14 ก.ย. 2023 เวลา 03:00 • การศึกษา

จ่ายเงินเดือนแบบเดือนละ 2 ครั้ง จะมีผลอะไรกับพฤติกรรมการใช้เงินของคนเราไหม?

เพื่อนๆเคยได้ยินทฤษฎี Permanent Income Hypothesis (PIH) ของ Milton Friedman ไหมครับ?
ทฤษฎี PIH บอกกับเราว่าพฤติกรรมการใช้เงินของคนเรานั้นจะอยู่ในระดับที่คงเส้นคงว่ากับความคาดหวังหรือค่าเฉลี่ยของรายได้ระยะยาวของคนเรา
ยกตัวอย่างเช่น คนที่กำลังจะเรียนจบ MBA อาจจะยังไม่มีรายได้เยอะในขณะนั้น แต่เขาอาจจะมีพฤติกรรมการใช้เงินเยอะมากกว่ารายได้ที่เขามี เพราะว่าเขาทราบดีว่าเดี๋ยวพอเขาเรียนจบ MBA แล้ว รายได้ของเขาก็จะดีขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่นี้เยอะ
พูดอีกอย่างก็คือพฤติกรรมการใช้เงิน (หรือออมเงิน) ของเราจะขึ้นอยู่กับความคาดหวังในเรื่องของรายได้ระยะยาว หรือ permanent income ของเรา
ถ้าเราคิดว่าความคาดหวังในเรื่องของรายได้ระยะยาวของเราจะเยอะ เราก็จะอาจจะใช้เยอะกว่าถ้าเราคิดว่าความคาดหวังในเรื่องของรายได้ระยะยาวของเราจะน้อย และถ้าเงินเดือนของเราในวันนี้มันมากกว่าความคาดหวังของรายได้ระยะยาวของเรา PIH บอกกับเราว่าเราจะออมมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเพื่อที่จะป้องกันโอกาสที่ความคาดหวังของรายได้ระยะยาวของเราจะตกได้ในอนาคต
สรุปคือ PIH บอกกับเราว่าถึงแม้ว่าวันนี้รายได้ของเราจะขึ้น แต่พฤติกรรมการใช้เงินของเราก็อาจจะไม่ขึ้นตามก็ได้
แล้ว PIH มันเกี่ยวข้องอะไรกับการเปลี่ยนไปจ่ายเงินเดือนแบบเดือนละ 2 ครั้งแทนเดือนละครั้งเดียว
อย่างแรกเลย ถ้า PIH ของ Friedman นั้นเป็นข้อสันนิษฐานที่ถูกต้อง
การเปลี่ยนไปจ่ายเงินเดือนแบบเดือนละ 2 ครั้งแทนเดือนละครั้งเดียวจะไม่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้เงินของคนเลย เหตุผลก็เพราะ
1) คาดหวังของรายได้ระยะยาวของคนไม่ได้เปลี่ยนตามความถี่ของเงินเดือน
2) เราได้นำข้อมูลนี้เข้าไปรวมเป็นปัจจัยความคาดหวังของรายได้ระยะยาวของตัวเองไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อันนี้เราตั้งข้อสันนิษฐานว่าคนเราส่วนใหญ่มีเหตุมีผลนะครับ
แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าคนเราไม่ได้มีเหตุมีผลเหมือนในโมเดลของเศรษฐศาสตร์เสมอไป
การเปลี่ยนไปจ่ายเงินเดือนแบบเดือนละ 2 ครั้งแทนเดือนละครั้งเดียวก็อาจจะสร้างปรากฎการณ์ที่คล้ายๆกันกับภาพลวงตามทางการเงิน (money illusion) ซึ่งก็คือคนเราอาจจะเข้าใจผิดถึงค่าของรายได้จริงๆ หรือ real income ที่ตัวเองมี เพราะการเพิ่มความถี่ของการรับอาจจะทำให้เขาเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองมีเงินมากกว่าตอนที่รับเงินเดือนเพียงแค่เดือนละครั้ง
ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราก็อาจจะเห็นการขยับเพิ่มขึ้นของอัตราการบริโภคของคนในช่วงแรกๆ แต่ผมเชื่อว่า ไม่นานนัก ทุกๆคนก็จะเริ่มปรับความคาดหวังของตัวเองในเรื่องของความคาดหวังในเรื่องของรายได้ระยะยาวและสรุปว่ามันไม่ได้แตกต่างจากแต่ก่อนเลย ซึ่งก็จะทำให้พฤติกรรมการใช้เงินของเขาเบนกลับมาเป็นเหมือนกับตอนที่ได้รับเงินเดือนเพียงเดือนละครั้ง
สรุปง่ายๆก็คือการเปลี่ยนไปจ่ายเงินเดือนแบบเดือนละ 2 ครั้งแทนเดือนละครั้งเดียวไม่น่าจะมีผลระยะยาวอะไรเลยต่อพฤติกรรมการใช้เงินของคนครับ
==========
ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี (เพจ : https://www.facebook.com/TransparentlyUselessAdvice/)
ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัย Nanyang Technological University, Singapore
==========
#aomMONEY #มนุษย์เงินเดือน #เงินเดือน #การเงิน #จิตวิทยา #PsychologyofMoney
โฆษณา