื้นตัวช้ากว่าสัญชาติอื่นจากข้อจำกัดในการเดินทางออกนอกประเทศ
สำหรับสรุปลำดับเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจรายจังหวัดของภาคใต้ มีรายละเอียดดังนี้
ผู้เขียน : ภาวนิศร์ ชัววัลลี
อารียา ยวงทอง
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โฆษณา