12 ก.ย. 2023 เวลา 05:35 • ความคิดเห็น

สามช่วงของธุรกิจของสองหนุ่มแห่งยุคสมัย

ในระยะเวลาเจ็ดปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสรู้จักหนุ่มนักธุรกิจสองคนที่เก่งมากๆ ได้เห็นพัฒนาการจากตอนเริ่มต้นจนกลายเป็นเจ้าของบริษัทใหญ่โต โต้คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ได้อย่างสุดยอด คนหนึ่งคือหนุ่มวัยสามสิบเอ็ดปีที่ชื่อคมสันต์ แซ่ลี ที่ปั้น flash express จากศูนย์ เล่นเกม start up จนกลายเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของไทยมูลค่าหลายหมื่นล้านและกำลังขยายไประดับภูมิภาคในตอนนี้
อีกคนก็คือ โบ๊ต พชร อารยะการกุล เจ้าของและซีอีโอบริษัทบลูบิค บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจและด้าน transformation ที่มีบริษัทระดับโลกมากมายเป็นคู่แข่ง โบ๊ตในวัยสามสิบห้า สร้างบลูบิคมาจากมีพนักงานแค่สองคนจนกลายเป็นบริษัทหมื่นล้าน มีพนักงานเป็นพันคนในเวลาเพียงเจ็ดปี ในธุรกิจที่ยากและโหดมากๆ เพราะต้องสู้กับที่ปรึกษาระดับโลกที่มีทั้งแบรนด์และคนเก่งๆ มากมาย แต่โบ๊ตก็ทำได้อย่างน่ามหัศจรรย์
โบ๊ตเพิ่งขึ้นเวทีงาน Secret sauce summit 2023 ของ the standard ไปเมื่อวาน เขาเล่าถึงการสร้างอาณาจักรหมื่นล้านของ bluebik ว่ามีอยู่สาม phase แต่ละช่วงเวลาก็จะใช้กลยุทธ์และการบริหารจัดการต่างกัน Phase แรกคือช่วงสามปีแรก เป็นช่วงที่เขาเรียกว่า survival phase เป็นช่วงเอาตัวรอด ทำอะไรก็ได้ให้รอด ไม่เลือกงานไม่ยากจน ต้องใช้กลยุทธ์ราคาเพราะยังสู้กับเจ้าใหญ่ไม่ได้ซึ่งก็ต้องทำตัวเองให้มีต้นทุนที่ต่ำไปด้วย บางอย่างก็ต้องทำฟรีไปก่อนเพื่อให้ได้งาน
พอตั้งหลักได้แล้วก็จะเข้ายุคที่ต้องสร้าง foundation ต้องสร้างระบบ สร้างประสิทธิภาพในด้าน operation เน้นหา productivity bottleneck วางระบบให้สามารถขยายตัวเองขึ้นมาได้ มีคนเก่งเข้ามาในระบบที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น และพอเริ่มมีระบบ เริ่มขยายงานได้ ก็เป็นช่วงของ growth ที่พาตัวเองเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือเพราะต้องสู้กับบริษัทระดับโลก และเริ่มขยายงานแบบก้าวกระโดดด้วยการซื้อกิจการที่มีอยู่แล้ว ทำไปคู่กับธุรกิจหลักเพิ่มเติม
2
โบ๊ทเล่าถึงสามช่วงเวลาที่เป้าหมายและการบริหารจัดการนั้นต่างกันมากคือช่วง survival foundation และ growth
ผมเคยคุยกับคมสันต์ เขาก็เล่าถึงสามช่วงของ flash express กว่าจะมาถึงบริษัทยูนิคอร์นว่า ช่วงแรกของเขาคือช่วงอันธพาล ทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด อะไรก็ได้ไม่ผิดกฎหมายทำหมด ส่งคนไปยืนหน้าร้านคู่แข่งเพื่อดึงลูกค้าดื้อๆ ก็ทำมาแล้ว พออยู่รอดได้ก็จะเข้าสู่ช่วงจัดระเบียบ
คมสันต์บอกว่าจากยุคอันธพาลสู่จัดระเบียบนั้น เขาต้องเอาคนออกไปเยอะมากเพราะคนยุคแรกนั้นมีทั้งนักเลง ทั้งเอาญาติพี่น้องมาทำงาน มีนอกมีในสารพัด แต่ต้องหลับตาข้างหนึ่งเพื่อให้บริษัทรอด พอเข้ายุคจัดระเบียบ ยุคที่ต้องวัดได้โปร่งใสเพื่อโตต่อ คนเดิมก็แทบจะต้องออกกันหมดเพราะปรับเข้ากับยุคต่อไปไม่ได้
ส่วนยุคสาม เป็นยุคที่ flash express เติบใหญ่ ต้องรับคนเก่งๆ มีความสามารถเข้ามามากเพื่อขยายงานสู่ภูมิภาค คมสันต์เรียกยุคนี้ว่าเป็นยุค culture ต้องสร้างความเชื่อ ความคิดและวิธีการทำงานที่คล้ายๆ กันของคนในองค์กรให้ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก ซึ่งคมสันต์บอกว่าเพิ่งเริ่มต้น แต่จำเป็นมากๆสำหรับการขยายงานไปพื้นที่ต่างๆและธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ
คมสันต์สรุปไว้ถึงสามช่วงเวลาที่เป้าหมายและการบริหารจัดการนั้นต่างกันมาก ก็คือช่วงอันธพาล จัดระเบียบ และ culture
1
คนหนุ่มแห่งยุคสมัยทั้งสองเป็นสองคนในไม่รู้กี่ร้อยกี่พันคนที่รอดมาจนเติบใหญ่ได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การปรับตัวของทั้งคู่แม้จะใช้ภาษาต่างกันแต่ก็มีความละม้ายคล้ายกันของสามช่วงของการเติบโต ถ้าจะเรียนรู้จากทั้งสองคนความเข้าใจถึงแต่ละ stage ของธุรกิจและการกล้าปรับเปลี่ยนวิธีการให้เข้ากับแต่ละ stage จึงน่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเล็กๆสามารถเติบใหญ่ขึ้นมาได้
1
และเท่าที่รู้จักทั้งคู่ หัวใจที่สำคัญที่สุดที่ทั้งคู่มีคือการรู้จักบริหารตัวเองไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจในแต่ละช่วงเวลา รู้จักตั้งคำถามว่าตัวเองเป็นปัญหาหรืออุปสรรคต่อองค์กรหรือไม่ รู้จักปรับตัวเองจากการทำทุกอย่างเองให้กลายเป็นโค้ช จากคนที่คิดอยู่ในหัวให้กลายเป็นผู้นำที่ inspire คนได้
รู้จักเรื่อง survivorship bias ไม่หลงไปกับความสำเร็จแต่หมั่นสำรวจตัวเองว่าต้องเปลี่ยนอะไรหรือไม่ เป็นคอขวดของธุรกิจและทีมรึเปล่า ในแต่ละ stage บทบาทของผู้นำก็จะต่างกันไป ถ้าเรายังเป็นคนเดิมอยู่ บทบาทที่เปลี่ยนก็คือตัวเราเองต้องเปลี่ยนก่อนคนแรก
ทุกคนอยากเปลี่ยนโลก อยากเติบโต แต่เปลี่ยนตัวเองนั้นยากที่สุดละครับ แต่ถ้าเปลี่ยนได้ก็จะ unlock ธุรกิจเพื่อโตต่อในระดับต่อไปได้เช่นกัน
โฆษณา