11 ก.ย. 2023 เวลา 12:43 • ไลฟ์สไตล์

แพะกับแกะ

เกษตรกรบ้านเราเลี้ยงแพะไว้รีดน้ำนมและขายเนื้อ ส่วนแกะซึ่งเป็นสัตว์เมืองหนาวถูกทำปศุสัตว์เพื่อขายเนื้อเป็นหลักเเละดูจะเริ่มทำกันเมื่อไม่นานนักเพราะเนื้อเเกะยังไม่ตีตลาดเมืองไทย   ส่วนเเพะนั้น เราน่าจะรู้จักเเพะกันมานานเพราะปีนักษัตรไทยมีปีมะเเมหรือปีเเพะอยู่ด้วย น่าจะมีมาตั้งแต่หรือก่อนได้ชื่อว่าเมืองสยาม
พอจะมีคำกล่าวที่เกี่ยวข้องกับสัตว์สองชนิดนี้อยู่บ้างเช่น เด็กเลี้ยงเเกะ เเกะดำ จับแพะชนแกะ  และจับแพะ  เป็นต้น  ผู้เขียนสงสัยว่าคำกล่าวเกี่ยวกับเเกะถือเป็นสำนวนไทยหรือคำพังเพยได้หรือเนื่องจากการจะถือว่าเป็นคำประเภทนี้ได้ต้องมีมาเเต่โบราณกาลเเล้วเเต่เเกะเริ่มเข้ามาเมืองไทยตั้งเเต่เมื่อไรกัน คำกล่าวเปรียบเปรยเกี่ยวกับเเกะเช่นแกะดำ ซึ่งหมายถึงคนที่มีพฤติกรรมผิดเเผก เเตกเเยก ไม่เข้าพวก น่าจะเป็นสำนวนฝรั่ง
อย่างไรก็ตาม มีคำกล่าวในภาษาไทยว่าจับเเพะชนเเกะ เเละคำว่าเเพะรับบาป เเต่เมื่อมีคำเปรียบเปรยอันใหม่ที่กล่าวถึงการจับคนร้ายหรือผู้ต้องหาผิดคนว่าจับเเพะ ก็ดูน่าจะเป็นถ้อยคำประสมเเบบย่อๆระหว่างคำว่า เเพะรับบาป กับ คำว่า จับเเพะชนเเกะ เพราะกล่าวถึง การเกิดเหตุการณ์รุนเเรงเเต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ก่อการเพราะมีความคลุมเครือ จึงสรุปความอะไรยังไม่ได้  เเต่มีการชิงกล่าวหาว่าใครเป็นผู้ต้องหา หรือคนร้าย จนเกิดความผิดพลาดขึ้นมาซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความคลุมเครือนั้น
นักศึกษาญี่ปุ่นคนหนึ่งอ่านข่าวภาษาไทยที่แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้วข้องใจ เนื้อความคือ โชเฟอร์ขับรถชนคนบาดเจ็บ ก็ขับหนีตามระเบียบ  เขาถามว่าการกระทำเช่นนี้เป็นกฏ เป็นธรรมเนียมหรือวิธีปฏิบัติในเวลาที่ได้ขับรถชนคนหรืออย่างไร คนไทยยอมรับพฤติกรรมนี้หรือ ผู้เขียนจึงนึกทบทวนความหมายของระเบียบว่า เป็นวิธีปฏิบัติที่สังคมยอมรับร่วมกัน เมื่อคนเขียนข่าวใช้สำนวนเรียกการกระทำที่ผิดกฏหมายว่าทำตามระเบียบ มันย่อมทำให้ผู้ที่ไม่เข้าใจภาษาไทยดีนักเข้าใจผิดได้
การเข้าใจผิดจากการอ่านข่าว นอกจากจะเกิดจากการความคลุมเครือจนสรุปความผิดเเล้ว ยังอาจเกิดจากการไม่เข้าใจสำนวนข่าวที่คนเขียนข่าวชอบใช้อีกด้วยซึ่งยังมีอีกเเน่นอน การเสพข่าวจึงพึงต้องใช้วิจารณญาณ
โฆษณา