Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กรุงเทพธุรกิจ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
12 ก.ย. 2023 เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ชำแหละ ‘โครงสร้างราคาน้ำมัน’ หากรัฐลดเพียง 1 บาท ต้องแลกกับอะไรบ้าง?
นโยบายลดน้ำมันของรัฐบาลเศรษฐา ต้องแลกกับต้นทุนอะไรบ้างที่ภาครัฐต้องเสียไป เพื่อกดราคาน้ำมันลง ซึ่งราคาน้ำมัน 1 ลิตรไม่ได้มีเพียงต้นทุนเนื้อน้ำมันอย่างเดียว แต่มาพร้อมต้นทุนอื่นอีกหลายประการ
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดย “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ประกาศดำเนินนโยบายเร่งด่วน คือ “ลดราคาน้ำมัน” เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ท่ามกลางราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการที่ซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย สองประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ขยายเวลาลดการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจไปจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งน้ำมันที่ทางภาครัฐจะช่วย คงหนีไม่พ้นน้ำมันดีเซลเป็นหลัก น้ำมันที่จำเป็นสำหรับรถกระบะ รถบรรทุก และรถประจำทาง
นโยบายใหม่นี้มีวิธีทำให้น้ำมันลงได้อย่างไร และต้องแลกกับต้นทุนอะไรบ้าง เพื่อทำให้ราคาน้ำมันลง
โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีก มีอะไรบ้าง
ทุกคนคงเคยสงสัยกันว่า ราคาน้ำมันขายปลีกตามแต่ละปั๊มในไทย มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมบางวันน้ำมันถูกลง และทำไมบางวันน้ำมันแพงขึ้น อะไรกำหนดราคาขึ้นลงนี้ การจะเข้าใจถึงที่มาที่ไป จำเป็นต้องรู้จัก “โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีก” ก่อน
จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน ราคาน้ำมัน 1 ลิตรที่ขายหน้าปั๊ม ประกอบด้วยต้นทุน 4 อย่างดังต่อไปนี้
1. ต้นทุนน้ำมันหน้าโรงกลั่น (40-60%) เป็นต้นทุนที่เกิดจากการนำเข้าน้ำมันของไทย และกลั่นในประเทศ พร้อมค่าขนส่ง ซึ่งราคาหน้าโรงกลั่นนี้อ้างอิงตามราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์
2. ภาษี 3 ประเภท (30-40%)
- ภาษีสรรพสามิต หรือในภาษาชาวบ้านคือ “ภาษีน้ำมัน” เป็นภาษีที่เก็บจากสินค้าฟุ่มเฟือยหรือปล่อยมลภาวะอย่างน้ำมัน อันเป็นรายได้สำคัญของรัฐบาล
- ภาษีเทศบาล เป็นภาษีที่เก็บโดยกระทรวงการคลัง และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อพัฒนาส่วนท้องถิ่น
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยจัดเก็บ 7% ของราคาขายส่งน้ำมัน และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมัน
3. กองทุน (5-20%)
- กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภาครัฐจัดเก็บเพื่อเป็น “กองทุนรักษาเสถียรภาพน้ำมัน” เปรียบเหมือนกระปุกออมสินพิเศษ เมื่อราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลงอย่างกรณีการระบาดโควิด-19 ผู้คนอยู่แต่ในบ้าน เงินในกระปุกนี้จะเพิ่มพูน แต่เมื่อใดน้ำมันตลาดโลกกลับมาเป็นขาขึ้น รัฐบาลก็จะแคะเงินกระปุกนี้ออกมาชดเชยส่วนต่าง เพื่อพยุงราคาน้ำมันในประเทศไม่ให้สูงเกินไป
- กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดเก็บเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทน และวิจัยด้านพลังงาน
4. ค่าการตลาด (10-18%) เป็นต้นทุนพร้อมกำไรของบริษัทปั๊มน้ำมันต่างๆ ที่มาจากต้นทุนบริหารคลังน้ำมัน ค่าขนส่งน้ำมันมายังปั๊ม ค่าจ้างพนักงานเติมน้ำมัน ค่าบริหารต่างๆ พร้อมส่วนกำไรของธุรกิจปั๊ม
ตัวอย่างการคำนวณราคาน้ำมันขายปลีก กรณีดีเซล B7 ของวันที่ 6 ก.ย.2566 ที่ราคา 31.94 บาท/ลิตร มีที่มาดังนี้
1. ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น 27.1803 บาท
2. ภาษีสรรพสามิต 5.9900 บาท
3. ภาษีเทศบาล 0.5990 บาท
4. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยอุดหนุน ทำให้ต้นทุนหักลบออก -5.5900 บาท
5. กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 0.0500 บาท
เมื่อนำทั้ง 5 รายการนี้รวมกันแล้ว จะกลายเป็น “ราคาขายส่งน้ำมัน” ที่ 28.2293 บาท/ลิตร
เท่านั้นยังไม่พอ ภาครัฐจะเพิ่มภาษี VAT 7% ของราคาขายส่งน้ำมัน ที่ 1.9761 บาทเข้ามาด้วย รวมเป็นทั้งหมด 30.2054 บาท/ลิตร
6. ค่าการตลาด 1.6211 บาท และรวมกับ VAT 7% ของค่าการตลาดอีกครั้งที่ 0.1135 เป็น 1.7346 บาท
ขั้นตอนสุดท้ายก็นำราคาขายส่งน้ำมันที่รวม VAT บวกกับค่าการตลาดที่รวม VAT กลายเป็น “ราคาขายปลีกน้ำมัน” ที่ 31.94 บาท/ลิตร
📌การตรึงราคาน้ำมัน มาพร้อมความเสี่ยง
“น้ำมัน” ถือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาขึ้นลงตามตลาดโลก โดยเฉพาะน้ำมันที่ไทยใช้ เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ต้นทุนเนื้อน้ำมันจึงเป็นส่วนที่รัฐควบคุมได้ยาก
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้คือ การปรับลดรายการภาษีต่างๆ โดยเฉพาะ “ภาษีสรรพสามิต” ซึ่ง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ข้อมูลถึงแนวทางการลดราคาน้ำมันว่า จะพิจารณาแต่ละรายจ่ายในโครงสร้างน้ำมันว่า สามารถปรับลดข้อใดได้บ้าง และเตรียมเปิดเสรีนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่ต้องมีค่าการกลั่นหรือค่าใช้จ่ายอื่น
ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า รัฐบาลสามารถลดราคาน้ำมันดีเซลได้ทันที โดยใช้กลไกการปรับลดภาษีสรรพสามิต
ทั้งนี้ จุลพันธ์ประเมินความเป็นไปได้ว่า จะเสนอให้มีการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 2 บาท จากปัจจุบันที่จัดเก็บภาษีลิตรละ 6 บาท เพื่อทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในท้องตลาดเหลือที่ไม่เกิน 30 บาทตามนโยบายของรัฐบาล
📌ลดภาษีสรรพสามิต ต้องแลกกับอะไร?
จุลพันธ์ ให้ความเห็นว่า “กรมสรรพสามิตมีการประเมินว่าในการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรทุก 1 บาท จะกระทบการจัดเก็บรายได้ภาษีของกรมฯ เดือนละ 2,000 ล้านบาท แต่หากมีการลดภาษีจริงลิตรละ 2 บาทก็จะทำให้มีรายได้หายไปเดือนละ 4,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นระดับที่กรมฯดูแลได้ และน้อยกว่ารัฐบาลชุดก่อนที่มีการปรับลดภาษีดีเซลถึงลิตรละ 5 บาท แต่จะลดกี่เดือนก็ต้องรอฟังจากฝ่ายนโยบายก่อน”
จะเห็นได้ว่า การลดภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากน้ำมันลง เพื่อลดราคาน้ำมัน ต้องแลกกับรายได้ของรัฐบาลที่ลดลงตามไปด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น การใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเข้าอุดหนุนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเงินภาษี สามารถพยุงราคาน้ำมันในระดับไม่สูงได้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไป งบประมาณการคลังที่ลดลงเรื่อยๆ อาจทำให้ภาครัฐลดการอุดหนุนน้ำมันต่อก็เป็นได้
หากเป็นการถอนคันเร่งเงินอุดหนุนที่เร็วเกินไป อาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งเร็วจนประชาชนไม่พอใจ กลายเป็นกระแสประท้วงคล้ายกับกรณีอินโดนีเซียเมื่อเดือนก.ย.2565 ที่รัฐบาลอินโดฯ ไม่เหลืองบประมาณอุดหนุนน้ำมันอีกแล้ว จึงต้องปล่อยราคาน้ำมันแพงขึ้น 30% ทันที สร้างความไม่พอใจจากประชาชนจำนวนมากและเกิดการประท้วงในหลายเมืองทั่วประเทศ
เพราะฉะนั้น “ทุกการอุดหนุนล้วนมีต้นทุนที่ต้องจ่าย” ไม่ว่าการลดภาษีที่แม้ทำให้ราคาน้ำมันลงได้ แต่ก็ลดรายได้ของรัฐลงด้วย และการใช้เงินกองทุนน้ำมันชดเชย ก็ทำให้งบประมาณรัฐน้อยลงตาม จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการนี้อย่างระมัดระวัง และไม่ยาวนานจนเกินไป
อีกทั้งควรเพิ่มการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ใช้ไฟฟ้าแทนน้ำมันให้แข่งขันจนราคาเข้าถึงได้ และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จรถ EV เพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นแผนสำรองในการรับมือวิกฤติพลังงานปัจจุบันนี้ได้นั่นเอง
อ้างอิง: offo, matichon, youtube, eppo, bangkokbiznews
https://www.offo.or.th/th/node/542
https://www.matichon.co.th/economy/news_4163557#google_vignette
https://www.youtube.com/watch?v=dWarxKsnSH4&t=6s
https://www.eppo.go.th/epposite/index.php/th/petroleum/price/structure-oil-price?orders[publishUp]=publishUp&issearch=1
https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1026248
8 บันทึก
21
1
14
8
21
1
14
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย