12 ก.ย. 2023 เวลา 04:00 • การเมือง

รัฐบาลเศรษฐา เข็น “นโยบายกัญชา” เชิงการแพทย์-เศรษฐกิจ ไม่หวนเป็น “ยาเสพติด"

มีการคาดการณ์ว่า ตลาดกัญชา เพื่อการแพทย์ทั่วโลก อาจมีมูลค่าสูงถึง 1.9-2.1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2025 หรือ ปี 2568 เทียบกรณีรัฐ แคลิฟอร์เนีย ที่อนุญาตเสพกัญชา เพื่อความบันเทิง หรือ สันทนาการ ก่อเกิด เงินสะพัดในอุตสาหกรรมกัญชาของสหรัฐฯ มากถึง 5,100 ล้านดอลลาร์ เมื่อช่วงปี 2018
โดยอุตสาหกรรมกัญชาถูกกฎหมาย ได้สร้างรายได้กว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ และสร้างงานกว่า 400,000 ตำแหน่งในสหรัฐฯ ส่งผลให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้ 4,000 ล้านดอลลาร์ ภายใน 3 ปีที่ผ่านมา
ขณะในแคนาดา ที่มีการอนุญาตให้นำกัญชามาใช้รักษาโรคได้ พบตลอด 20 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นธุรกิจใหญ่ที่นำรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศ มานานนับทศวรรษ
นี่จึงเป็นที่มา นำมาสู่การผลักดัน เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศไทย จาก “กัญชา” บัญชียาเสพติด สู่ “พืชเศรษฐกิจ” น่าจับตามอง ปลุกการลงทุนของผู้ประกอบการน้อยใหญ่
แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ แผนลงทุนดังกล่าว เป็นอันต้องหยุดชะงักค้างเติ่งไว้ โดย ผู้ประกอบการ ตั้งแต่ ฟาร์มกัญชา โรงงานผลิต ผลิตภัณฑ์จากกัญชา เรื่อยไปจนถึง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสายเขียว ต่างต้องรอความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ ว่า จะไป หรือ หยุดแค่นี้ สำหรับ “นโยบายกัญชาเสรี” ที่ถูกผลักดันออกมา จากรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
โดย มี “อนุทิน ชาญวีรกุล ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ณ ขณะนั้น) เป็นพ่องานใหญ่ ท่ามกลางข้อเรียกร้องของสังคม ให้นำ กัญชา กลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติด เหมือนเดิม และ ให้ใช้ได้แค่ในเชิงการแพทย์ ระบบปิดเท่านั้น
  • นโยบายกัญชา ไปต่อ?
ก่อนมีความชัดเจนวันนี้ ว่ารัฐบาลภายใต้ การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” จะมีการเดินหน้า นโยบายกัญชา ต่อไป แม้ไม่ได้มีการแถลงออกมาโดยตรงจากนายกฯ ในสภา แต่พบ เนื้อหาเกี่ยวกับ มีปรากฎอยู่ใน ชุดแถลงนโยบายของรัฐบาล หน้าที่ 11 ใจความระบุ ...
“การใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ และสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ”
ย้อนไป นโยบายกัญชา ถือเป็นนโยบายสำคัญของพรรคภูมิใจไทย ท่ามกลางกระแสต้านทางสังคม เพราะหลังจาก กัญชาถูกกฎหมาย หรือ ปลดล็อกกัญชา มีผลบังคับใช้ มาตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เปิดทาง ให้ ประชาชนสามารถปลูกกัญชาในครัวเรือนและเชิงพาณิชย์ได้ ส่วนการผลิต เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่าย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง และยาสมุนไพร ยังคงต้องขออนุญาต
พบเกิดปัญหา และช่องโหว่การใช้กัญชา นอกเหนือ ทางการแพทย์มากมาย กลายเป็นปัญหาทางสังคม ผลกระทบทางสุขภาพ ทั้งภาวะ แพ้กัญชา ช็อกเพราะพิษเฉียบพลัน เป็นที่ขยาดของเหล่าพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ต้องระแวงระวังมากขึ้น กับ อาหาร ขนมต่างๆ ที่ลักลอบใช้ส่วนผสมของกัญชา อีกทั้ง นโยบายดังกล่าว ถูกมอง ไม่ต่างจากการเปิดทางให้คนเสพเข้าถึงกัญชาได้อย่างเสรี
ขณะคนขายที่เคยอยู่ใต้ดิน ได้ขึ้นมาหายใจ แต่สิ่งที่ตามมานั่นคือ ตัวเลขผู้ป่วยจากกัญชาเพิ่มมากขึ้น เป็นภาระต่อ ระบบสาธารณสุขไทย โดยภาคประชาชน การศึกษา และ แพทย์บางส่วน ต่างเรียกร้องให้ นำกัญชา กลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดอีกครั้ง หรือ ไม่ ก็ต้องเร่งออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชา ใหม่เหมาะสมควบคู่กันไปด้วย เพื่อป้องกัน ผลเสีย มากกว่าผลดี
  • รองนายกฯ อนุทิน ยัน นโยบายกัญชา เพื่อการแพทย์ - เศรษฐกิจ เท่านั้น
ล่าสุด หลังกระแสข่าวแพร่สะพัดออกไป ว่าไส้ใน รัฐบาล จะเดินหน้านโยบายกัญชาต่อ ในวันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ย้ำว่า ... นโยบายต่างๆที่แถลงวันนี้ เป็นการเห็นชอบสรุปร่วมกันระหว่างพักร่วมรัฐบาลแล้ว พร้อมเน้นย้ำว่า...
“ เป็นนโยบายที่เขียนไว้ชัด ว่าใช้เพื่อการแพทย์ เศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมาก็ผลักดันไปทางนั้น แต่มีความพยายาม ทำให้สังคมเข้าใจผิด ว่าใช้ได้ ไม่มีการควบคุม เป็นการมอมเมา”
"เราจะผลักดันกฎหมายควบคุมดูแลการใช้เข้าสู่การพิจารณา"
ย้อนไป เมื่อครั้งหาเสียง “อนุทิน” ยืนยัน “กัญชา” มีประโยชน์ และหวังรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ รับรู้ข้อมูลรอบด้าน ก่อนพิจารณาดันกลับเป็นยาเสพติด
“ขอให้พิจารณาดูว่า ถ้าหากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องรายละเอียด จะส่งผลกระทบขนาดไหน ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ ผู้ที่ลงทุนไปแล้ว ผู้ที่ใช้กัญชาในการรักษาโรค อย่ามองที่เรื่องของคนที่ทำผิดกฎหมาย แล้วเหมารวมทั้งหมด เพราะกัญชา ยังมีประโยชน์อีกมาก ใครทำผิด ต้องไปควบคุม เรื่องกัญชามันคุยกันได้ ต่างก็มีจุดร่วมเดียวกันในเรื่องของการแพทย์ ที่นอกเหนือจากนั้น ก็ให้ออกกฎหมายมาตีกรอบ วางกฎการใช้ "
“อนุทิน” ย้ำว่า สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย ถือเป็นจุดแข็งที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้ สมุนไพรเชื่อมโยง การท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้เกษตรกร นำเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม และต่อยอดใช้ในระบบสุขภาพ อยากให้ประชาชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของการแพทย์แผนไทย ที่สามารถใช้ดูแลประชาชนได้เมื่อเจ็บป่วย และมีศักยภาพในการเติมเต็มในเรื่องของเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว
  • “กัญชา” จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจไทย ได้จริงหรือไม่?
เจาะในความเป็นไปได้ ของกัญชา ในเชิงเศรษฐกิจ มีโอกาสมากน้อยแค่ไหน อ้างอิง ข้อมูล จากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หลังปลดล็อก “กัญชา” ออกจากบัญชียาเสพติด มูลค่าตลาดกัญชา ในประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2567 แบ่งสัดส่วน เป็นมูลค่าในแง่ กัญชาทางการแพทย์ ราว 7 พันล้านบาท และ กัญชา เพื่อสันทนาการ 1.4 หมื่นล้านบาท
โดยตั้งแต่ 15 ธ.ค. 2563 ที่ภาครัฐได้ปลดล็อกกัญชาและกัญชงจากการเป็นยาเสพติดในหลายส่วน (ยกเว้นช่อดอก และเมล็ดกัญชา) ได้จุดกระแสความสนใจให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ทั้งฝั่งผู้บริโภคและผู้ผลิต นำมาสู่คำถามว่ากัญชาและกัญชง จะสามารถเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ได้หรือไม่
วิเคราะห์ ตลาดกัญชาถูกกฎหมายของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นส่วนผสมอยู่ในตำรับยาไทย หากคำนวณค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่ายาของผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระยะสุดท้าย หรือประคับประคอง (Palliative care) ซึ่งมีสัดส่วนราว60-80%ของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายทั้งหมด พบว่าจะอยู่ที่ประมาณ 6,000-8,000 ล้านบาทต่อปี ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ น่าจะมีส่วนแบ่งจากเม็ดเงินดังกล่าว ราว 3.6-7.2 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นทั้งในมิติเชิงเศรษฐศาสตร์และเชิงสังคมที่นับเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ผ่านกฎระเบียบ/ข้อตกลงต่างๆ ที่เข้มงวดและชัดเจน
โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องตลอด Supply chai ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกกัญชา ความรู้ความเข้าใจในการปลูก ราคา ความสามารถในการแข่งขันกับกัญชาหรือผลิตภัณฑ์จากกัญชาเพื่อการแพทย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ (ในกรณีที่มีการอนุญาตให้นำเข้าได้)
กลุ่มผู้ประกอบการ/นักลงทุน ที่จะต้องคำนึงถึงสิทธิบัตรกัญชา ความคุ้มค่าในการลงทุน ความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ การสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการรักษา ความปลอดภัยหรือผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในเชิงการแพทย์ ไม่นับรวมผลกระทบในเชิงสันทนาการ ที่ยังไม่ประเมินไม่ได้
ซึ่งเป็นคำถาม จนถึงขณะนี้ ว่า ภาครัฐจะตอบประเด็นเหล่านี้อย่างไร จากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้เราได้ผลดีจากการผลักดันกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์อย่างแท้จริง
  • จับตา เข็นต่อ พ.ร.บ.กัญชา
ทั้งนี้ สิ่งที่จะต้องจับตาหลังจากนี้ คงเป็น ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง ที่เคยค้างการพิจารณาไว้ โดยก่อนหน้า ได้เข้า สู่สภาผู้แทนราษฎรจนผ่านในขั้นตอนรับหลักการ นำไปพิจารณารายมาตรา โดยกรรมาธิการที่มาจากตัวแทนของทุกพรรคการเมืองแล้ว
แต่เมื่อกฎหมายดังกล่าว กลับเข้ามาเพื่อลงมติรายมาตรา ถูกคัดค้านจนพิจารณาไม่เสร็จทันก่อนยุบสภา ทำให้กฎหมายกัญชายังค้างอยู่ในระบบ หรือ อาจถูกตีตกไปแล้ว และรอให้รัฐบาลใหม่ยกขึ้นมานำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอีกครั้ง
ในนามพรรคที่เสนอกฎหมาย อย่างภูมิใจไทย ครั้งนั้น ยืนยันว่า พ.ร.บ.กัญชา จะเป็น “กฎหมายเพื่อควบคุมการใช้ ผลิต กัญชา กัญชง และสารสกัด” ขณะพรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ ต่างคัดค้าน และ มีความเห็น อยากให้นำ กัญชา กลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง เพราะหลักการเบื้องต้นของกฎหมาย หละหลวม ไม่รัดกุม
อย่างไรก็ดี พรรคภูมิใจไทย เคยประกาศไว้ ว่า กฎหมายอะไรที่คั่งค้างไว้ เมื่อเรากลับมาเข้าสู่สภาฯ จะเร่งเสนอเป็นกฎหมายต่อได้ทันที หรือถ้าเราเป็นรัฐบาลก็จะหยิบกฎหมายฉบับนี้ เสนอเข้าสู่สภาฯ แล้วพิจารณาอีกครั้ง โดยเมื่อตั้งรัฐบาลเสร็จ มีสภาฯ เรียบร้อย คาด ไม่เกิน 3 เดือน ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯจะออกมาเป็นกฎหมายได้ อย่างช้า เดือน ธ.ค.ปี 2566 คลอดแน่นอน ...
ติดตามรับชมข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่นี่👇
FB: Thairath Money 💰
โฆษณา