11 ก.ย. 2023 เวลา 12:43 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

อาณาจักรเซลล์ 1 (ส่วนห่อหุ้มและภายใน) | Biology with JRItsme.

เวลาที่ใช้ในการอ่าน 5 นาที
เมื่อเรารู้จักเซลล์โดยคร่าว ๆ แล้ว วันนี้เราจะมาทำความรู้จักสิ่งที่อยู่ข้างในบ้าง ตอนที่ผมเรียนอยู่มัธยม 1-6 รวมถึง ป.ตรี ทุกวิชาที่เกี่ยวกับชีวะจะเริ่มต้นด้วยเซลล์กับสิ่งที่อยู่ภายในเสมอ (เรียกได้ว่าเรียนจนเบื่อเลยล่ะ...) จึงกล่าวได้ว่ามันเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากก่อนที่จะเข้าภาพรวมร่างกายสิ่งมีชีวิต
โดยนับตั้งแต่ตอนนี้ ผมจะใช้พรรณนาโวหารในการเปรียบเซลล์เสมือนอาณาจักรหนึ่ง (อย่างเกม Nino kuni, Ragnarok หรือใด ๆ) ที่รอบล้อมด้วยปราสาท ด้านในจะมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เฉพาะอย่างเพื่อให้อาณาจักรนี้อยู่รอดปลอดภัย
ผนังกับเยื่อหุ้มเซลล์ เป็นส่วนห่อหุ้มไซโตพลาสซึมเอาไว้ ที่มา: https://www.toppr.com/ask/question/if-a-plant-cell-is-covered-with-the-cell-wall-but-the-plasma-membrane-is/
เริ่มต้นด้วย “ส่วนห่อหุ้มเซลล์” [Cell covering] ตามชื่อเลย... มันเป็นส่วนที่อยู่นอกที่สุดเพื่อปกป้องภายใน กำหนดขนาดกับอาณาเขตไว้ ซึ่งนั่นจะเป็นหน้าที่สำคัญของ “เยื่อหุ้มเซลล์” [Cell membrane] อีกทั้งมันยังมีหน้าที่ในการขนส่งสารเข้า-ออกเซลล์ เปรียบได้กับด่านขนส่งสินค้าหรือด่านชายแดนนั่นเอง
เยื่อหุ้มเซลล์ที่ส่วนหัวชอบน้ำจะหันออกเพื่อเจอน้ำ กับส่วนหางที่ไม่ชอบน้ำ จะหันเข้ามาบรรจบกัน ที่มา: https://blog.cambridgecoaching.com/what-is-the-phospholipid-bilayer-and-what-determines-its-fluidity
โดยเยื่อหุ้มเซลล์นั้นจะประกอบไปด้วย “ฟอสโฟลิพิด 2 ชั้น” [Phospholipid bilayer] สังเกตได้ว่ามันจะมีหัวกับหาง โดยด้านหัวที่หันออกจากกันเป็นส่วนที่ชอบน้ำ [Hydrophilic] คือโดนน้ำได้ กับส่วนหางที่หันเข้าหากันเป็นส่วนไม่ชอบน้ำ [Hydrophobic] คือจะไม่โดนน้ำเด็ดขาด ด้วยลักษณะนี้ทำให้เยื่อหุ้มเซลล์มีคุณสมบัติเป็นเยื่อเลือกผ่าน [Selective permeable] นั่นคือสารที่มีขนาดเล็กกว่ารูพรุนของเยื่อหุ้มและละลายน้ำได้จะผ่านเข้าออกอาณาจักรเซลล์ได้
โครงสร้างผนังเซลล์แบบโมเซอิกโมเดล ที่มา: https://bio.libretexts.org/Bookshelves/Introductory_and_General_Biology/Book%3A_General_Biology_%28Boundless%29/05%3A_Structure_and_Function_of_Plasma_Membranes/5.02%3A_Components_and_Structure_-_Fluid_Mosaic_Model
นอกจากนี้ยังมีโปรตีนแทรกอยู่ระหว่างฟอสโฟลิพิด ทำหน้าที่ขนส่งสารขนาดใหญ่หรือละลายน้ำไม่ได้เข้าออกอาณาจักเซลล์ มีไกลโคโปรตีนกับไกลโคลิพิดยื่นออกจากเยื่อหุ้ม ใช้สำหรับติดต่อสื่อสารหรือส่งสัญญาณให้กับอาณาจักรเซลล์อื่น และคอเลสเตอรอลที่แทรกอยู่ระหว่างชั้นไม่ชอบน้ำของเยื่อหุ้ม เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นกับรักษาภาพเยื่อหุ้ม องค์ประกอบดังกล่าวจะจัดเรียงลักษณะเดียวกับรูปด้านบน เรียกว่า “โมเซอิกโมเดล” [Mosaic model] นั่นเอง
เซลล์ในแต่ละชนิด ที่มา: https://www.coursehero.com/sg/cell-biology/similarities-and-differences-among-cells/
บางอาณาจักรเซลล์อย่าง เซลล์พืช เห็ดรา และแบคทีเรียจะมี “ผนังเซลล์” [Cell wall] ที่ทำจากเซลลูโลส ไคติน หรือเปปทิโดไกลแคนตามลำดับ ทำหน้าที่เสริมความแข็งแกร่งและรักษารูปร่างเซลล์ให้คงตัว เปรียบเสมือนกำแพงประสาทคอนกรีตเสริมใยเหล็กกันเลยทีเดียว
ไซพลาสซึมคือบริเวณภายในเซลล์ทั้งหมดโดยไม่นับนิวเคลียส (พื้นที่สีชมพูรวมกับสีน้ำเงิน) ประกอบด้วยสารกึ่งแข็งกึ่งเหลวไซโตซอล (พื้นที่สีชมพูู) และออร์แกเนล (สีน้ำเงิน) ที่มา: https://sciencing.com/cytoplasm-definition-structure-function-with-diagram-13717294.html
และมันห่อหุ้มอะไรล่ะ? มันห่อหุ้มพื้นที่ด้านใน (ไม่นับนิวเคลียส) ที่เรียกว่า “ไซโตพลาสซึม” [Cytoplasm] ที่ประกอบด้วย 2 ส่วนได้แก่ ของกึ่งแข็งกึ่งเหลวคล้ายเยยลี่เรียกว่า “ไซโตซอล” [Cytosol] แสดงว่าภายในอาณาจักรเซลล์เป็นเยลลี่ที่จะมีอวัยวะของเซลล์หรือหน่วยงานต่าง ๆ ของอาณาจักรที่ทำหน้าที่เฉพาะอย่างว่า “ออร์แกเนล” [Organelle] นั่นเอง
ในตอนหน้า ผมจะพาทุกคนเข้าสู่อาณาจักรเซลล์เพื่อทำความรู้จักกับออร์แกเนลแต่ละชนิดกัน อย่าลืมติดตามเพจ Mr.BlackCatz. Academy ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจ เพื่อไม่พลาดเนื้อหาชีววิทยาฉบับคนทั่วไปเข้าใจง่ายนะครับ
ภาพปกเป็นภาพจำลองเซลล์เสมือนเมืองหนึ่ง ออกแบบโดย Ellie Shipman (อาจจะผิดธีมที่ผมเล่าเป็นแฟนตาซีจ๋า ๆ เลยล่ะ...)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา