12 ก.ย. 2023 เวลา 02:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ราคาที่ดิน อาจไม่ได้เพิ่มขึ้น เสมอไป

คนที่มีฐานะร่ำรวย แต่ไม่อยากเก็บทรัพย์สินเป็นเงินสด ก็มักจะเอาเงินไปลงทุนกับทองคำ หรือซื้อที่ดินเก็บไว้
เหตุผลก็เพราะสินทรัพย์เหล่านี้ไม่เสื่อมสภาพ และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา
แต่ความเชื่อนี้อาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ราคาที่ดินอาจไม่เพิ่มขึ้น หรือลดลง จนราคาถูกกว่าตอนซื้อมาเสียอีก
ทำไมที่ดิน อาจไม่ใช่สินทรัพย์ ที่เพิ่มความมั่งคั่งให้กับเรา ? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
สาเหตุที่ทำให้ราคาที่ดิน อาจไม่เติบโต หรือมีราคาลดลง เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ
1. แนวโน้มจำนวนประชากร ที่จะลดลง
สาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดแนวความคิดที่ว่า ราคาที่ดินมีแต่จะเพิ่มขึ้น เป็นเพราะที่ดินนั้นเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งสวนทางกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อของมีจำกัด แต่มีความต้องการเพิ่มขึ้น จึงทำให้ราคาของที่ดินนั้น มีแต่จะเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เราอาจจะต้องเปลี่ยนความคิดกับเรื่องนี้ใหม่ เพราะอีกหน่อยประชากรอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นอีกต่อไปแล้ว
เพราะเมื่อดูจาก อัตราภาวะเจริญพันธุ์ ที่จะบอกจำนวนบุตรต่อครอบครัวก็จะพบว่า จากแต่ก่อนที่คนไทยมีบุตรกันถึง 6 คนต่อ 1 ครอบครัว ในวันนี้เหลือเพียง 1.3 คนเท่านั้น
เท่ากับว่าชาย-หญิง 20 คน จะให้กำเนิดบุตร เพียง 13 คนเท่านั้น เพียงเท่านี้ก็น่าจะทำให้เราเห็นภาพแล้วว่า ในระยะยาวแล้ว จำนวนประชากรไทยจะลดลงเรื่อย ๆ
โดยจำนวนประชากรไทย ถูกคาดการณ์ไว้ดังนี้
1
ปี 2568 65.4 ล้านคน
ปี 2588 62.0 ล้านคน
ปี 2598 55.9 ล้านคน
จะเห็นว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรไทยจะลดลงถึง 10 ล้านคน
อาจดูเหมือนยังอีกนาน แต่อย่าลืมว่าในการซื้อที่ดินเพื่อการเก็งกำไร หรือเพื่อส่งต่อเป็นสมบัติให้ลูกหลาน เราก็มักจะเก็บที่ดินไว้เป็นเวลานานเช่นกัน
นอกเหนือจากเรื่องประชากรลดลง
ก็ยังมีเรื่องของการย้ายถิ่นฐานอีกด้วย
เพราะเมื่อดูจากสถิติการย้ายถิ่นของคนไทย จะพบว่า ในปี 2562 ก่อนหน้าที่จะเกิดการล็อกดาวน์ จนทำให้ผู้คนต้องเดินทางกลับภูมิลำเนากันนั้น
1
มีจำนวนคนไทยที่ย้ายถิ่น เข้ามาอยู่ในเขตเมืองมากกว่าคนที่ย้ายออกจากเขตเมืองไปอยู่นอกเมือง ถึง 2 เท่า
นั่นก็หมายความว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ พื้นที่ในเมืองก็จะถูกจับจองมากขึ้น
ในขณะที่พื้นที่นอกเมืองก็จะมีความต้องการลดลง และทำให้ราคาที่ดินลดลงไปด้วย
โดยเรื่องนี้ก็ได้มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงให้เห็นกันแล้ว นั่นก็คือ กรณีของบ้านร้างในประเทศญี่ปุ่น ที่มีบ้านร้างมากถึง 14% ของจำนวนบ้านทั้งหมดในประเทศ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 30% ภายใน 10 ปีข้างหน้า
สาเหตุก็มาจากความต้องการบ้านที่ลดลง จนทำให้ราคาบ้านลดลงตาม หรือไม่ก็ขายไม่ออก และกลายเป็นบ้านร้างในที่สุด
1
ซึ่งก็เป็นผลต่อเนื่อง มาจากจำนวนประชากรที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา เพราะคนรุ่นใหม่มีลูกกันน้อยลง รวมถึงมีการย้ายเข้าไปทำงานในตัวเมืองมากขึ้น
2. ภัยธรรมชาติที่เกิดบ่อยขึ้นกว่าแต่ก่อน
ภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อราคาที่ดินเป็นอย่างมาก เพราะคงไม่มีใครอยากเป็นเจ้าของที่ดิน ที่อยู่ในบริเวณที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดน้ำท่วม หรือดินถล่ม
แม้จะมีแนวความคิดที่ว่า ภัยธรรมชาติจะไม่ส่งผลต่อราคาที่ดินในระยะยาว เพราะไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นบ่อย ๆ
แต่ในตอนนี้ โลกของเราเกิดภัยธรรมชาติบ่อยขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก จากไม่ถึง 100 ครั้งต่อปี เมื่อ 50 ปีก่อน กลายเป็นไม่ต่ำกว่าปีละ 300 ครั้งในวันนี้
หรือเรียกได้ว่า มีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นแทบจะทุกวัน
2
และในช่วงปี 2543 ถึงปี 2552 ที่ผ่านมา ไทยเราก็เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติมากเป็นอันดับ 9 จากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก
และผลกระทบจากภัยธรรมชาตินี้เอง ก็เป็นสิ่งที่จะกดราคาที่ดินของเราให้ต่ำลง หรือเติบโตได้ช้า ยิ่งที่ดินของเราอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมากเท่าไร ก็หมายถึงราคาที่ดินที่จะยิ่งลดลงมากเท่านั้น
โดยตัวอย่างที่มีให้เห็นคือ สหรัฐอเมริกา ที่มีการสำรวจพบว่า บ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
จะมีราคาขายน้อยกว่าบ้านที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงประมาณ 7% และราคาขายจะน้อยลงเรื่อย ๆ ตามความกังวลของผู้ซื้อ
การลดลงของประชากร และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าแต่ก่อน 2 สิ่งนี้ คือสาเหตุที่ทำให้ความเชื่อที่ว่า ที่ดินมีแต่จะราคาเพิ่มขึ้น อาจไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป
และหากเราคิดจะลงทุน หรือซื้อที่ดินเก็บไว้สักแปลง
ก็ต้องคิดไว้เสมอว่า ไม่ใช่ที่ดินทุกแปลงที่ซื้อไว้ แล้วราคาจะเพิ่มขึ้น แต่ต้องมองหาที่ดินศักยภาพ หรือก็คือทำเลทองให้เจอ
1
อีกข้อคือ นอกจากเรื่องของราคาขายแล้ว ต้องดูว่าราคาที่เพิ่มขึ้น สามารถเอาชนะเงินเฟ้อในแต่ละปีได้หรือเปล่า
เพราะสุดท้ายแล้ว อาจเป็นการเสียเวลาและโอกาสไปเปล่า ๆ หากผลตอบแทนที่ได้ ไม่ได้เพิ่มความมั่งคั่งให้กับเราเลย..
โฆษณา